ประกาศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับเกมที่ดูเหมือนว่าจะกลับมาเป็นเกมรายปีอีกครั้ง อย่าง Assassin’s Creed Odyssey (ไม่มีลุงโอ้มากระโดดโขกอิฐแต่อย่างใด) ที่ก่อนหน้านั้น หลุดแล้ว หลุดอีก หลุดจนไม่รู้ว่า Ubisoft มันจงใจหลุดอีกหรือเปล่า เพราะเวลามีเกมใหม่ทีไร ไม่เคยเก็บเป็นความลับได้ซักกะเกม ถ้าเทียบว่าเป็นการถ่ายแบบ Assassin’s Creed Odyssey ก็ถือได้ว่าแก้ผ้า วิ่งล่อนจ้อนมาแต่ไกล ไม่เหลือพื้นที่เว้นไว้ให้กับความ “ลุ้น” เลยแม้แต่น้อย
กลับเข้าเรื่องกัน ใน Assassin’s Creed Odyssey พิจารณาจากแหล่งข่าว ประกอบกับตามปีและ Setting ภายในตัวอย่างที่ปล่อยมาในงาน E3 ยืนยันแล้วว่าเกมจะอยู่ในช่วง Peloponnesian War หรือ สงครามเพโลพอนนีเซียน เรื่องราวนั้นจะเป็นสงครามระหว่าง “สันนิบาตเดเลียน” ซึ่งนำโดยเอเธนส์ เผชิญหน้ากับ “สันนิบาตเพโลพอนนิเซียน” นำโดยสปาร์ตา โดยสงครามนั้นเกิดในช่วง 431– 404 ปีก่อนคริสตกาล
กบฎไอโอเนีย, สงครามกรีก-เปอร์เซียครั้งแรก ก่อนจะมาถึงสงครามเพโลพอนนีเซียน
ก่อนจะพูดสงครามเพโลพอนนีเซียน เราคงต้องมาพูดถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามก่อน นั้นก็คือ สงครามกรีก-เปอร์เซีย
ในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล ได้เกิดเรื่องเรื่องให้ขุ่นข้องหมองใจ ระหว่างเอเธนส์กับอาณาจักรเปอร์เซีย ต้องกล่าวว่าโดยจิตวิญญาณประชาชาติของชาวเอเธนส์นั้น มักคิดว่า พวกผู้คนที่อยู่นอกกรีกเป็นพวกไร้อารยธรรม คนเถื่อน เรื้อนปัญญา และนั้นก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เอเธนส์มีเรื่องมีราวกับอาณาจักรเปอร์เซียที่ในช่วงนั้นถือว่าเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ไร้เทียมทานเลยทีเดียว และแน่นอน เกิดเลยเถิดไปเป็นสงคราม กรีก-เปอร์เซียในภายหลัง ความขัดแย่งของคู่ชกคู่นี้ในครั้งแรกมาจากการที่เอเธนส์ได้ไปยุยงให้ชาวไอโอเนียที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรเปอร์เซียก่อกบฎต่ออาณาจักรเปอร์เซีย
ไอโอเนียนั้นเคยเป็นอาณานิคมของกรีก และต่อมา ถูกอาณาจักรเปอร์เซียเข้าปกครองโดยพระเจ้าไซรัสมหาราช หลังจากนั้น ชาวเอเธนส์นั้นรู้สึกไม่พอใจที่เหมือนพี่น้องของพวกตนโดนรังแก เพราะมีพี่น้องชาวกรีกที่อยู่ในดินแดนไอโอเนียอยู่ด้วย จึงยุยงให้ชาวกรีกในไอโอเนียให้ก่อกบฏต่ออาณาจักรเปอร์เซียที่ตอนนั้นพระเจ้าดาไรอัสมหาราชครองราชย์ และยังส่งกองทัพของตนไปสนับสนุนฝ่ายกบฎ แต่ถึงกระนั้น การกบฎในครั้งนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่กลายเป็นเชื้อไฟชั้นยอดให้พระเจ้าดาไรอัสมหาราชนั้นคิดว่าเหล่ากรีกนั้นเป็นเสี้ยนหนามต่ออาณาจักรเปอร์เซีย จึงสั่งบุกกรีซเพื่อจัดการกับชาวเอเธนส์ที่หาเรื่องใส่ตัว เป็นสงครามกรีก-เปอร์เซียครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ผลคือชาวเอเธนส์จัดการปล่อยหมัดสวนกลับ สกัดกองทัพของเปอร์เซียได้อย่างอยู่หมัดที่ทุ่งมาราทอน แต่ครั้งนี้ ชาวสปาร์ตานั้นไม่ได้เข้าร่วมด้วยนะ ติดงานเทศกาลศาสนาของตัวเองอยู่ (ฮา)
