หากเราพูดถึงยุค ‘เซ็งโงกุ’ ถือได้ว่าเป็นยุคที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นจากตัวเรื่องราวของมันเอง ทั้งแนวคิดของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ความขัดแย้งอันยุ่งเหยิง และรูปแบบสงครามการพุ่งรบอันเป็นสิ่งทื่โจษจัน นอกจากนั้น เราสามารถกล่าวได้ว่านี่คืออีกหนึ่งในช่วงเวลาหน้าประวัติศาสตร์ ที่ถูกนำเสนอในสื่อต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงสื่อวิดีโอเกมจากในอดีต ตราบจนถึงปัจจุบัน โดย Sekiro: Shadows Die Twice นั้นก็มีเรื่องราวอยู่ในยุคข้างต้นเช่นกัน แต่กระนั้น Sekiro: Shadows Die Twice นำเพียงบรรยากาศ สถาปัตยกรรม และรูปแบบของสังคม การปกครอง มาใช้ประยุกต์เพียงเท่านั้น มิได้มีเจตนาจะนำเสนอเรื่องราวที่เป็น ‘ความซื่อตรงทางประวัติศาสตร์’ แต่อย่างใด
แต่หากเพียงในยุคเซ็งโงกุนั้นมีความเย้าย้วน ชวนติดตาม จนไม่สามารถมองข้ามไปได้ ประกอบกับการได้รับรู้เศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ คงเป็นประโยชน์ต่อผู้รับสาร อีกทั้งการได้รับรู้เรื่องราวเบื้องหลัง สามารถเสริมสร้างกระบวนการเสพสารในรูปแบบของการ ‘ดำดิ่ง’ (immersive) ไปกับตัวงานได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น บทความนี้เราจึงต้องการมานำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของยุคเซ็งโงกุ ใน ‘Sekiro: Shadows Die Twice – กับยุคแห่งความนองเลือด เซ็งโงกุ’
สงครามโอนิน หนึ่งในเหตุสำคัญที่ก่อภัยในยุค ‘เซ็งโงกุ’
เซ็งโงกุนั้นเป็นยุคแห่งความสับสนวุ่นวายของญี่ปุ่น ด้วยความไม่สงบที่มีเหตุจากสงครามกลางเมือง เพราะมีการชิงอำนาจภายในประเทศ โดยเป็นผลต่อเนื่องมาจากสงครามโอนิน ฉะนั้น ก่อนจะกล่าวถึงยุคเซ็งโงกุ เราจึงต้องกล่าวถึงเหตุการณ์สงครามโอนินเป็นประการแรก เพื่อให้เข้าใจแง่มุม จากต้นสาย ว่าเหตุใด จึงนำพาไปยังปลายเหตุ ที่อุดมไปด้วยความฉิบหายได้ถึงเพียงนี้
ภายใต้การปกครองของโชกุนอาชิกางะ โยชิมาซะ สภาวะของสงครามกลางเมืองได้เริ่มคืบคลานเข้ามารอบ ๆ เกียวโต อันมีเหตุมาจากความขัดแย้งที่สำคัญคือ สภาวะเศรษฐกิจอันฝืดเคือง และอีกปัจจัยที่เป็นการเร่งเร้าเชื้อไฟแห่งสงครามให้ปะทุนั้นก็คือ ความขัดแย้งในการหาผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุ เนื่องจากโชกุนอาชิกางะ โยชิมาซะ ไม่มีรัชทายาทที่เป็นผู้สืบสันดานตามสายเลือดที่แท้จริง เขาจึงแต่งตั้งให้น้องชายของเขาเป็นรัชทายาทแทน นั้นก็คือ โยชิมิ ซึ่งในขณะนั้นกำลังดำรงตนเป็นพระ แต่หลังจากนั้นไม่นาน โทมิโกะ ภรรยาของโชกุนอาชิกางะกลับได้ให้กำเนิดลูกชายนามว่าโยชิฮิสะ จึงเกิดความขัดแย้งว่า ใครควรเป็นรัชทายาทกันแน่ น้องชาย หรือ ลูกจากสายเลือดที่แท้จริง
แต่ละฝ่ายก็มีผู้ที่ตบเท้าเข้ามาสนับสนุนตามอุดมการณ์ของตนเองและเกิดความขัดแย้งกันจนเพิ่มเติมความรุนแรง เลยเถิดไปถึงขั้นสงครามกลางเมือง โดยทางฝ่ายผู้สนับสนุนโยชิมิ น้องชายของโชกุนอาชิกางะ ได้แก่ โฮโซกาวะ คัตสึโมโตะ ส่วนฝ่ายผู้สนับสนุนลูกจากสายเลือด, โยชิฮิสะ ได้แก่ ยามานะ โซเซน โดยโฮโซกาวะนั้นคือลูกเขยของยามานะ อีกทั้งเป็นหนึ่งในสามพ่อบ้านของตระกูลอาชิกางะ ส่วนที่เหลือคือตระกูลชิบะและฮาตาเกะยามะ ส่วนยามานะนั้นเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ โดยได้รับฉายาว่า ‘พระแดง’ เหตุเพราะเวลาเขาโกรธ ใบหน้าของเขาจะกลายเป็นสีแดงฉ่าน
