Sekiro: Shadows Die Twice และชายชุดเกราะ จดหมายรักสู่ศักราชใหม่ของ FromSoftware

หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ใช่การรีวิวตัวเกม Sekiro: Shadows Die Twice
หมายเหตุ 2: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเกม

“โรเบิร์ตตตตตตตตตตต” เสียงคร่ำครวญจากอัศวินชุดเกราะหนักสีสันแสบซ่าสะท้อนตา เสียงของเขา ระงมไปทั่วท้องถิ่น ณ ย่านวัดใจกลางป่าใหญ่ ร่างที่พร้อมไปด้วยชุดเกราะ ร่วงหล่นสู่หุบเหว ไร้ทางหวนคืน ชายชุดเกราะนับเป็นอีกหนึ่งในหลายสีสันที่เราจะพบได้ในเกมนี้ แต่หากมองลงไปให้ลึกกว่า ผ่านม่านผ้าอันคลุมเปลือกนอกที่ฉาบไปด้วยความน่าฉงน แปลกใจ และขำขันแล้วนั้น มันมีอะไรซ่อนอย่างแนบชิด อาจเป็นถ้อยแถลงที่แจ้งจาก FromSoftware ให้พวกเราได้ทราบอย่างทั่วถึงกันว่า “นี้คือยุคใหม่ของพวกเขาแล้วละ”

“อาว เป็ด เอาไปอ่านนะ บทความนี้น่าสนใจ อุทิศแด่โรเบิร์ตตตตตตตตตตต” รุ่นพี่ที่เคารพของผู้เขียนได้ส่งบทความที่น่าสนใจมาให้ นั่นก็คือ This boss in Sekiro is an armoured metaphor บทความดังกล่าวทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักรู้ว่า ชายชุดเกราะ ผ่านกระบวนการพินิจอย่างหนักอึ้งพอควร เป็นการส่งสารมายัง Soulsborne veteran แสบใช่ย่อย

โรเบิร์ตแก่เรา

sekiro-armored-warrior-1
ภาพจาก: คุณ Hirun Cryer/USG

เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน สกัดนำสารออกจากการถูกแฝงแอบไว้ สิ่งผู้เขียนได้รับ ล้วนมาจากทั้งการออกแบบตัวละครผสานเข้ากับรูปแบบของเกมการเล่นระหว่างผู้เล่น – ชายชุดเกราะท่ามกลางรูปแบบของ Sekiro: Shadows Die Twice ปะทะกับรูปแบบของ Souls series ที่แฝงไปด้วยนัยที่น่าสนใจไม่น้อย

ในสิ่งแรกที่ทำให้เราเชื่อว่า ชายชุดเกราะคือการ ‘อุปมา’ (metaphor) ถึง Souls series การออกแบบตัวละครที่ใช้เป็นนักรบสวมชุดเกราะเหล็กในคราบของอัศวินยุคกลาง ซึ่งมันเป็นดั่งสัญลักษณ์ในเอกลักษณ์ของ Souls series ที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าดาบปักชิดเชื้อในเปลวเพลิงอันโชติช่วง เรียกได้ว่าการประสบเพียงสัมผัสแรก เหล่า Soulsborne veteran ต้องมีเผลอหลุดขำกันบ้างสิน่า

ผสานกับ แก่นหลักสำคัญการเล่นของ Sekiro เท่าที่ผู้เขียนลิ้มลองมาสักพักใหญ่ อาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่าตกผลึก แต่ก็พอมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง รูปแบบการเล่นมักจะเน้นหนักไปในทางการ ‘ลุยดะ/ฉะป้อง’ นั่นก็คือการพยายามเข้าลุยดุจว่าวันนี้เป็นวันสิ้นโลกก็มิปาน แต่ก็ไม่ละทิ้งการฉะดาบปัดป้องกันตนเองในเวลาเดียวกัน ‘เปลี่ยนรุกสลับรับกลับไปทันใจนึก’ แต่เดี๋ยวก่อน เหตุใดใยเราสร้างความเสียหายกับมนุษย์ชุดเกราะไม่ได้ละ ก็ฟันเข้าไปสิ หาอุปกรณ์ที่สามารถเพิ่มค่าตั้งรับของให้ล้นปรี่ แล้วกะซวกซอกคอมันให้ดับดิ้น เอ๊ะ แต่กลับกันถ้าเราลองมองย้อน หวนไปช่วงเวลาที่เราได้เล่น Souls series ละ รูปแบบการเล่นมักเป็นการเน้นจับจังหวะการรุกรับมากกว่าใช่ไหม ถือเป็นการยืนอยู่คนละจุดสุดขอบแต่ละฟากฝั่ง โดยอีกฝั่งพยายามค้นหาความ ‘ใหม่’ ผละตัวเองออกมาจากอีกฝั่งผู้มาก่อนก็พยายามคงความ ‘เก๋า’ อย่างไม่ลดละ

