State of Decay 2 คือเกมที่ทำให้ผู้เขียนเหมือนได้สัมผัสโลกเกมแบบซีรีส์ The Walking Dead ได้อย่างแท้จริง แม้มันจะเป็นเกมที่มีสเกลไม่ได้ใหญ่โตมากนัก งานสร้างก็ไม่ได้อยู่ในระดับขั้นของความเป็นเกม AAA เหมือนเกมอย่าง Days Gone แต่มันก็ให้ความพึงพอใจในการมารับบทเป็นเหล่าผู้รอดชีวิตท่ามกลางโลกหลังหายนะที่เต็มไปด้วยเหล่าซอมบี้ แต่อย่างไรก็ดีด้วยความคาดหวังจากการเป็นแฟนเกมในภาคแรกการมาของ State of Decay 2 เองก็ยังเต็มไปด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่สร้างความผิดหวัง และมันก็ทำให้ผู้เขียนอดเสียดายไปเสียมิได้ที่จะได้เห็นมันออกมาเป็นเกมที่ดีกว่านี้
State of Decay 2 เป็นเกมภาคต่อผลงานของทีมพัฒนา Undead Labs ที่เคยออกวางจำหน่ายเกมภาคแรกออกมาในปี 2013 และมันก็เป็นหนึ่งในเกมม้ามืดที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ด้วยความง่ายในการเข้าถึงความรู้สึกในการเอาชีวิตรอดประหนึ่งการรับบทบาทสมมติ ราวกับอยู่ในโลกของทีวีซีรีส์อย่าง The Walking Dead อีกทั้งมันยังเป็นเกมที่มีความทะเยอทะยานเกินกว่าขนาดของสตูดิโออยู่พอสมควรที่เดียวที่กล้านำเสนอโลกเกมเอาตัวรอดแบบเปิดกว้างในยุคที่เกม Open World เช่นเดียวกับเกมจากค่ายยักษ์ใหญ่หลายๆ เจ้าที่เริ่มการเป็นกระแสและเริ่มล้นตลาดออกมาเป็นจำนวนมาก
และด้วยเวลาที่ผ่านมาหลายปีการกลับมาอีกครั้งของ State of Decay 2 จึงทำให้มันมีหลายสิ่งที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากเกมในภาคแรก โดยเฉพาะในส่วนของงานภาพและการออกแบบ แต่กลไกหลักของการเป็นเกม State of Decay ก็ยังคงอยู่เช่นเดิมจนแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันใด ในเกมนั้นผู้เล่นจะได้รับบทเป็นเหล่าชุมชนกลุ่มผู้รอดชีวิตที่จะต้องบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร, เวชภัณฑ์, วัสดุก่อสร้าง, อาวุธยุทโธปกรณ์, น้ำมัน และอื่นๆ เพื่อให้เอาชีวิตรอดผ่านแต่ละวันไปให้ได้
ซึ่งการที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรเหล่านั้น ผู้เล่นจำเป็นที่จะต้องออกไปเสี่ยงตายค้นหามันจากสถานที่ต่างๆ ที่คลาคล่ำไปด้วยเหล่าซอมบี้ และนอกจากการหาทรัพยากรแล้ว เกมก็ยังมีภารกิจอื่นๆ มาให้เราได้ทำอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดีเราจะไม่สามารถใช้ตัวละครตัวเดียวเล่นไปจนจบเกมได้ เพราะตัวละครที่เรารับบทอยู่นั้นจะมีความเหนื่อยล้าและมีอาการบาดเจ็บกลับมาจากการออกสำรวจได้ รวมไปถึงมันยังมีโอกาสที่พวกเขาจะติดเชื้อที่ทำให้กลายเป็นซอมบี้ไปเสียเองอีกด้วย ซึ่งเกมก็มีกลไกที่จะมาทำหน้าที่ในการบีบบังคับให้เราจำเป็นที่จะต้องสลับสับเปลี่ยนการควบคุมไปยังอีกตัวละครที่อยู่ในชุมชนแทน โดยที่ตัวละครที่เหนื่อยล้าก็จะกลับไปพักผ่อนหรือรอการรักษาที่ฐานทัพของเราเพื่อรอให้เรานำเขาออกไปใช้งานกันอีกครั้งแทนที่ตัวละครอื่นๆ ที่ต้องสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเพื่อช่วยให้เอาชีวิตรอดไปได้
Same Game Sequel