สงครามได้ดำเนินไประหว่างกองทัพฝ่ายตะวันออกของพลพรรคโฮโซกาวะเผชิญหน้ากับกองทัพฝ่ายตะวันตกของพลพรรคยามานะ ซึ่งกองทัพฝ่ายตะวันออกกุมความได้เปรียบจากการสนับสนุนของทั้งโชกุนและจักรพรรดิ เนื่องจากความเป็นคันเรียวของโฮโซกาวะ (ตำแหน่งผู้แทนของโชกุน) จึงใช้เส้นสายจากความใกล้ชิดทางตำแหน่ง ส่วนกองทัพฝ่ายตะวันตกได้รับความช่วยเหลือจากตระกูลโอวจิ ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีอำนาจที่สุดในช่วงยุคโชกุนอาชิกางะ ซึ่งสงครามนั้นได้เกิดขึ้น และทวีความรุนแรงในเกียวโต เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง และทำให้ผู้คนหลบหนีออกจากเมือง จนทำให้แทบกลายเป็นเมืองร้าง
โดยสงครามมีระยะเวลายาวนานถึงสิบเอ็ดปี ถึงแม้สงครามจะจบลง ไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะ โดยท้ายสุดโชกุนอาชิกางะได้แต่งตั้งให้โยชิฮิสะเป็นรัชทายาท แต่อย่างไรก็ดี ความวุ่นวายยังคงค้างเติ่งอยู่ในทั่วทุกแห่งหน ผลของสงครามดังกล่าวทำให้ชาวบ้านนั้นรวบรวมกลุ่มกันเพื่อตั้งกองกำลังเพื่อปกป้องตนเอง ซึ่งผู้นำของแต่ละกลุ่มกองดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นเหล่าซามูไรประจำท้องถิ่น พวกผู้นำจะแต่งตั้งตัวเองขึ้นเป็นไดเมียว หรือก็คือ เจ้าเมือง/ผู้ปกครองแคว้น อย่างอิสระ โดยไม่ขึ้นตรงต่อโชกุนตามระบบดั้งเดิม ซึ่งเรียกว่า เซ็งโงกุไดเมียว
อีกกระทั่งผลกระทบจากสงครามนั้นก็คือการแตกกระจายของเหล่าชนชั้นสูงและเหล่าพระชั้นผู้ใหญ่ในสังกัดวัดใหญ่ จากการที่พวกเขาขาดรายได้การเสียภาษีของประชาชนให้กับรัฐในระบบโชเอ็น (ที่จะต้องเสียภาษีเป็นข้าว) จากการที่เหล่าประชาชนปฎิเสธที่จะจ่ายภาษีให้กับรัฐ เมื่อไม่มีภาษีเข้ามาหล่อเลี้ยงท่อน้ำเลี้ยงที่สำคัญ ทำให้พวกเขาต่างแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง ทำให้เกิดการกระจายของวัฒนธรรมชั้นสูงของเมืองหลวงไปยังเมืองอื่น ๆ ภายนอก เกิดการบูรณาการทางวัฒนธรรม จนกำเนิดวัฒนธรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาในช่วงยุคดังกล่าว
ส่วนทางโชกุนอาชิกางะ โยชิมาซะได้เลือกที่จะหันหลังให้กับเรื่องราวความขัดแย้งต่าง ๆ และเลือกที่จะปลีกวิเวก เสวยสุขอย่างฟู่ฟ่าโดยไม่สนกิจสูงสุดของตน คือการปกครองบ้านเมืองให้สงบสุข ทำให้อำนาจของระบบโชกุนเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งการเกิดขั้วอำนาจใหม่นั้นก็คือเหล่าเซ็งโงกุไดเมียว
และนี้เป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความนองเลือดอย่าง ‘เซ็งโงกุ’
ที่ผ่านมานั้นแค่เผาหลอก นี้สิของจริง ใน ยุค ‘เซ็งโงกุ’
หลังจากจบสงครามโอนิน ด้วยการเสื่อมอำนาจของโชกุนที่เป็นระบบส่วนกลางของอำนาจ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการควบคุมอำนาจในทางปกครอง เหล่าผู้อยู่เบื้องล่างเกิดการก่อการล้มล้างต่อผู้ที่อยู่เหนือกว่า ซึ่งเรียกปรากฎการณ์ทางการเมืองประเภทนี้ว่า ‘เกะโคคุโจ’ (Gekokujō)
จำนวนเซ็งโงกุไดเมียวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงเกิดความขัดแย้งระหว่างเซ็งโงกุไดเมียวกันเอง เพื่อแสวงหาอำนาจ แย่งชิงอาณาเขตการปกครอง