ช่องว่างแห่งยุค

Sekiro Story

ในทางเรา ตัวผู้เล่นที่เป็นผู้ควบคุมหมาป่าอมรณาตนนี้ ถือว่าเป็นตัวแทนของรูปแบบการเล่นของ Sekiro ด้วยความรวดเร็ว เฉียบขาด เฉียบคม กลับกันในทางมนุษย์ชุดเกราะที่จะดูเชื่องช้า หนักแน่น รุนแรง ผิดแปลกไปกับรูปแบบการเล่นใน Sekiro ดูเหมือนจะเป็นแนวทางในอีกเกมมากกว่า เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของฝั่ง Souls series การได้เห็นตัวแทนของทั้งสองฟากฝั่งเข้ามาประจันหน้า ฆ่าไม่ยั้ง สามารถกล่าวได้ว่านี้คือการ ‘ปะทะ’ ของยุคสมัย ระหว่างความ ‘ใหม่’-‘เก๋า’ ในการปะทะนั้นย่อมมีความไม่พ้องต้องกัน

ความขัดแย้งอันเกิดมาจากช่องว่างของการปะทะ ช่องว่างดังกล่าว ที่เราพึงเรียกว่า ‘generation gap’ สะท้อนออกมาในรูปแบบการเล่นของทั้งสองเกมจากตัวแทนทั้งสองฝั่ง ด้วยสิ่งแวดล้อมที่คนทั้งสองยุคมีความแตกต่างกัน หล่อหลอมความคิด มุมมอง ให้ออกมาแตกต่างอย่างสุดขั้ว หาก Souls series คือความเป็นอนุรักษนิยม การคงไว้ซึ่งรูปแบบการเล่นยุคเก่า ผ่านการกรอก กลั่น ขัดเกลาด้วยปัจจัยแห่งการเวลากับประสบการณ์ จนออกมา ‘เก๋า’ อย่างทุกวันนี้ ส่วน Sekiro คือความเป็นเสรีนิยม รูปแบบการเล่นล้วนตั้งบนความเสมอภาค เท่าเทียม โลดโผนอย่างอิสระ ดัดจริตหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะต้องมาเดือดร้อนแทน ด้วยปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างของทั้งสองเกม เราจึงได้เห็นผลพวงอันเกิดจากการปะทะอยู่เนือง ๆ อย่างการตบตีระหว่าง Soulsborne veteran กับ Sekiro เรามักเห็นพวกเขาพูดถึงความ ‘ใหม่’ ใน Sekiro และที่ชัดที่สุดคือ ปัญหาการปรับตัวจากความ ‘คุ้นชิน’ ของ Soulsborne veteran ซึ่งนั้นก็เป็นหนึ่งในปัญหาหลักของช่องว่างระหว่างยุค การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ผิดแปลกจากความคุ้นชินของตน ความไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลง ไม่โอบรับสิ่งใหม่เพียงเพราะไม่ใช่สิ่งที่ตนเคยชิน

การเปลี่ยนผ่าน

การต่อสู้แห่งยุคผ่านไปด้วยความดุเดือด ต่างฝ่ายต่างสลับกันสั่งสอนอีกฝั่ง แต่ท้ายที่สุด “โรเบิร์ตตตตตตตตตตต” มนุษย์ชุดเกราะได้ ‘ร่วงหล่น’ ลงไปในยั้งหุบเหวอันสูงชัน ด้วยนำมือของตัวแทนความ ‘ใหม่’ เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง คนเราไม่สามารถฝืนความเป็นธรรมชาติได้ อันมาจากปัจจัยของกาลเวลา การ ‘ร่วงหล่น’ ไม่ต่างอะไรไปจากการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ของยุคสมัย ทำตัวฝืนคลื่นแม่น้ำอันเชี่ยวกรากไปก็ไร้ค่า จดหมายจาก FromSoftware แถลงเป็นทางการ ลาก่อน ยุคเก่าของพวกเขา ลาก่อน ความเป็น Souls series จักไม่ขอยอมฝืน จมอยู่กับความเก่าอีกต่อไป ยินดีต้อนรับสู่ยุคใหม่แด่ข้า