อันที่จริงหากว่ากันตามตรงแล้วกลไกหลักของเกม State of Decay 2 แทบจะเหมือนเกมภาคต้นฉบับของมันแทบทุกประการ โดยส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือการเกมการเล่นมัลติเพลเยอร์แบบ co-op ที่แฟนเกมแรกได้เรียกร้องเป็นอย่างมากให้มันมีการนำมาใส่ในเกมภาคนี้ และมีภารกิจในการต่อสู้ที่เพิ่มขึ้นมาเล็กๆ น้อยๆ เช่นการออกไปทำลาย “Plague hearts” ที่เป็นแหล่งกำเนิดซอมบี้ตัวอันตรายที่สามารถแพร่เชื้อใส่ผู้เล่นได้ แต่โดยใจความหลักแล้วมันก็ยังเป็นเกม State of Decay ในแบบเดิมๆ คือการที่เราจะต้องออกไปฆ่าซอมบี้, ค้นหาข้าวของ และก็กลับมาบริหารจัดการชุมชนของเรา ที่ก็ไม่ได้มีอะไรให้จัดการกันมากนัก
แต่ถึงใจความหลักของมันจะไม่ได้แตกต่างออกไปจากเดิม แต่ในแง่คุณภาพโดยรวม State of Decay 2 ก็มีการปรับปรุงขึ้นมาจากเกมในภาคแรกอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของการต่อสู้ที่มันได้รับการขัดเกลาแอนิเมชันให้มีความลื่นไหลมากขึ้น ทั้งการเหวี่ยงอาวุธโจมตีแบบปกติ การลอบสังหารเหล่าซอมบี้ ซึ่งอาวุธแต่ละรูปแบบก็ยังมีท่วงท่าและน้ำหนักที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ดีถึงแม้ตัวผู้เขียนจะบอกว่ามันได้รับการปรับปรุงให้มีความลื่นไหลก็จริง แต่มันก็ยังอยู่ในขอบเขตของการเป็นเกมจากทีมพัฒนาขนาดเล็ก และก็แน่นอนว่ายังไม่สามารถเทียบชั้นกับเกม AAA จากค่ายยักษ์ใหญ่ได้แน่ๆ รวมไปถึงในส่วนของการต่อสู้ด้วยอาวุธปืน และการขับขี่ยานพาหนะในเกมมันก็ยังทำได้ในระดับที่พอถูไถให้พอจะมีในเกมได้เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่จนถึงขนาดที่สร้างความรำคาญแต่อย่างใด
Surviving the tedious
นอกจากการออกค้นหาทรัพยากรต่างๆ แล้วในตัวเกมจะมีภารกิจอื่นๆ ออกมาให้เราได้ทำด้วย ตัวอย่างเช่นหากเราต้องการหาสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาในชุมชน เราก็จะต้องทำภารกิจเพื่อค้นหาเหล่าผู้รอดชีวิตผ่านวิทยุ และก็จะต้องช่วยเหลือพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้พวกเขาอยู่ในสถานะที่เป็นมิตรพอที่จะชักชวนให้มาอยู่ในชุมชนได้นั่นเอง โดยที่ความสนุกของการค้นหาตัวละครเหล่านี้ก็คือพวกเขาจะเกิดขึ้นจากการสุ่มของระบบเกม ที่จะทำให้ในแต่ละครั้งที่เริ่มเกมใหม่ เราอาจจะได้เจอตัวละครที่เกิดจากการสุ่มใหม่ และพวกเขาก็จะมีค่าความถนัดที่แตกต่างออกไปจากเดิม
โดยความถนัดของตัวละครแต่ละตัวอาจแบ่งออกเป็นความถนัดสองอย่าง นั่นคือความถนัดใน “ด้านการต่อสู้” และความถนัดใน “ด้านที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือชุมชน” ตัวอย่างเช่น หากเราใช้ตัวละครตัวหนึ่งยิงปืนบ่อยๆ เขาก็จะมีความถนัดในการยิงปืนที่มากขึ้นส่งผลให้ตัวละครตัวนั้นอาจจะมีความสามารถใหม่ปลดล็อกออกมา เป็นความสามารถในการเล็งยิงศัตรูอย่างรวดเร็ว หรือตัวละครที่ใช้ดาบบ่อยๆ ก็จะได้รับความสามารถที่ทำให้พวกเขาตัดสิ้นส่วนอวัยวะของเหล่าซอมบี้ได้เป็นต้น