Gears 5 – Review ความเก่าก็ยังไม่ไปความใหม่ก็มานิดเดียว

หากย้อนกลับทศวรรษก่อนหน้า Gears of War คือหนึ่งในเกมที่เป็นหัวหอกหลักในการขับเคลื่อนแวดวงอุตสาหกรรมเกม ภายใต้การบัญชาการของ Epic Games ผู้สร้างเอนจินเกมอันทรงพลังอย่าง Unreal Engine ที่ได้ทำการผลักดันขีดสุดของความสามารถทางด้านกราฟิก(ในยุคนั้นที่มันวางขาย) ให้เราได้สัมผัส ทั้งยังได้นำเสนอรูปแบบการเล่นด้วยความเป็นแอ็กชันในมุมมองบุคคลที่สามกับการยิงต่อสู้พิงกำบัง (cover-based) ที่ทำให้เราได้รู้สึกราวกับอยู่ในภาพยนตร์แอ็กชันบล็อกบัสเตอร์จากฮอลลีวูด สองสิ่งสำคัญนี้ได้ทำให้เราปฏิเสธแทบไม่ได้เลยว่ามันคือหลักไมล์อันสำคัญอย่างมากของวงการวิดีโอเกมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้กาลเวลาผ่านได้เลยผ่านทศวรรษไปแล้ว ชื่อของ Gears of War ยังคงโลดเล่นอยู่ในแวดวงอุตาสหกรรมเกม ผ่านเกมภาคหลัก 4 ภาคและภาคแยกอีกหนึ่ง รวมไปถึงเกมจากแรงบันดาลใจจากค่ายเกมอื่นๆ อีกมากมาย และในภาคที่ 5 นี้ทางทีมงาน The Coalition ทีมพัฒนาผู้ซึ่งรับไม้ต่อจาก Epic Games มาตั้งแต่ภาคก่อนหน้า ก็ได้ตัดสินใจในการรีแบรนด์แฟรนไชส์นี้ให้กลายเป็นชื่ออันแสนสั้นกระชับที่ทุกคนต่างเข้าใจได้ตรงกัน กับการมาของ Gears 5 ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพียงแค่ชื่อเท่านั้น แต่มันก็ยังได้นำทิศทางใหม่ๆ มาให้กับแฟรนไชส์ที่ติดหล่มอยู่ในความสำเร็จอันยาวนานนี้อีกด้วย

Narrative

แม้มันจะถูกรีแบรนด์ชื่อจาก Gears of War มาเหลือเพียงแค่ Gears แต่เรื่องราวใน Gears 5 นั้นก็ยังคงดำเนินเรื่องต่อจากมหากาพย์ใหม่ของทีมงาน The Coalition ต่อเนื่องจาก Gears of War 4 เพื่อสะสางเรื่องราวและปมที่ทิ้งค้างไว้ในเหตุการณ์จากภาคที่แล้วที่เกมได้แนะนำเหล่าตัวละครหลักชุดใหม่ของแฟรนไชส์ทั้ง James Dominic ‘JD’ Fenix ลูกชายของ Marcus Fenix ตัวละครเอกจากเกมทั้ง 3 ภาคแรก, Delmont ‘Del’ Walker มิตรสหายของ JD และ Kait Diaz ลูกสาวจากชนเผ่า Outsider ที่ได้กลายมาเป็นตัวละครนำหลักใน Gears 5

