The Ascent Review

นับตั้งแต่เกม Cyberpunk 2077 เปิดตัว มันก็ทำให้ความ “ไซเบอร์พังค์” กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างหลังแอบอยู่ในมุมมืดของโลกไซไฟมานานหลายปี และมันก็ได้นำวิดีโอเกมแนวไซเบอร์พังค์จำนวนมากที่เตรียมสร้างมาเพื่อเกาะกระแสหลากหลายแนวที่ทยอยตามออกมาด้วย The Ascent ผลงานของทีมพัฒนา Neon Giant ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มาพร้อมกับความทะเยอทะยานด้วยงานสร้างเหนือระดับทีมงานขนาดเล็ก แต่ก็น่าเสียดายที่ศักยภาพของมันกลับถูกบดบังด้วยปัญหาทางด้านเทคนิคและเกมการเล่นที่ตื้นเขิน

ทีมงาน Neon Giant เป็นทีมพัฒนาเกมอิสระหน้าใหม่ที่เพิ่งจะก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2018 และก็มีจำนวนพนักงานเพียงสิบคนต้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นทีมงานที่เคยมีประสบการณ์ในการสร้างเกมยิงมาแล้วอย่างมากมาย ทั้งเกมอย่าง Bulletstorm หรือ Gears of War ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกม The Ascent ยังคงมีกลิ่นอายของสองเกมดังกล่าว แม้ตัวเกมจะเป็นเกมแนวเกมยิงก้านคู่ (twin-stick) ที่มีมุมมองจากด้านบน แต่มันก็มาพร้อมกับความการออกแบบที่เน้นเอาสะใจเข้าว่าและยังมาพร้อมกับงานสร้างอันน่าตื่นตะลึงเกินคาดไม่ต่างจากเกมฟอร์มยักษ์เลยทีเดียว

the ascent co op

The Ascent เป็นเกมยิงมุมมองจากด้านบนที่เล่าเรื่องราวอันแสนเรียบง่ายเพื่อให้ส่วนของความเป็นเกมตะลุยยิงมาเติมเต็ม โดยในเกมผู้เล่นจะได้รับบทเป็นประชากรชนชั้นแรงงานเบี้ยล่างของ Ascent Group บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้กุมบังเหียนของ “ดวงดาวเวเลส” (Veles) ที่จู่ๆ วันหนึ่งระบบทั้งหมดของ Ascent Group ก็ได้ปิดตัวลงไปอย่างไร้สาเหตุ ส่งผลให้เหล่าองค์กร และบริษัทคู่แข่งเริ่มเข้าชิงอำนาจในช่วงสุญญากาศ โดยที่เราในฐานะผู้เล่นก็จะได้พบเจอกับเหตุการณ์มากมาย ผ่านเควสช่วยชาวบ้านและองค์กรต่างๆ ท่ามกลางความสับสนอลหม่านที่ได้นำพาไปสู่การเฉลยปริศนาถึงสาเหตุที่ทำให้ Ascent Group ได้ปิดตัวลง

อันที่จริง The Ascent เปิดหัวด้วยเรื่องราวตามสไตล์เกมไซเบอร์พังค์ได้อย่างน่าสนใจ และเกมเองก็มีความพยายามที่จะนำเสนอการสร้างโลกเกมที่มีความลึก ที่นำเสนอเหล่ากลุ่มก้อนและตัวละครต่างๆ ในโลกเกมผ่านเรื่องราวที่เป็นเส้นตรงที่มีการแตกแขนงแยกย่อยออกไปบ้าง แต่มันกลับถูกบดบังด้วยศัพท์แสงตามสไตล์เกมไซเบอร์พังค์ (ที่เป็นคำศัพท์เฉพาะของเกม) ที่มากเกินไป จนบางครั้งเราก็แทบจะจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าสิ่งที่ตัวละครกำลังพูดถึงหมายความว่าอะไรกันแน่ มีบ่อยครั้งที่ผู้เขียนต้องหยุดพักเพื่อเปิดหน้าจอ Codex ของเกมมาอ้างอิง และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเกมไม่ได้พยายามที่จะอธิบายความสัมพันธ์ของเหล่าตัวละครและกลุ่มก้อนฝั่งฝ่ายจำนวนมากให้เราได้เข้าใจ รวมไปถึงเหล่าตัวละครในเกมเองก็ยังขาดซึ่งเอกลักษณ์ด้วยขีดจำกัดของการออกแบบเกม ซึ่งก็ยังทวีความน่าหงุดหงิดให้ยิ่งขึ้นด้วยเสียงพากย์ภาษาเอเลี่ยนของตัวละครรายทางบทบาทไม่สำคัญ ที่น่ารำคาญเสียอยากจะกดข้ามให้หมดอีกด้วย