สงครามกรีก-เปอร์เซียครั้งที่สอง และที่มาเหตุการณ์ “300” อันเลืองลื่อ
เมื่อสงครามครั้งแรกจบลง พระเจ้าเซอร์คซิส โอรสของพระเจ้าดาไรอัสมหาราช จึงสานต่อความพยายามของพระราชบิดา โดยใช้เวลาอยู่หลายปีเพื่อจัดการเตรียมกองทัพ ซึ่งใช้ทหารจำนวนสองแสนห้าหมื่นนาย เพื่อทำการบุกกรีกเป็นครั้งที่สอง
ในทางเอเธนส์ ที่เป็นเป้าหมายหลักของการบุกครั้งนี้ ก็รู้สึกใจบ่ดีกับบุกครั้งนี้ของอาณาจักรเปอร์เซีย จึงส่งทูตไปขอความช่วยเหลือจากฝั่งสปาร์ตา ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่ขวัญใจชาวมีมและ Pop Culture ของพวกเรา อย่างพระเจ้าลีโอไนดัสที่ 1 กำลังครองราชย์อยู่ ในสปาร์ตาตอนนั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือพวกที่เห็นด้วยกับพระเจ้าลีโอไนดัสที่ 1 ที่ต้องการจะส่งกองทัพไปช่วยเหลือเอเธนส์ แต่อีกฝ่ายนั้นไม่ได้สนใจกับการบุกเปอร์เซียครั้งนี้ ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของตน และก็ไม่เห็นว่าสปาร์ตาจะได้รับความเดือดร้อนอะไร
พระเจ้าลีโอไนดัสที่ 1 ต้องการจะสั่งสอนให้อีกฝ่ายของสปาร์ตาที่เอาแต่กลัวหัวหด และอ้างว่าไม่ใช่ธุระอะไรของตน ให้รู้สึกละอายใจบ้าง โดยการจัดกำลังกองทัพของตนที่มีทหารชั้นหัวกะทิ เพียงสามร้อยคน โดยการนำทัพของพระองค์เอง เข้าไปยันกองทัพเปอร์เซียจำนวนสองแสนห้าหมื่นคนที่ช่องเขาเทอร์โมไพลี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางตอนเหนือของกรีซ และเหลือเชื่อที่พวกเขาสามารถต้านกองทัพเปอร์เซียได้เป็นเวลาสามวันถ้วน ก่อนจะสู้จนตัวตาย วีรกรรมของพวกเขากลายเป็นเชื้อไฟ กำลังใจให้กองทัพกรีกที่เหลือ ที่สำคัญ เป็นการซื้อเวลาให้อพยพชาวเอเธนส์ออกจากเมือง และให้กองทัพกรีกได้ตะเตรียมกองทัพเรือที่เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินผลแพ้ชนะของสงครามครั้งนี้ ในยุทธนาวีซาลามิสที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง (ซึ่งมาจากอุบายของ เธอมิสต์โอคลีส ที่จะกล่าวต่อไป) โดยหลังจากที่พ่ายแพ่ที่ยุทธการเทอร์โมไพลี ทางกองทัพเปอร์เซียได้รุกมาทั้งเอเธนส์ และเผาราบทั้งเมือง เกรียมยิ่งกว่ากุ้งแม่น้ำเสียอีกนะออเจ้า
ซึ่งเหตุการณ์ยุทธการที่เทอร์โมไพลีที่ยังถูกกล่าวถึงมาจนทุกวันนี้ ในแง่ของความกล้าหาญ และในแง่ของทางการทหาร เรื่องความได้เปรียบของภูมิศาสตร์ ความสามารถของตัวทหาร และอาวุธ อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ
อีกหนึ่งคนที่เป็นตัวแปรสำคัญในสงครามครั้งนี้ นอกจากพระเจ้าลีโอไนดัสที่ 1 ก็คือ เธอมิสต์โอคลีส นักการเมืองของฝั่งเอเธนส์ ผู้ที่ทำให้สปาร์ตายอมมาเข้าร่วมการรบครั้งนี้ โดยทางเธอมิสต์โอคลีสรู้ดีว่าสปาร์ตาไม่มีทางเข้าร่วมสงคราม หากพวกตนไม่ได้เป็นผู้บัญชาการรบ เธอมิสต์โอคลีส จึงไปโน้มน้าวให้ชาวเอเธนส์มอบอำนาจการรบให้ทางสปาร์ตา ไม่ใช่เพียงอำนาจการสั่งการทางบก ยังรวมไปถึงอำนาจการสั่งการในการรบทางน้ำอีกด้วย แม้ว่ากองทัพสปาร์ตาจะไม่ค่อยมีความเชียวชาญการรบทางน้ำเท่าเอเธนส์ก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้นเธอมิสต์โอคลีสยังอ่านเกมขาด ว่าทางพระเจ้าเซอร์คซิสจะต้องคิดว่าหากต้องการเอาชนะเอเธนส์ พระองค์ต้องจับประชาชนชาวเอเธนส์ไว้เป็นเชลย จึงจะได้รับชัยชนะที่เด็ดขาด อีกทั้งเธอมิสต์โอคลีสรู้ว่าถึงแม้ทางเอเธนส์จะได้สร้างป้อมปราการไว้รับมือกองทัพเปอร์เซีย เอเธนส์ก็ไม่สามารถตั้งรับกับกองทัพเปอร์เซียได้เลยแม้แต่น้อย เธอมิสต์โอคลีสจึงเกลี้ยงกล่อมให้ชาวเอเธนส์ยอมรับความจริงและอพยพออกจากเมืองไปยังเกาะแถวชายฝั่ง เพื่อทั้งเป็นการอพยพเพื่อรักษาชีวิตของประชาชนและเป็นการหลอกล่อกองทัพเปอร์เซียในคร่าวเดียวกัน โดยการหลอกล่อดังกล่าว จุดประสงค์เพื่อให้กองเรือเปอร์เซียรุกเข้าไปยังช่องแคบซาลามิส จากแผนการที่ว่า กองเรือของเปอร์เซียมีขนาดที่ใหญ่ หากเข้ามาอยู่ในที่แคบ จะทำให้เสียรูปขบวน ทำให้ฝ่ายกรีกได้เปรียบ ซึ่งก็ได้ผลอย่างเด็ดขาด เมื่อกองเรือเปอร์เซียเข้ามาในช่องแคบซาลามิส กองเรือกรีกได้ทำการปิดล้อม ก่อนที่จะจัดการกองเรือเปอร์เซียได้อย่างอยู่หมัด
หลังจากได้รับชัยชนะจากยุทธการซาลามิส สองปีถัดมา ที่ยุทธการพลาเทีย กองทัพของชาวสปาร์ตากับเอเธนส์ ได้บดขยี้กองทัพเปอร์เซียจนสิ้นลาย กองทัพกรีกใช้โอกาสที่กองทัพเปอร์เซียระส่ำระสาย นำกองเรือเข้าโจมตีกองเรือเปอร์เซียในยุทธนาวียุทธนาวีมิเคลี ซึ่งการกระทำดังกล่าวของกรีก ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นบาดแผลแห่งความขุ่นเคืองใจของระหว่างเหล่านครรัฐกรีกกับสปาร์ตา เอเธนส์ได้ก่อตั้งสันนิบาตเดเลียน จุดประสงค์เพื่อร่วมกันต่อต้านเหล่ากองทัพเปอร์เซีย โดยสันนิบาตเดเลียนยังคงทำสงครามเปอร์เซียต่อไปอีกเป็นเวลา 30 ปี หลังจากนั้นสันนิบาตเดเลียนได้ปลดเอกไอโอเนียให้หลุดพ้นจากอาณาจักรเปอร์เซียในยุทธการยูรีมีดอน แต่ความปราชัยของสันนิบาตเดเลียนต่อการกบฎในอียิปต์ ทำให้สงครามกับเปอร์เซียหยุดชะงักไป และประกอบกับการรบครั้งต่อๆ มา ก็แพ้บ้าง ชนะบ้าง ปะปนกันไป จนเมื่อทั้งสองฝ่ายได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพคัลลิอัส จึงสิ้นจุดสงครามกรีก-เปอร์เซียอย่างเป็นทางการ
ยามศึกเราร่วมรบ ยามสงบ เรารบกันเอง ในสงครามเพโลพอนนีเซียน