Kait, Marcus, Del และ JD (จากซ้ายไปขวา) สี่ตัวละครหลักที่มีบทบาทสำคัญในภาคนี้

เหตุการณ์ใน Gears 5 จะเล่าเรื่องราวหลังจาก Gears of War 4 เป็นเวลาไม่กี่ปี Kait ในตอนนี้ได้กลายเป็นสมาชิกของกองทัพ COG (The Coalition of Ordered Governments) ร่วมกับ JD และ Del ทั้งสามมีเป้าหมายสำคัญในภาคนี้ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อช่วยเหลือ Damon S. Baird สหายเก่าของ Marcus ในการคืนชีพอาวุธอันทรงพลังที่รู้จักกันในนามของ ‘Hammer of Dawn’ ดาวเทียมที่สามารถยิงแสงเลเซอร์อานุภาพสูงให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง เพื่อใช้ในการต่อกรกับเหล่า Swarm หรือเหล่าอสูรร้าย Locust ที่ได้วิวัฒนาการตัวเองขึ้นไปอีกขั้น จากการที่พวกมันได้กลับมาอีกครั้งหลังจากพ่ายแพ้ให้กับเหล่ามนุษยชาติจากเหตุการณ์ในเกม Gears of War 3 แต่แล้วภารกิจในการกอบกู้ดาวเทียมก็กลับกลายเป็นเรื่องราวที่สร้างความขัดแย้งให้กับเหล่าตัวละคร และได้นำพาไปสู่การค้นพบเรื่องราวในอดีตของ Kait และแม่ของเธอ (ปรากฏตัวในภาคที่แล้ว) ที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามอันยาวนานบนผืนดาว Sera อย่างไม่คาดคิด

หายย้อนกลับไปสักนิดสิ่งหนึ่งที่การเล่าเรื่องใน Gears of War 4 ยังทำได้ไม่ดีดังเช่นเกมในภาคก่อนๆ ก็คือมิติของตัวละครที่ขาดเสน่ห์ แม้ JD จะเป็นลูกชายของนักรบระดับตำนานอย่าง Marcus Fenix แต่เขาก็ไม่ได้ฉายแววอะไรให้เราได้เห็นมากนัก และนั่นก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ทางทีมงาน The Coalition ตัดสินใจเปลี่ยนตัวละครเอกมาเป็น Kait Diaz แทนที่ใน Gears 5 ซึ่งในเหตุการณ์จากเกมภาคที่แล้วมันก็ได้มีการปูปมความขัดแย้งในตัวเธอเอาไว้แล้วเพื่อมาสานต่อเรื่องราวในเกมภาคนี้ พร้อมทั้งยังได้สร้างเรื่องราวในมิติเชิงลึกให้กับทั้ง JD และ Del ให้เป็นตัวละครที่น่าสนใจและมีรายละเอียดที่น่าจดจำมากขึ้น และยังได้นำไปสู่ฉากจบที่ไม่คาดคิดและน่าสะเทือนใจอีกด้วย

gears 5 kait
แม้จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวละครหลักจากเกมไตรภาคแรก แต่ Kait ก็ได้กลับกลายเป็นส่วนสำคัญในมหากาพย์ใหม่ของ The Coalition ได้อย่างน่าสนใจ

แต่ถึงแม้มันจะมีการสร้างมิติและความขัดแย้งให้กับเหล่าตัวละครนำหลักชุดใหม่นี้ สิ่งที่ Gears 5 และทีมงาน The Coalition ยังคงประสบปัญหาอยู่เสมอก็คือการผูกปมของตัวละครเข้ากับเนื้อเรื่องหลักที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด แม้กระทั่งปมเรื่องของ Kait ตัวเอกของเรื่องในภาคนี้เองก็ด้วยที่น่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้ และอีกหนึ่งปัญหาก็คือแม้เกมจะมีความยาวในการเล่นด้วยชั่วโมงและความหลากหลายที่มากขึ้น แต่เรื่องราวในมหากาพย์ใหม่ของทีมงาน The Coalition มันก็ดูเหมือนจะมีเพียงแค่นิดเดียวราวกับเอาเนื้อหาในเกมภาคเดียวมาหั่นแบ่งออกเป็นหลายๆ ภาค จากการเป็นหนังฮอลลีวูดที่เคยจัดเต็มจากเกมในไตรภาคแรกมันก็กลายเป็นการดูซีรีส์แบบตอนต่อตอน แม้จะไม่น่าเบื่อแต่ก็ดูได้ไม่เต็มอิ่มแถมยังเต็มไปด้วยความค้างคาในหลายๆ อย่างอีกด้วย