โดยในส่วนของความสามารถเกี่ยวกับชุมชนนั้นก็จะทำให้เราสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง เช่นการจะสร้างสวนปลูกผักในระดับสูงนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีตัวละครที่มีทักษะด้านการทำสวนอยู่ในชุมชนถึงทำการอัปเกรดสวนผักธรรมดาให้เป็นระดับที่สูงขึ้น แต่ถึงกระนั้นแล้วหลังจากเล่นไปได้สักพักหนึ่งผู้เขียนผู้รู้สึกได้ว่ามันก็มีความสามารถหรือความถนัดเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น
Your Leader Your Own Game
ตัวละครแต่ละตัวในเกมยังมาพร้อมกับอุปนิสัยที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ดีอุปนิสัยของตัวละครนั้นแทบจะไม่ได้ส่งผลต่อตัวเกมอย่างที่ควรจะเป็นมากนัก นอกไปจากการที่พวกเขามักจะคอยทำให้ข้าวของในฐานทัพเสียหายในบางเวลา หรือไม่ก็มีเพียงแค่บทสนทนาสั้นๆ และด้วยการที่ตัวละครเหล่านี้เกิดขึ้นจากการสุ่ม เราจึงแทบจะไม่เห็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครด้วยกันอีกด้วย ซึ่งบทบาทที่แท้จริงของเรื่องราวนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหัวหน้าชุมชนที่ผู้เล่นเลือกซึ่งแบ่งออกไปตามสายต่างๆ ตัวอย่างเช่นหากผู้เล่นทำการเลือกผู้นำชุมชนเป็นสายนายอำเภอ “Sheriff” เกมก็จะมีภารกิจในสไตล์การต่อสู้และการไกล่เกลี่ยกับผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ มาให้เราได้ทำ และยังได้เป็นการปลดล็อกโรงพยาบาลสนามมาให้เราได้สร้างในฐาน ซึ่งเกมมีสายของผู้นำทั้ง Builder, Warlord และ Trader ซึ่งในแต่ละสายก็จะนำไปสู่การปิดฉากเรื่องราวในสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป
แต่ถึงแม้มันจะมีหลากหลายหนทางที่สามารถจบเกมได้แต่ภารกิจต่างๆ ของเกมกลับให้ความรู้สึกซ้ำซากและน่าเบื่อ ด้วยการที่มันเป็นเกมเอาชีวิตรอดที่ทุนสร้างไม่ได้สูงมากนัก มันจึงทำให้ทันทีที่เกมสอนในส่วนของ Tutorial จบลง เลยกลายเป็นว่าตัวเกมได้เสนอทุกองค์ประกอบที่มีไปหมดแล้ว และนั่นก็หมายความว่าสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือการเล่นเกมแบบวนลูปในรูปแบบเดิมๆ ที่ให้เกิดความรู้สึกซ้ำซาก จนหลายครั้งความเพลิดเพลินก็กลายเป็นความน่าเบื่อเพราะไม่ว่ามันจะเป็นภารกิจในรูปแบบไหน มันก็มีเพียงแค่การขับรถออกไป, ฆ่าซอมบี้, ค้นข้าวของและก็กลับฐานเท่านั้น โชคยังดีอยู่บ้างที่ด้วยความไดนามิกแบบโลกเปิดมันจึงทำให้ในบางครั้ง เราก็อาจเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นตัวละคร NPCs บางตัวอาจจะเป็นตัวละครที่คอยดักปล้นเรา หรือไม่บางครั้งมันก็มีเจ้า Juggernauts ตัวยักษ์เข้ามาแจมในระหว่างการทำภารกิจเป็นต้น