หลังจากจบสงครามกรีก-เปอร์เซีย สันนิบาตเดเลียนยังคงอยู่ ยังไม่ได้หายไปไหน แถมยังขยายอำนาจบาตรใหญ่ไปทั่ว จากความสำเร็จที่เกิดจากการค้าทางทะเลของเอเธนส์ ยิ่งไปกว่านั้นคือการเผยแพร่แนวคิดการปกครองระบบประชาธิปไตย ยิ่งทำให้สปาร์ตาที่มีระบบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ยังรู้สึกหงุดหงิดกับการกระทำครั้งก่อนของเอเธนส์ รู้สึกไม่พอใจขึ้นหนักกว่าเดิม สปาร์ตาจึงได้ก่อตั้ง สันนิบาตเพโลพอนนิเซียน เพื่อคานอำนาจของทางสันนิบาตเดเลียน เธอมีแก๊ง ฉันก็มีบ้าง ประมาณนั้น
เรื่องมันเหมือนจะไม่มีอะไร เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างดูเชิงกันไปเรื่อยๆ แต่สุดท้าย มันก็มีเรื่องจนได้ แถมมาจากเรื่องไม่เป็นเรื่องเลยซักนิด จากการที่โครินท์ พันธมิตรและเป็นสมาชิกในสันนิบาตเพโลพอนนิเซียน เกิดมีเรื่องบาดหมางกับคอร์ไซร่าที่เป็นสมาชิกในสันนิบาตเดเลียน ทางโครินท์ก็ไปขอความช่วยเหลือจากสปาร์ตา และคอร์ไซร่าก็ไปขอความช่วยเหลือจากเอเธนส์ จึงลุกลามกลายเป็นสงครามเพโลพอนนิเซียนซะงั้น
พิจารณาจากความเชี่ยวชาญของกองทัพแล้ว ทางเอเธนส์ถือว่าเป็นเจ้าแห่งทะเล เขามีกองทัพเรือสุดอันตราย สปาร์ตา เรารู้อยู่กันดี ว่ากองทัพของของเขา ดุดัน นรกแตกแค่ไหน เรียกได้เวลาเป็นคู่รบถูกคู่ พวกเขาต่างมีไม้เด็ดเป็นของตัวเอง
ยกที่ 1 ของสงครามเพโลพอนนีเซียน
ในช่วงแรกของสงครามไม่ค่อยมีอะไรมาก ไปมากกว่าการที่ชาวเอเธนส์อยู่อย่างปลอดภัยในกำแพงหินขนาดใหญ่ของตนเองที่ได้สร้างขึ้นช่วงก่อนสงคราม จากบทเรียนในจากสงครามกรีก-เปอร์เซียแล้วก็เฝ้ามองกองทัพสปาร์ตา เผาบ้านเผาเมืองนอกกำแพงไป ด้วยกลยุทธ์ที่ว่าให้ฝ่ายสปาร์ตาปิดล้อมจนอ่อนแรงไปเอง ส่วนกองทัพเรือเอเธนส์ก็ปิดล้อมคาบสมุทธเพโลพอนนีเซียน ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจของสันนิบาตเพโลพอนนิเซียน ที่ก็ยังคงก้มหน้าก้มตาผลิต พัฒนาอาวุธเพื่อทำสงครามกันอย่างขะมักเขม้น
แต่ใช่ว่าจะอยู่สบายในกำแพงนัก เพราะการถูกเปิดล้อมเป็นเวลานาน เป็นภาวะที่เอื้อสำหรับการเพาะเชื้อโรคเป็นอย่างดี เกิดโรคระบาดภายในเอเธนส์ ซึ่งทำให้ประชากรหนึ่งในสามของจำนวนประชากรทั้งหมดถึงแก่ความตาย และที่สำคัญคือโรคระบาดได้พรากบุคคลที่เป็นผู้นำคนสำคัญของเอเธนส์ในช่วงนั้นอย่าง เพริคลิส เป็นนักวางแผนและบุคคลผู้หล่อหลอมนักการเมืองที่มีแนวคิดทางการเมืองแตกต่างกัน เข้าด้วยกัน การเสียเพริคลิสไป เมืองไม่มีผู้นำที่มีความสามารถที่เข้ามาเป็นจุดร่วมจิตใจอย่าง เพริคลิส ทำให้การเมืองภายในเอเธนส์แตกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายพรรคประชาธิปไตยกับฝ่ายพรรคอนุรักษนิยม
