หากเพียงผลลัพธ์จากพยายามของคุณคือความล้มเหลว คุณก็แค่ลาดถอยจากเส้นเวลาแห่งความล้มเหลวอันเกิดจากตัวคุณ ถอยหนีไปในอีกเส้นเวลาใหม่ อันมาพร้อมความคาดหวังจากประชาชนนับหลายหลักชีวิต ไม่ต่างจากเส้นเวลาก่อนที่คุณเคยให้ความหวัง ว่าคุณคือทางออกของการดำรงชีวิตอยู่ และแน่นอน ถ้าผลลัพธ์ยังคงออกมาในรูปแบบเดิม เราก็จะบอกกับคุณคำเดิมว่า “คุณก็แค่ลาดถอยออกมาจากเส้นเวลานั้นสิ มันง่ายนิดเดียว“
Into The Breach เป็นเกม Turn-Based Strategy และ Rogue-like โดยให้ผู้เล่นรับบทเป็นนักเดินทางข้ามเวลาหรือที่ในเกมเรียกเราว่า Time Traveler ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือปราบสิ่งมีชีวิตลึกลับ นามว่า Vek
ในส่วนของระบบเกม ผู้เล่นจะได้บังคับหุ่น 3 ตัว ซึ่งมีสกิลที่แตกต่างกันไป เริ่มต้น ผู้เล่นจะได้เลือกช่อง (tile) เพื่อปล่อยหุ่นลงสู่ภาคพื้นสนามรบขนาด 8×8 โดยเกมใช้ระบบ turn order นั้นก็คือเมื่อถึงตาของฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะได้ทำ action กับ unit ทุกตัวที่ฝ่ายนั้นมี เมื่อจบตา ก็สลับฝ่ายเพื่อทำ action ต่อไปจนกว่าจะหมด turn ที่ตัวเกมกำหนดมาให้ว่าให้เล่นกี่ turn ในกระดานนั่น ๆ ภารกิจหลักก็คือจบกระดานนั้น โดยไม่ถูก Vek ทำลายตึกรามบ้านช่องจนค่าพลังไฟฟ้าของเราหมด อีกทั้งเกมจะมีภารกิจย่อยมาให้ผู้เล่นทำ หากทำสำเร็จ จะได้ของรางวัล เช่น ทำภารกิจปกป้องโรงไฟฟ้า หากสำเร็จ จะมอบขีดไฟฟ้าซึ่งเป็น life point โดยขีดไฟฟ้าจะหายไป จากการโดนเหล่า Vek ทำลายตึก หรือภารกิจปกป้องรถไฟขนส่ง ถ้าทำสำเร็จ จะได้แต้มดาวมาใช้ซื้อของอัพเกรดเมื่อเล่นจบในแต่ละเกาะ
จุดเด่นที่เป็นแก่นหลักของเกมนี้คือระบบการผลักและระบบ cooldown การโจมตีของเหล่า Vek
กล่าวถึงส่วนของระบบการผลัก เราสามารถใช้สกิลการโจมตีของหุ่นแต่ละตัว ผลักหรือดึงตัว Vek ไปยังช่องอื่น ๆ ได้
ส่วนระบบ cooldown การโจมตีของเหล่า Vek คือ Vek จะทำการเล็งการโจมตี โดยใช้ action จำนวน 1 turn และจะโจมตีใน turn ถัดไป แตกต่างกับฝ่ายเราที่จะโจมตีใน turn เราเลย ไม่ต้องรอ cooldown
เมื่อสองระบบข้างต้นผสมกันแล้ว อันทำให้ Into The Breach มีความเป็น Puzzle ผละหนีจากทิศทางแสนซ้ำซากของเกม Strategy อื่นในตลาด เนื่องจากจากสองระบบข้างต้น ทำให้เราสามารถผลักให้พวกมันไปโจมตีกันเอง ผลักให้โจมตีไม่โดนบ้านเมืองของเหล่าประชาชน ผลักไปตกน้ำ ผลักไปชนกันเอง ผลักไปชนภูเขา ผลักให้โดนภัยธรรมชาติลงทัณฑ์ หรืออะไรก็ตามที่ผู้เล่นจะสรรหาวิธีการฆ่าได้ ซึ่งเป็นการนำแนวคิดปฏิกิริยาลูกโซ่มาใช้ในเกมแนวนี้ได้อย่างน่าสนใจ หากให้นึกภาพโดยง่าย ก็คงจะบอกว่าเหมือนได้นั่งเล่นเกมเรียงตัวเลข (15 Puzzle) ก็มิปาน ซึ่งการผลักแต่ละครั้ง ก็ต้องใช้กระบวนการคิดตั้งแต่ระดับระยะเวลาของการต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปจนถึงการต้มกระดูกเล้งให้เปื่อยซะฉิบ
นอกจากนั้น อีกหนึ่งจุดเด่นของเกมคือความสมดุลและรูปแบบการเล่นที่หลากหลายของหุ่น และเหล่า Vek หุ่นแต่ละชุดมีจำนวน 3 ตัว ซึ่งแต่ละชุดก็มีรูปแบบการเล่นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในเกมมีหุ่นจำนวน 8 ชุด เราสามารถปลดได้จากการนำเหรียญที่ได้มาจากการทำ achievement ที่ถูกกำหนดไว้ในหุ่นแต่ละชุดมาซื้อหุ่นชุดใหม่ ๆ นอกจากนั้นเราสามารถนำหุ่นที่ปลดได้ มาผสมกันเป็นชุดหุ่นของเราเอง สร้างรูปแบบการเล่นให้หลากหลายขั้นไปอีกขั้น ส่วนเหล่า Vek ก็มีรูปแบบการโจมตี รูปแบบการเดินที่แน่นอนและอยู่ในขั้นที่รับได้ ไม่ RNG ขนาดหนัก ซึ่งหุ่นและ Vek ก็มีการแพ้ทางและความได้เปรียบที่สมดุล เหมือนมานั่งเล่นหมากรุกเลยทีเดียว