เมื่อยุคใหม่เข้ามาทดแทน การน้อบรับความเปลี่ยนแปลงก็เป็นการแสดงออกถึงอะไรบางอย่าง หากเมื่อยุคใหม่นั้น ยอดเยี่ยม ไร้ข้อครหา ใครกันบ้างละที่จะไม่ยอมละทิ้งความเก่าของพวกเขา ความคุ้นชินของพวกเขา น้อมรับความเปลี่ยนแปลงด้วยใจศิโรราบ เราจึงได้เห็นเหล่า Soulsborne veteran ยอมที่จะปรับเข้าหาความใหม่ โอบอุ้มมันอย่างจริงใจ ช่างเป็นสิ่งที่น่าปลื้มใจยิ่งนัก นั้นก็เป็นอีกหนึ่งสารที่ FromSoftware สอนสั่งให้แก่คนรุ่นก่อน

ด้วยจังหวะที่เหมาะเหม็ง สารของ FromSoftware มีความเกี่ยวพ้องต้องกันกับยุคสมัยนี้เป็นอย่างมาก เราอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน อย่างการเปลี่ยนผ่านยุคของประเทศญี่ปุ่น เฮเซส่งต่อไปยังเรวะ เราได้เห็นการน้อมรับการเปลี่ยนผ่านที่แสนสวยสดงดงามอย่างหาที่เปรียบมิได้ ดังที่กล่าวไปข้างต้น การน้อมรับความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการแสดงออกถึงอะไรบางอย่าง กลับกัน การเปลี่ยนแปลงที่ไร้การโอบอุ้มอย่างสุดเหวี่ยง ก็เป็นการสะท้อนถึงอะไรบางอย่างเช่นกัน ตัวอย่างของการตอบรับในแง่มุมหลัง เราก็มีตัวอย่างให้พินิจอยู่ใกล้ตัวอย่างที่คิดไม่ถึงแหละนะ มันได้แสดงออกถึงอะไรบางอย่างจริง ๆ

sekiro-armored-warrior-3
การประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่น ‘เรวะ’

นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในบ้านเราที่ส่งผลอย่างเด่นชัดในการเคลื่อนไหวทางความคิดในทางการเมือง การเปลี่ยนผ่านได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กระทบต่อความ ‘คุ้นชิน’ ที่คนรุ่นเก่าอาจจะไม่คุ้น และส่งผลเลยเถิด ก่อให้ความไม่คุ้น ไม่รู้ ควบคุมไม่ได้ กลายเป็นความ ‘กลัว’ ไปเสียนี้ ตอนนี้เราก็ได้เห็นการจัดการกับความกลัวของพวกเขาอย่างทุกเมื่อเชื่อวัน

แด่ (คน) ยุคใหม่

แต่พวกเขา, FromSoftware ไม่ได้กล่าวว่าความเป็น Souls series จบสิ้นเพียงเท่านี้ เพราะนอกจากสารที่พวกเขาแถลงจุดยืนตนเอง และสารที่เขาได้สอนสั่งให้คนรุ่นก่อน เขายังได้ฝากฝังสารไปยังคนรุ่นใหม่ ให้สานต่อเจตนารมณ์ดั้งเดิมของพวกเขา โรเบิร์ตนั้นจริง ๆ แล้ว เชื่อกันว่าคือนามลูกน้อยของชายชุดเกราะ ผู้เป็นตัวแทนของ Soulsborne ทั้งหลาย ซึ่งลูกน้อยก็คือตัวแทนของคนยุคใหม่ที่จะมาสานต่อ ดัดแปลง Soulsborne ให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ให้ตายจากไปจากการฝืนเหมือนรุ่นพ่อของเขา หากโอบนำเอาความใหม่และความเก่ามาประกอบร่างสร้างตัวนั้น ถือว่าเป็นการหาจุดร่วมกันของช่องว่างระหว่างยุคที่น่าสนใจในภายภาคต่อไป

sekiro-armored-warrior-2
ภาพจาก: คุณ Hirun Cryer/USG

ไม่ใช่เพียงแค่ในเกม หากการฝากฝังสารถึงคนรุ่นใหม่ ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน พวกเราคนยุคใหม่ จะพยายามทำอย่างสุดความสามารถ ไม่ว่าในเรื่องหรือแง่มุมไหนก็ตาม

วางใจพวกเราได้เลยครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share