ฝั่งพรรคประชาธิปไตยได้ชัยชนะในยุทธการสแปคทีเรีย แต่ต่อมาได้พ่ายแพ้ที่แอมฟิโปลิส ฝั่งพรรคอนุรักษนิยมจึงได้จังหวะ เข้ายึดอำนาจภายใน และได้เจรจรสงบศึกกับสปาร์ตา แต่ก็ยังคงมีการรบบ้าง จนในช่วงปี 419 ก่อนคริสตกาล เหล่านครรัฐของสันนิบาตเดเลียนเข้าทำสงครามกับสปาร์ตาที่แมนดิเนีย โดยสปาร์ตาได้รับชัยชนะ
ยกที่ 2 ของสงครามเพโลพอนนีเซียน
เกิดตัวแปรสำคัญของสงครามครั้งนี้ คือขุนนางที่มีนามว่า อัสสิไบดีส ทางเอเธนส์ได้ตกในภวังแห่งคารมของเขาอย่างเต็มเปา (โดยไม่รู้ว่ามันเป็นหนทางสู่ความฉิบหายในสงครามครั้งนี้) เขาได้โน้มน้าวให้เอเธนส์บุกเกาะซิซิลี ว่ากันตามข้อเท็จจริง เกาะซิซิเลียมีพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเอเธนส์หลายเท่า มีภูมิประเทศที่เหมาะการทำกองรบแบบกองโจร แถมยังมีชนพื้นเมืองที่ไม่เป็นมิตร ขัดกับความสามารถในการรบทางบกของพวกเขาโดยสิ้นเชิง
แน่นอน พวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเกาะซิซิลี มีความเป็นไปได้ที่ต่ำมากๆ ที่ผลลัพธ์จะออกมาในทิศทางที่เป็นผลดีต่อเอเธนส์ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เอเธนส์พ่ายแพ้อย่างย่อยยับที่ซิซิเลีย พวกเขาสูญเสียทั้งกองทหารและกองเรือไปเป็นจำนวนมาก นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสงครามเพโลพอนนีเซียน
ยกสุดท้าย ของสงครามเพโลพอนนีเซียน
หลังจากความพ่ายแพ้ในซิซิลี เอเธนส์ก็ยังไม่ยอมแพ้ ส่งกองทัพไปบุกลาโคเนีย แต่ก็ยังแพ้สปาร์ตาอยู่ดี ส่งผลให้ขุนนางผู้เปลี่ยนเกม (ให้สปาร์ตาได้เปรียบ) โดนเด้งออกจากตำแหน่งทางการเมืองทันที และหลังจากนั้น คร่าวฉิบหายของเอเธนส์ได้มาเยือน เมื่อสปาร์ตาสามารถพัฒนากองทัพเรือให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับของเอเธนส์ได้ เอเธนส์จึงถูกปิดจ๊อบที่อีกอสปอทาไม เอเธนส์พ่ายแพ้สง-ครามเพโลพอนนีเซียนอย่างเป็นทางการ (ซักที)
ความพ่ายแพ้ของเอเธนส์ ส่งผลให้สปาร์ตาขึ้นมามีอำนาจเหนือเอเธนส์อย่างเต็มตัว แต่อย่างไรก็ดี สงครามครั้งนี้ ในทางปฎิบัติ ดูเหมือนว่าจะไม่มีผู้ชนะอย่างแท้จริง ผลจากการทำสงครามอันยาวนาน ความเสียหายทางทรัพยากร และบุคลากร ส่งผลให้ทั้งสองนครรัฐเข้าสู่ภาวะยากจน และกลายเป็นจังหวะทองของอาณาจักรทางเหนือ นามว่า มาซิโดเนีย ของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 พระองค์ใช้จังหวะนี้ เข้าขึ้นเป็นผู้ทรงอำนาจขาใหญ่หน้าใหม่ในภูมิภาคนั้น เรียกได้ว่าเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริงของสงครามเพโลพอนนี-เซียน (ฮา)
อ่อ ลืมบอกไป พระราชโอรสของฟิลิปที่ 2 ก็คือ อเล็กซานเดอร์
คุ้นๆ หูใช่ไหมละ?
ก็ อเล็กซานเดอร์มหาราช นั้นแหละ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
- หนังสือประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง (History of The World) สำนักพิมพ์ a book Publishing
- Wikipedia.org