Direction

Gears 5 เป็นครั้งแรกของแฟรนไชส์ที่มีการนำเสนอเกมการเล่นที่มีความเปิดกว้างมากขึ้นในสไตล์ free roam ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นออกสำรวจทำภารกิจรองต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ของตัวเกมตั้งแต่ Act ที่ 2 ไปจนถึง Act ที่ 3 จากเนื้อเรื่องหลักทั้งหมด 4 Act ที่เกมมี และด้วยความอิสระที่เกมมอบให้นี้ มันก็ยังเป็นการเพิ่มขีดจำกัดของทีมงานในการใส่สิ่งใหม่ๆ เข้าไปยังระบบการต่อสู้ในรูปแบบเกมยิงมุมมองบุคคลที่ 3 หลังพิงกำแพง (cover-based shooter) ซึ่งนวัตกรรมใหม่ แต่หลายอย่างที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ค่ายเกมอื่นๆ ได้ก้าวล้ำ Gears 5 มาเป็นเวลาช้านานแล้ว

กลไกการต่อสู้หลักใน Gears 5 ก็ยังคงเป็นเกมยิงมุมมองบุคคลที่สามเดินหน้าท้าลุยตามสไตล์ดั้งเดิมของตัวเกมที่เน้นความสะใจและความรุนแรงแบบเต็มขั้น (แม้จะมีเสียงค่อนขอดในภาคหลังของ The Coalition ว่ามันลดถอยความรุนแรงอันเป็นเอกลักษณ์ลงอย่างเห็นได้ชัด) แต่หนึ่งในสิ่งใหม่ที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้นก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ทำการตัดสินใจในการเข้าปะทะกับเหล่า Swarm ที่หลากหลายยิ่งขึ้นกว่าเกม

gears 5 skiff
เจ้ารถเลื่อน Skiff คือยานพาหนะเพียงหนึ่งเดียวที่เราจะได้ใช้งานในการออกท่องไปยังพื้นที่เปิดของตัวเกม

เกมเปิดช่องให้ผู้เล่นสามารถทำการลอบเร้นและสังหารศัตรูจากระยะประชิดได้ พร้อมทั้งยังมีทักษะที่เกื้อหนุนแนวทางการเล่นจากตัวช่วยอย่าง Jack เจ้าหุ่นยนต์โดรนติดตามตัว ที่มาพร้อมกับความสามารถที่หลากหลาย และใช้ในการผ่านอุปสรรคในฉากเป็นบางครั้ง ตัวอย่างเช่นการสร้างเพิ่มพลังกายให้กับผู้เล่นชั่วคราวเพื่อต้านทานการโจมตีจากเหล่าศัตรูให้ทนทานได้ชั่วระยะ และใช้ในการผ่านพื้นที่ที่ถูกเพลิงไหม้ หรือเต็มไปด้วยก็าซพิษ แต่ก็น่าเสียดายที่สิ่งที่ถูกนำมาเพิ่มเติมเข้าไปนั้นมันกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้มากเท่าที่ควร เพราะกลไกหลักของเกมส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นการชะโงกยิงต่อสู้ผ่านที่กำบังอยู่เช่นเดิม ทั้งยังทำให้การเข้าปะทะในแต่ละครั้งของตัวเกมมีความไม่ต่อเนื่องไม่ดุเดือด ยิงได้ไม่ทันมันส์ความสนุกก็หมดแล้ว แต่อย่างไรก็ดีประหนึ่งว่าทีมงาน The Coaltition ก็เหมือนว่าจะรู้ได้ถึงปัญหานี้ พวกเขาจึงได้ทำการใส่โหมด Hoard และ Escape พร้อมเตรียมคอนเทนท์สนับสนุนในแบบเกมบริการ (live service) มาให้เราเล่นแก้เบื่อซึ่งก็ไม่ได้ดีอย่างที่มันเคยดี