the ascent side scroll

แต่อย่างไรก็ดีใจความสำคัญของเรื่องราวในเกม The Ascent ก็ไม่ได้ยากเกินความเข้าใจมากนักมันเล่าเรื่องราวการแก่งแย่งชิงอำนาจหักเหลี่ยมเฉือนคมตามสไตล์โลกเกมไซเบอร์พังค์ที่นำพาไปสู่บทสรุปที่มีความ “อิหยังวะ?” อยู่พอประมาณ และตัวเราในฐานะชนชั้นแรงงานชั้นล่างก็มีหน้าที่แค่การรับงานจากผู้ว่าจ้างไปเรื่อยๆ ที่เหมือนเพียงแค่ว่าเราเป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมและรู้เห็นเป็นสักขีพยานของเหตุการณ์ภายในเกมเท่านั้น ภารกิจต่างๆ ในเกมที่เราจะได้ทำก็มีเพียงแค่การเดินจากจุด A ไปยังจุด B เพื่อกำจัดศัตรูที่ขวางหน้า ด้วยการที่ใจความหลักของเกมมันคือเกมเดินหน้า (หรือถอยหลัง) ยิงในแบบเอามันส์เข้าว่าที่ชูระบบความเป็นเกมแอ็กชันสวมบทบาทและเน้นหนักไปที่การเล่นร่วมกับเพื่อน (co-op)

โดยพื้นฐานแล้วระบบการเล่นของ The Ascent แทบไม่ต่างจากเกมยิงก้านคู่เกมอื่นๆ ที่ผู้เล่นจะต้องเดินหน้าไล่เล็งยิงศัตรูไปตามฉากพลางต้องหลบหลีกการโจมตีไปเรื่อยๆ แต่เกมก็เพิ่มลูกเล่นอย่างการยิง “เล็งสูง” เข้ามาเพื่อสร้างความแตกต่าง โดยในเกมเราจะสามารถกดปุ่มทริกเกอร์เพื่อยกปืนขึ้นมายิงศัตรูให้สูงขึ้นจากระดับเอวหรือเหนือสิ่งกีดขวางต่างๆ ได้แม้ไม่มีระบบการดูดหลังติดกำแพงเหมือนกับเกมอย่าง Gears of War แต่เกมก็มีปุ่มย่อตัวที่ช่วยให้ผู้เล่นสามารถหลบการโจมตีและยิงต่อสู้สวนเหล่าศัตรูได้ แต่อย่างไรก็ดีมันก็ยังคงเป็นลูกเล่นที่เราอาจเรียกว่าเป็นจุดขายได้ไม่เต็มปากนัก

the ascent shop

ด้วยความที่เกม The Ascent เป็นเกมสวมบทบาทตัวเกมจึงมีระบบการพัฒนาตัวละครด้วย โดยในตลอดเกมการเล่นเราจะได้รับค่าประสบการณ์และแต้มสำหรับการอัปเกรดค่าสถิติต่างๆ ซึ่งเกมก็มีค่าสถิติที่หลากหลายทั้งการเพิ่มความเร็วของการใช้สกิล, ความเพิ่มความเร็วในการรีโหลด, เพิ่มอัตราการเกิดคริติคอล, เพิ่มพลังชีวิต, และอื่นๆ เท่าที่ท่านผู้อ่านคงจะนึกออก แต่การอัปเกรดค่าสถิติต่างๆ เหล่านี้กลับไม่ส่งผลอย่างเห็นได้ชัดมาก แม้เกมจะเปิดช่องให้ผู้เล่นเก็บแต้มอัปเกรดพลังได้เรื่อยๆ จนค่าสถิติเต็มทุกค่าหลังเลเวลตัน แต่เกมก็ไม่ได้มีเนื้อหาหลังเกมจบมาให้การอัปเกรดแสดงประสิทธิผลแต่อย่างใด ซึ่งเกมยังออกแบบให้ศัตรูเป็นระบบคงเลเวลตามพื้นที่ โดยไม่ได้ขยับขีดความสามารถมาตามผู้เล่นอีกด้วย