ส่วน ชูโก (ซึ่งเป็นตำแหน่งเป็นตัวแทนของโชกุน แต่งตั้งโดยโชกุน เพื่อให้บริหารและปกครองในท้องที่นอกเมืองหลวง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับตำรวจในส่วนท้องถิ่น จากการที่โชกุนนั้นมักอยู่เพียงแต่ในเมืองหลวง) เริ่มทำการแสวงหาอำนาจส่วนตัวในท้องถิ่นที่ตนปกครองอยู่ จากเพียงเป็นแค่ตัวแทนของรัฐบาล กลายเป็นผู้ปกครองที่ดิน เรียกว่า ชูโกไดเมียว และเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างชูโกไดเมียวกันเองเพื่อต้องการแย่งชิงตำแหน่งที่สูงกว่า
ตำแหน่งที่ถือว่าในทางปฎิบัติ กุมอำนาจที่แท้จริง เริ่มทำการล้มล้างตำแหน่งที่สูงกว่า แต่มิได้มีอำนาจแท้จริงตามทางปฎิบัติ อย่างคันเรียวที่เป็นผู้แทนของโชกุน หรือตำแหน่งชูโกได ซึ่งเป็นผู้แทนของชูโก
นอกจากนั้นยังเกิดเหตุการณ์การร่วมตัวของผู้ที่อยู่เบื้องล่าง เพื่อทำการเรียกร้อง ต่อรองกับผู้ที่อยู่เหนือกว่าหลาย ๆ ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การร่วมตัวของชาวนาเพื่อบีบให้ทำการยกเลิกหนี้สินของตนที่มีต่อรัฐ หรือการร่วมตัวเพื่อขับไล่ชูโกของคนใต้การปกครองของชูโก
จากปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบดังกล่าว ความไร้เสถียรภาพในการปกครอง ทำให้ในยุคเซ็งโงกุ เกิดแต่ความวุ่นวายจากสภาวะสงคราม บ้านเมืองไร้ความสงบสุข
เรียกได้ว่าเป็น ‘กลียุค’ อย่างแท้จริง
การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการทหารในสมัยเซ็งโงกุ
แนวความคิดตั้งต้นที่สำคัญของกลยุทธ์การรบในยุคเซ็งโงกุซึ่งได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของการรบในยุคนี้ก็คือ ‘ความเร็ว’ การรบของทหารราบจะเน้นปัจจัยของความรวดเร็ว คล่องตัวเป็นหลัก เหตุต้องการตอบโต้ต่อการมาของ ‘ปืน’ นั้นเอง จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ตามมาอย่างหลากหลาย โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนให้เดิมจากซามูไรที่ใช้ธนูบนหลังม้า กลายเป็นใช้หอกปลายดาบ เนื่องจากต้องการเน้นความรวดเร็วของการเข้าทำ หากใช้ธนู จะเกิดปัญหาในการต่อสู้ระยะประชิด ถึงแม้ว่าจะให้ผู้ติดตามใช้ธนูและให้ตนใช้ดาบแทน แต่การใช้ดาบบนหลังม้า ก็เกิดความลำบากและข้อจำกัดในการใช้งานเช่นกัน การที่เปลี่ยนรูปกระบวนให้กลายเป็นซามูไรม้าพลหอก ทำให้ได้เปรียบถึงแม้ว่าจะต้องฉะหน้ากับเหล่าพลธนูหรือพลปืนของทัพศัตรู ถือว่าเป็นการต่ออายุของความได้เปรียบในกลยุทธ์พลทหารม้า จากที่เกิดปัญหาในกลยุทธ์นี้ ด้วยการมาของปืนในยุคนั้น ถือว่าเป็นความดีความชอบของ ทาเคดะ ชินเก็น ผู้นำตระกูลทาเคดะ หนึ่งในสุดยอดไดเมียวแห่งยุคเซ็งโงกุ
ถึงแม้ว่าพลทหารม้าจะมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง แต่ยังคงต้องการพลทหารราบตามติดไปด้วย เหตุเพราะเพียงพลทหารม้าลำพังไม่สามารถสร้างความเสียหายในระดับการบุกทะลวงแนวกองทัพศัตรูให้ได้อย่างราบคาบ ซึ่งปัญหามาจากปัจจัยของตัวม้านั้นเองจากการที่ม้าในยุคนั้น มีขนาดตัวที่เล็ก ประกอบกับต้องรองรับนำหนักของตัวคน, อาวุธ และเกราะ จึงทำให้ศูนย์เสียความเร็วอันเป็นสิ่งสำคัญในการรบแบบสายฟ้าแลบ ฉะนั้น รูปแบบการรบในช่วงนี้จึงเป็นการใช้ทหารราบจำนวนมาก ผนวกการใช้ทหารราบควบคู่ไปกับการใช้ทหารม้านั้นเอง