Hoard และ Escape คือหนึ่งในจุดขายที่ทางทีมงาน The Coalition ภูมิใจนำเสนอเป็นอย่างมาก และก็ทำการโปรโมตทั้งสองโหมดนี้ยิ่งกว่าโหมดเนื้อเรื่องหลักของตัวเกม จุดประสงค์ของทั้งสองโหมดก็ตรงตามชื่อของมัน โดยโหมด Hoard ก็คือโหมดการเล่นในรูปแบบ Co-op ที่ผู้เล่นจะต้องรวมทีมต้านทานการบุกโจมตีในแต่ละระลอกของเหล่าศัตรูที่ทวีขุมกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่โหมดการเล่น Escape ก็คืออีกหนึ่งโหมด Co-op ที่ผู้เล่นจะต้องรวมทีมในการหลบหนีเหล่าศัตรูจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดให้ได้ทันเวลา

gears 5 escape
Escape คือโหมดการเล่นที่ให้ความรู้สึกแบบ Left 4 Dead ที่มาพร้อมกับตัวละครที่มีความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป

อันที่จริงแล้วสองโหมดการเล่นนี้มันก็สร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้เล่นที่ไม่ต้องการที่จะคิดอะไรมากได้อย่างตรงจุด แต่สิ่งที่ Gears 5 กลับทำได้อย่างย่ำแย่ก็คือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เล่นกลับมาเล่นโหมดการเล่นนี้เรื่อยๆ ในช่วงเวลานี้ที่เกมวางขาย ปัจจัยหลักเป็นเพราะระบบการพัฒนาตัวละครของ Hoard และ Escape ใน Gears 5 มันไม่มีความน่าสนใจเลยแม้แต่น้อย เราไม่สามารถเลือกได้แม้แต่เซตอาวุธที่อยากใช้งาน ทักษะและสิ่งต่างๆ ถูกผนึกไว้เข้ากับตัวละครที่เกมมีให้เพียงไม่กี่ตัว การปรับแต่งเองก็มีแค่การเปลี่ยนชุดสกินเท่านั้น

ซ้ำร้ายยิ่งกว่า กับตัวเลือกที่ส่งผลต่อเกมการเล่นเพียงอย่างเดียวที่ผู้เล่นสามารถปรับแต่งได้ ก็คือระบบ ‘การ์ดความสามารถพิเศษ’ ที่จะได้รับหลังผู้เล่นทำการสะสมค่าประสบการณ์จากการต่อสู้เพื่ออัปเลเวลของตัวละครเท่านั้น และยังมีอีกช่องทางอันแสนเลวร้ายกับระบบ Supply Drop หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของระบบ microtransaction ที่ผ่านการคิดคำนวณอย่างงงงวยในรูปแบบที่แทบจะไม่ได้ต่างจากเกมบนแพลตฟอร์มมือถือเลยแม้แต่น้อย เช่นเดียวกันกับ Versus โหมดการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นที่ก็ยังคงมาตรฐาน และโชคดีที่เกมรองรับระบบการเล่น cross-platform play นั่นจึงอาจจะยังทำให้ Gears 5 น่าจะยังมีผู้เล่นอยู่ในฐานจำนวนที่เยอะไปอีกสักระยะหนึ่งเลยทีเดียว