ในความเป็น Rogue-like ของเกมนี้คือ หากสูญเสียปริมาณไฟฟ้าทั้งหมด ต้องเริ่มเล่นใหม่สถานเดียวเท่านั้น กฎแห่งการอยู่รอดคือจำนวนปริมาณไฟฟ้าผู้เล่นที่มี จำนวนไฟฟ้าคือบ้านเมืองของประชาชนในการเล่นแต่ละกระดาน หากโดนทำลาย จำนวนไฟฟ้าของเราก็ลดตาม ถ้าจำนวนไฟฟ้าหมด เกมจบทันที และผู้เล่นต้องเล่นใหม่โดยในเกมคือการย้ายหนีไปอีกเส้นเวลา ซึ่งจะสูญเสียการอัพเกรดหุ่นในเส้นเวลาก่อนหน้า แต่ตัวหุ่นที่เราปลดยังคงอยู่ถาวร
ในจุดที่ผู้เล่นรู้ว่า เราไม่สามารถยื้อจำนวนไฟฟ้าทั้งหมดได้อย่างแน่นอน เราไม่จำต้องรอให้ปริมาณไฟฟ้าหมดเพื่อจบเกม เราสามารถเลือกที่จะชิงลาดถอยจากเส้นเวลานั้นได้ก่อน และเกมให้เลือกคนขับหุ่นติดตัวไปยังการเล่นครั้งใหม่ จำนวน 1 คน (เฉพาะคนที่ยังไม่โดน Vek อัดจนหมอบ) โดยยังคงค่าประสบการณ์ และสกิลของคนขับหุ่นยังอยู่ครบถ้วน
ถ้ากรณีที่หุ่นโดนทำลายหมด ภารกิจจะล้มเหลวและถูกถอดออกจากด่านนั้นทันที แต่ถ้าหากจำนวนไฟฟ้ายังไม่ถูกทำลายจนหมด ก็ยังสามารถเล่นด่านอื่นต่อไปได้ เพียงแต่เราจะสูญเสียนักขับหุ่นจนหมด ทำให้เราขาดสกิลพิเศษที่ติดตัวมาแต่ละคนขับเท่านั้น
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ เกมจะไต่ระดับความยากตามปริมาณด่านที่เราได้เล่นและตามจำนวนการอัพเกรดของหุ่นที่เรา ในช่วงแรก เกมจะนำรูปแบบด่าน รวมไปถึงประเภทศัตรูและการเดินของศัตรูที่เข้ากับรูปแบบการเล่นของหุ่นที่เราเลือก ยิ่งเราผ่านด่านเยอะขึ้น เกมจะเริ่มนำรูปแบบด่าน ประเภทศัตรูและการเดินของศัตรูที่มาแก้ทางกับรูปแบบการเล่นของหุ่นของเรา ส่งผลให้เราต้องระดมความคิดให้เฉียบยิ่งขึ้น และคมยิ่งขึ้นไปอีกขั้น
โดยเกมมีความแตกต่างจาก Rogue-like อื่น คือ เกมไม่ได้สุ่มรูปแบบด่านและสุ่มศัตรูอย่างที่เราประสบกันใน Rogue-like อื่น เมื่อเล่นไปสักพัก เราจะทราบได้ว่าตัว รูปแบบของแต่ละด่านจะผ่านการออกแบบมาอย่างดี มีรูปแบบที่เข้ากันหรือขัดกันกับรูปแบบของหุ่นที่เราเลือก รวมไปถึงการเคลื่อนที่ของศัตรู
เนื้อเรื่องของ Into The Breach นำเสนอในรูปแบบแนวคิด Moral Dilemma หรือ ‘ทางแยกของศีลธรรม’ ผ่านทางระบบของเกมและบทสนทนาเล็ก ๆ ได้อย่างแนบเนียน หากการที่คุณเป็นผู้เดินทางฝ่ากฏแห่งกาลเวลา การลาดถอยออกมาจากเส้นเวลาที่คุณได้ก่อความฉิบหายไว้ แล้วผู้คนในเส้นแบ่งเวลานั้นจะรู้สึกเช่นไรกับความหวังของพวกเขาที่จากหายไปผ่าน ‘รอยแยก’ ของกฎแห่งกาลเวลา สิ่งที่เราได้เคยบอกคุณไว้ว่า “คุณก็แค่ลาดถอยออกมาจากเส้นเวลานั้นสิ มันง่ายนิดเดียว” หากการกระทำในรูปแบบนั้น มันคือการ ‘เอาตัวรอด’ หรือ ‘การหนีปัญหา’ กันแน่? ถึงแม้ว่าคุณสามารถกำจัดเล่า Vek ได้สักหนึ่งครั้ง แล้วผลลัพธ์แห่งความล้มเหลวจากพยายามของคุณ อีก สิบ ร้อย พัน เส้นเวลา ที่คุณฝากเอาไว้ในเส้นแบ่งเวลาเบื้องหลังที่คุณจากมา
คุณจักรับผิดชอบกับมันเช่นไร?
Discover เพราะโลกนี้มีเกมออกมามากมายจนเราเล่นแทบไม่ไหว และเราก็อาจพลาดเกมดีๆที่ไม่มีใครพูดถึงไป ติดตามเรื่องราวของเกมดีที่หลายคนอาจไม่รู้จักได้เป็นประจำที่ GAMERISM.CO