แต่สักพักหนึ่งความไดนามิกของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เริ่มจะซ้ำซากในเวลาอันรวดเร็วจนบางทีตัวผู้เขียนก็แทบอยากจะเล่นให้มันจบๆ ไปเสียจะดีกว่า เพราะภารกิจหลักของเกมก็มีเพียงแค่ไม่กี่ภารกิจ นอกจากนี้ไม่ว่าผู้เล่นจะเลือกสายผู้นำแบบไหน เกมก็จะมีภารกิจในการให้ผู้เล่นออกไปกำจัด “Plague hearts” ตามแผนที่ให้หมดเป็นภารกิจหลัก และมันก็น่าจะเป็นการทำภารกิจที่ใช้เวลานานที่สุดในเกมการเล่นแต่ละครั้งแล้ว แต่ท่ามกลางความซ้ำซากและจำเจมันก็มีบางภารกิจที่เป็นการกล่าวถึงเนื้อหาปูมหลังที่น่าสนใจอยู่บ้าง และก็ต้องบอกว่าเกมได้เพลงประกอบจาก เยสเปอร์ คิด (Jesper Kyd) มาช่วยเพิ่มความตื่นเต้นในการทำภารกิจต่างๆ เอาไว้ได้อยู่พอสมควร
สำหรับในส่วนของการบริหารจัดการชุมชน มันก็ไม่ได้มีอะไรที่ลึกมากไปกว่าการสร้างสิ่งปลูกสร้างให้ตรงกับสิ่งที่ขาด ตัวอย่างเช่นหากชุมชนของเราขาดแคลนอาหาร เราก็จะต้องสร้างสวนผักหรือโรงครัวขึ้นมา หากขาดแคลนไฟฟ้าก็สร้างเครื่องปั่นไฟ หรือขาดน้ำก็สร้างที่กักเก็บน้ำฝันเป็นต้น หรือจะไปทำการยึด Outpost ต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามแผนที่ก็ได้ซึ่ง Outpost เหล่านี้ก็จะคอยให้ทรัพยากรนั้นๆ กลับมาโดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ดีการจะสร้างหรือยึด Outpost มันก็มีช่องว่างที่จำกัดตามแต่สถานที่ที่ผู้เล่นเลือกตั้งเป็นฐานทัพขึ้นมานั่นเอง
Dead is Permanent
อย่างไรก็ดีตัวเกม State of Decay เหมือนจะถูกออกแบบมาให้เราเล่นหลายรอบ ด้วยกลไกกึ่งการเป็นเกมแนว Roguelike ที่หากตัวละครใดๆ ตายพวกเขาจะไม่มีวันได้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีก ซึ่งด้วยการที่เกมสุ่มตัวละครในแต่ละครั้งมาให้มันจึงทำให้กลไกการตายถาวรนี้ให้มีความสำคัญมากขึ้น และเมื่อเราเล่นจบเกมหนึ่งรอบเราก็จะสามารถนำเอาตัวละครจากการเล่นในรอบแรกที่เราเลือกไปเล่นในรอบต่อไปก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นการเล่นในแผนที่ใหม่ (ซึ่งแต่ละแผนที่ก็จะมีภูมิประเทศที่สร้างความแตกต่างให้กับเกมการเล่นเล็กๆ น้อยๆ ด้วย) หรือที่ระดับความยากที่สูงขึ้นไปกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ดีการเล่นรอบใหม่นั้นมันก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นนอกจากเราจะเลือกแนวทางของผู้นำชุมชนที่แตกต่างออกไปจากเดิม
จากประสบการณ์ในการเล่นแบบ Normal ของผู้เขียนต้องบอกว่าการต่อสู้ในเกมเองก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่ยากเย็นมากนักแต่มันก็บ่อยครั้งที่การเตรียมตัวไม่ดีพอทำให้ตัวละครบางตัวของผู้เขียนต้องจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ แต่ในส่วนของการจัดการทรัพยากรก็ต้องบอกว่ามันแทบจะไม่มีการขาดตกบกพร่องจนเหลือกินเหลือใช้ ซึ่งที่ระดับความยากที่สูงขึ้นมันอาจจะทำให้การเล่นในส่วนนี้มีความท้าทายในการเอาชีวิตรอดให้มากขึ้นแต่แน่นอนว่ามันก็ต้องแลกมาด้วยการทำภารกิจอันซ้ำซากในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนผิดหวังก็คือเกมความหลากหลายของตัวละครและการปรับแต่งที่น้อยมาก แม้เกมจะมีระบบสุ่มตัวละครมาก็จริงแต่บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นตัวละคร NPCs ที่หน้าตาราวกับพี่น้องฝาแฝดที่คลานตามกันมา ซึ่งน่าเกมน่าจะมีแพทเทิร์นหลักๆ อยู่เพียงแค่ 3-4 รูปแบบเท่านั้น และด้วยการปรับแต่งที่น้อยมาก มันก็ทำให้เป็นการยากที่จะสร้างเอกลักษณ์ให้กับตัวละครแต่ละตัวอย่างที่เราต้องการ โดยสิ่งที่เราทำการปรับแต่งได้ก็มีเพียงแค่ชุดและหมวกที่ใส่เท่านั้น และมันก็ยังมีรูปแบบที่น้อยมากอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนกันเวลาที่เราค้นพบตัวละครที่มาพร้อมกับความสามารถสุดเทพ แต่หน้าตากลับดันเหมือนกับตัวละครสุดกากและเพื่อนบ้านผู้รอดชีวิตของเราไปเสียอย่างนั้น
Multiplayer for fist time
สำหรับแฟนเกมจากภาคแรกที่รอคอยการมาของระบบมัลติเพลเยอร์ในภาคนี้ก็ต้องบอกว่ามันอาจจะไม่ได้มาตอบโจทย์อย่างที่เราคาดหวัง เพราะเกมไม่ได้มีการให้ผู้เล่นมาสร้างชุมชนร่วมกัน แต่มันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นคนอื่นๆ เข้ามาร่วมเล่นในโลกของเรานั่นเอง ซึ่งนอกจากการมาร่วมแบ่งปันทรัพยากรบางอย่าง และต่อสู้ซอมบี้ร่วมกันแล้ว มันก็ไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์อื่นๆ แต่อย่างใด แต่เกมก็ได้เพิ่มเติม hoard mode ที่ชื่อว่า “Daybreak” มาให้เราได้ร่วมเล่นกับเพื่อนได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น แต่มันก็ไม่ได้มีความลึกมากพอที่จะเป็นเกมมัลติเพลเยอร์อย่างเต็มตัว
แต่ถึงแม้ State of Decay 2 จะเต็มไปด้วยความผิดหวังแต่ก็ต้องบอกว่ามันไม่ใช่เกมที่แย่ หากใครที่ชอบเล่นเกมแนวนี้หรือเกมของ Ubisoft มาก่อนก็น่าจะมองข้ามผ่านความซ้ำซากของ State of Decay 2 ไปได้อย่างไม่น่าติดขัด เช่นเดียวกับตัวผู้เขียนที่ก็ตามเล่นเกมของ Ubisoft มาแทบทุกเกม แม้มันจะเป็นเรื่องที่ชวนให้บ่นอยู่ในบ้างในส่วนของความจำเจ แต่สุดท้ายด้วยความที่มันเป็นเกมง่ายๆ ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ มันก็สามารถกล่อมให้ผู้เขียนพอจะเล่นไปได้เพลินๆ แต่หากมองในแง่ของศักยภาพมันก็น่าเสียดายไม่น้อยที่มันน่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้ ให้สมกับการเป็นเกมภาคต่อที่มาเติมเต็มส่วนที่เกมในภาคแรกได้ขาดหายไป
สุดท้ายนี้ทางทีมงาน Undead Labs เองก็ยังให้การสนับสนุนตัวเกมอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่พวกเขาได้มีการอัปเกรดตัวเกมเป็น State of Decay 2: Juggernaut Edition ในวาระการกลับมาวางจำหน่ายบน Steam พวกเขาก็ยังมีการปล่อยโหมดใหม่อย่าง Green Zone ออกมาซึ่งมันคือระดับความยากใหม่ของตัวเกมนั่นเอง ที่เหมาะสำหรับผู้เล่นที่ไม่ต้องการความท้าทายในการต่อสู้กับเหล่าซอมบี้มากนัก และนอกจากนี้ในเวอร์ชันของ Juggernaut Edition ทางทีมงานก็ยังได้มีการใส่ส่วนเสริม Heartland เข้ามาให้ได้เล่นกันฟรีๆ อีกด้วย ซึ่งส่วนเสริมนี้จะเป็นการพาผู้เล่นกลับไปยังแผนที่ในเกมภาคแรก และมันก็จะเน้นไปที่การเล่าเรื่องและการพาเราไปทำความรู้จักกับเรื่องราวปูมหลังในโลกของ State of Decay มากกว่าเกมการเล่นแบบปกติ ซึ่งทางทีมงานยังสัญญาอีกด้วยว่าพวกเขาจะมีการอัปเดตเนื้อหาใหม่ๆ มาให้กับตัวเกมอีกอย่างแน่นอน