Visual & Sound Design

สิ่งหนึ่งที่ต้องชมสำหรับ Gears 5 และทีมงาน The Coalition ก็คือการที่พวกเขายังคงจัดการกับทรัพยากรที่มีได้เป็นอย่างดี และมีความเชี่ยวชาญในการใช้งาน Unreal Engine ที่ยากจะหาใครเทียบแม้กระทั่งตัวของ Epic Games เองก็ตาม แม้ฉากหน้าของ Gears 5 จะไม่ได้มีความพัฒนาที่มากขึ้นกว่า Gears of War 4 นัก แต่รายละเอียดหลายๆ อย่างได้ถูกปรับแต่งให้มีความเข้มข้นมากขึ้นทั้งยังสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างยอดเยี่ยมแม้กับบนเครื่อง PC ในสเปคกึ่งกลางต่ำที่อยู่บนท้องตลาดด้วยตัวเลือกในการปรับแต่งทางด้านค่ากราฟิกที่หลากหลาย

แต่นอกจากความเชี่ยวชาญในการใช้งานตัว Unreal Engine แล้วสิ่งหนึ่งที่ทางทีมงาน The Coalition พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนก็คือการจัดวางองค์ประกอบฉากที่ทำให้โลกของตัวเกมมีความน่าสนใจขึ้นเป็นอย่างมาก และยังมีความหลากหลายทางทัศนียภาพที่โดดเด่น ตั้งแต่โพรงถ้ำในภูเขา เมืองที่ถูกถล่ม เทือกเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะ ทะเลทรายแดงอันแห้งแล้ง พื้นที่ภายในอาคารต่างๆ ที่สิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ได้มีรายละเอียดของตัววัตถุที่มากมาย แต่ด้วยการจัดวางในสิ่งที่พวกเขามี มันก็ทำให้หลายๆ ฉากสามารถสร้างภาพให้ออกมาสวยงามได้อย่างน่าประทับใจ

ในด้านของเสียงประกอบ Gears 5 เองก็ยังอยู่ในระดับมาตรฐานเพลงธีมที่เคยใช้และเป็นเอกลักษณ์ของแฟรนไชส์ก็ยังคงทำหน้าที่ในแบบฉบับของมัน จะมีจุดติก็เพียงแค่เสียงของอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในเกมนั้นมันก็ยังเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่เกมภาคแรกมันกลับเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ Gears of War 4 มาจนถึงภาคนี้ จากที่เคยอยู่ในมาตรฐานของความบางเบามาแต่งแรกเริ่มแล้วอีกด้วย

Summary

Gears 5 คือความพยายามของทีมงาน The Coalition ในการดึงตัวของพวกเขาเองขึ้นมาจากหล่มตมแห่งความสำเร็จที่ยึดติดจากตัวของพวกเขาเองและแฟนเกมมาเป็นเวลานาน ด้วยการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน (เฉพาะกับแฟรนไชส์นี้) กับกลไกการเล่นที่ให้อิสระที่ (มากขึ้น) เรื่องราวของตัวละครที่เริ่มมีมิติ (มากขึ้น) ในทิศทางที่น่าสนใจ แต่มันก็เป็นเพียงแค่ผิวเผินเท่านั้นเพราะสิ่งต่างๆ ที่ถูกใส่เพิ่มเติมเข้ามา มันก็ยังไม่ได้ถูกใช้งานมากนักจนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในกลไกของเกมการเล่นได้เลย

Pros

  • เกมเพิ่มอิสระด้วยระบบ free roam ที่น่าสนใจ
  • เนื้อเรื่องมีการเชื่อมโยงเนื้อหาจากภาคก่อนๆ ได้ค่อนข้างดี
  • ตัวละครหลักมีการพัฒนาทางด้านมิติที่มากขึ้น
  • การจัดวางองค์ประกอบศิลป์ทำได้อย่างยอดเยี่ยม

Cons.

  • ระบบพัฒนาตัวละครในโหมด Multiplayer แย่
  • ระบบ microtransactions มีบทบาทเยอะเกินไป
  • การปรับแต่งต่างๆ ในโหมด Multiplayer ทำได้น้อยมาก
  • เนื้อเรื่องหลักยังไม่มีความก้าวหน้ามากเท่าที่ควร
  • เสียงประกอบในเกมยังคงย่ำแย่เช่นที่ผ่านมา
Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share