นอกจากระบบการพัฒนาตัวละครแล้ว The Ascent ก็ยังมาพร้อมกับระบบลูต (loot) ตามสไตล์เกมแอ็กชันสวมบทบาท โดยในเกมผู้เล่นจะสามารถสวมใส่เครื่องแต่งกายได้สามชิ้น (หัว,ตัว,เท้า) ซึ่งเครื่องเคราเหล่านี้ก็จะมีการระดับความเก่งตามค่าสถิติต่างที่ติดมาและแบ่งออกเป็นระดับสีความหายากเช่นเดียวกับอาวุธในเกมเองก็เช่นกัน แต่ระบบไอเทมที่ว่านี้มันก็ไม่ได้หลากหลายเหมือนกับเกมสไตล์ลูตเตอร์ (อย่างเช่น Diablo หรือ Destiny) โดยแท้ แม้จะมีอาวุธราว 20 รูปแบบ แต่อาวุธและเครื่องแต่งกายแต่ละรูปแบบที่ผู้เล่นจะได้รับจากศัตรูมันจะมีค่าสถิติเหมือนกันหมดโดยไม่มีการสุ่มค่าสถิติเสริมเติมแต่งใดๆ มาเพิ่ม ซึ่งการที่จะเพิ่มขีดความสามารถของอาวุธก็ทำได้เพียงแค่การนำมันไปอัปเกรดโดยตรงที่สามารถเพิ่มเติมได้เพียงแค่ความแรงเท่านั้น

the ascent gunplay

แต่อย่างไรก็ดีเกมก็เพิ่มความหลากหลายด้วยอุปกรณ์เสริมมาให้เราได้ใช้งานไม่ว่าจะเป็น ระเบิดรูปแบบต่างๆ ทั้งระเบิดคลื่นไฟฟ้า, ระเบิดคลื่นกระแทก ไปจนถึงป้อมปืนกลอัตโนมัติ และชุดหุ่นยนต์ ซึ่งเกมยังได้เพิ่มระบบการปรับแต่งองค์ทรงเครื่องตัวละครอย่างระบบช่องใส่การดัดแปลง (Augmentation) ที่มาช่วยเสริมการพัฒนาตัวละคร โดยแบบออกเป็นช่องใส่ “Aug” ที่จะมอบสกิลกดใช้ต่างๆ เช่น การเรียกหุ่นยนต์แมงมุมระเบิดมาช่วยสู้ หรือทำให้กระสุนที่ยิงออกไปเป็นกระสุนติดตามเป้าหมาย ไปจนถึงการมาร์กตัวศัตรูให้ตัวระเบิดตอนตายก็มี โดยช่องการดัดแปลงอีกช่องหนึ่งจะถูกเรียกว่า “Mod” ที่จะเป็นการเสริมความสามารถพาสซีฟต่างๆ เช่นการทำให้ตัวละครสามารถพุ่ง (แดช) ได้ หรือการเพิ่มความเร็วในการฟื้นฟูพลังชีวิตจากไอเทมตามฉากเป็นต้น ซึ่งเกมก็ประเดประดังศัตรูมาหลากหลายรูปแบบให้เราได้ใช้ความสามารถเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่และสนุกตึงมือเลยทีเดียว

แม้ระบบการเล่นของ The Ascent จะไม่ได้ลึกเหมือนอย่างที่เกมแอ็กชันสวมบทบาทควรเป็น และลูกเล่นอย่างการยิงข้ามสิ่งกีดขวางเองก็ดูธรรมดาดาษดื่น แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้มันเหนือกว่าเกมในรูปแบบเดียวกันก็คือการออกแบบฉากและสร้างฉากหลังไซเบอร์พังค์ที่ราวกับหลุดมาจากงานคอนเซปต์อาร์ตที่สามารถเล่นได้ ด้วยการที่เกมลึกที่จะยึดติดมุมกล้องไว้ในการนำเสนอก็ทำให้ทีมงานสามารถจัดเต็มใส่รายละเอียดต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

the ascent background

ทั้งแสงสีนีออนต่างๆ เมืองที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ตึกระฟ้าประติมากรรมที่เป็นฉากหลัง ฝนที่ตกลงมาตามสไตล์ฟิล์มนัวร์ พื้นผิวที่สะท้อนแสงไฟ และความสับสนอลหม่านจากการแสดงผลทางด้านฟิสิกส์ ทั้งจากการยิงต่อสู้หรือเอฟเฟกต์การระเบิด และการใช้ความสามารถจากสกิลต่างๆ หรือแม้แต่แอนิเมชันของเหล่าจักรกลในโลกอันเสื่อมโทรมสวนทางกับเทคโนโลยีที่เป็นฉากหลัง ที่จะบอกว่ามันเป็นเกมยิงก้านคู่ที่มีมุมมองจากด้านบนที่มีการออกแบบงานภาพสวยที่สุดในเวลานี้ก็ว่าได้อย่างเต็มปาก แม้จะไม่ได้มีความหลากหลายทางทัศนียภาพมากนักแต่ในจังหวะที่มันต้องการโชว์งานภาพมันก็ทำได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งเกมก็ไม่ได้เพลย์เซฟด้วยการสร้างฉากขนาดเล็ก แต่กลับเลือกที่จะสร้างเป็นแผนที่ขนาดใหญ่แบบเปิดกว้าง ที่มีการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ถึงกันอีกด้วย

แต่ The Ascent ก็ควรจะเป็นเกมที่ดีกว่านี้ หากไม่นับระบบการเล่นอันแสนตื้นเขินที่สามารถต่อยอดไปได้อีก เกมกลับยังมาพร้อมด้วยปัญหาทางด้านเทคนิคอันน่ากวนใจมากมายๆ โดยเฉพาะบั๊กจากเควสต่างๆ ที่บ่อยครั้งเราจะไม่สามารถทำไซด์เควสข้ามลำดับได้ เช่นในตอนที่สำรวจฉากผู้เขียนเดินสำรวจไปเจอไอเทมในกล่องๆ หนึ่งที่เป็นไอเทมทั่วไป แต่กล่องไอเทมที่ว่านี้กลับเป็นกล่องสำหรับเป็นทริกเกอร์เพื่อจบไซด์เควสที่ได้รับมาในภายหลัง แทนที่เกมจะจบเควสให้ทันที กลับกลายเป็นว่าผู้เขียนต้องเดินทางทำภารกิจเก็บของในกล่องใบนั้นใหม่อีกครั้ง แต่เจ้ากรรมไอเทมดังกล่าวกลับไม่โผล่กลับมาให้เก็บได้อีก จนกลายเป็นว่าไซด์เควสไม่สามารถทำต่อไปได้

นอกจากนี้ในไซด์เควสบางเควสจะไม่สามารถทำได้เพราะประตูจะไม่เปิดเมื่อถึงเนื้อเรื่องที่กำหนด (ซึ่งขัดแย้งกับระบบนำทางที่บ่งชี้ว่ามันสามารถทำได้) หรือและก็มีบางครั้งที่ผู้เขียนกำจัดศัตรูที่เป็นเป้าหมายหรือส่งของตามเงื่อนไขไปแล้ว แต่เกมกลับไม่ทริกเกอร์จบเควสและต้องแก้ไขโดยการโหลดเกมขึ้นมาใหม่และเล่นตั้งแต่ต้นก็มี และยังไม่นับรวมบั๊กจิปาถะต่างๆ ที่เยอะเสียจนไม่แน่ใจว่าผู้เขียนเล่นไม่ถูกขั้นตอนหรือมันเป็นบั๊กของเกมกันแน่ ซึ่งเกมก็ยังมาพร้อมกับระบบการนำทั้งระบบการนำทางที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และยังมาพร้อมกับแผนที่อันสุดงงงวยประหนึ่งเล่นเกมแก้ปริศนาอีกด้วย

the ascent player

อันที่จริงแล้ว The Ascent เป็นเกมยิงมุมมองจากด้านบนที่วางรากฐานงานสร้างได้อย่างน่าสนใจ แต่ตัวเกมถูกจำกัดด้วยการออกแบบตามสไตล์เกมฟอร์มเล็กที่เนื้อหาที่มีเกมการเล่นราว 10 กว่าชั่วโมงที่ส่งผลให้ระบบของตัวเกมตื้นเขินและธรรมดาจนน่าใจหาย ผิดกับงานภาพและการสร้างโลกที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเกินหน้าเกินตาเกมแถวหน้าในยุคนี้ ประกอบกับปัญหาทางด้านเทคนิคอันสุดแสนกวนใจหลายประการ The Ascent จึงลงเอยด้วยการเป็นเกมยิงที่พอเล่นได้สนุก มีความท้าทายให้ได้พอเผชิญอยู่บ้าง แต่ครั้นขึ้นเครดิตว่าจบแล้วก็เป็นอันว่าจบกัน

5/10
Total Score
Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share