ย้อนกลับไปสักราว 20 ปีก่อน เป็นการยากมากที่เราจะจินตนาการถึงรูปแบบของเกมแอ็กชันอย่างที่เราได้เล่นกันในยุคปัจจุบันที่แลดูเข้าใกล้ความเป็นภาพยนตร์เข้าไปทุกที (และอาจถึงขั้นเหนือกว่าในบางด้าน) ในช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่แล้วพวกเราเหล่าคนเล่นเกมก็ยังคงถูกเหนี่ยวรั้งด้วยเกมแอ็กชันแบบเดิมๆ บนพื้นฐานของเกมในเจเนอเรชันก่อนหน้า จนกระทั่งการมาถึงของ Devil May Cry เกมแอ็กชันแนว Hack and Slash ของทางค่าย Capcom ที่ได้เปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับเกมแอ็กชันของพวกเราไปตลอดกาล
Hack and Slash คืออะไร?
Hack and Slash (หรืออาจจะเขียนแบบเก๋ๆ เป็น Hack ‘n’ Slash) เชื่อว่าเป็นแนวเกมที่นักเล่นเกมทั้งหลายน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี แรกเริ่มเดิมทีแล้วรากฐานของมันถือกำเนิดขึ้นมาจากเกมกระดานแนวสวมบทบาท (Role-playing Game) หรือที่เรียกกันว่า Pen and Papers ตัวอย่างเช่นเกมอย่าง Dungeons & Dragons อันโด่งดัง (และเป็นรากฐานของเกมแนวสวมบทบาทในยุคปัจจุบัน) ซึ่งมักเป็นคำที่เหล่าผู้เล่นมักใช้อธิบายถึงส่วนการเล่นของเกมที่ไม่มีอะไรไปกว่าการฆ่าฟันศัตรูที่อยู่ตรงหน้าไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีเป้าหมายหรือเรื่องราวอันสลักสำคัญใดๆ (just hack and slash)
จนต่อมาเมื่อการเวลาผ่านไป เมื่อเกมคอมพิวเตอร์ได้มาถึง รูปแบบของเกมแนวสวมบทบาทนี้จึงได้ถูกถ่ายโอนถ่ายไปยังรูปแบบของความเป็นเกมดิจิตอล และมันก็ได้กลายมาเป็นเกมคอมพิวเตอร์หลายเกมที่เราได้รู้จัก โดยที่เกมสวมบทบาทที่มีความเป็น Hack ‘n’ Slash นั้นก็มักถูกจำแนกแยกประเภทออกไปกลายเป็นเกมแนวเกมที่ชื่อ Action role-playing game หนึ่งในเกมแนวนี้ที่เราน่าจะรู้จักเป็นอย่างดีก็คือ Diablo ของ Blizzard Entertainment นั่นเอง
ด้วยเทคโนโลยีที่มีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในแทบจะทุกชั่วโมงทุกนาที จากเกมที่เป็นได้แค่เพียงภาพแนวสองมิติที่มองเห็นเพียงแค่สองระนาบ อุตสาหกรรมเกมก็ได้นำพาเราให้รู้จักกับโลกเกมสามมิติพร้อมการที่เกมแนว Hack ‘n’ Slash ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและหนึ่งในหัวหอกหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือเกมที่ชื่อว่า Devil May Cry
Onimusha ภาพจำจาก Resident Evil
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องกับเกม Resident Evil ทีมพัฒนา Capcom เองก็น่าจะรู้สึกอิ่มตัวแล้วกับเกมในซีรีส์นี้ และพวกเขาเองก็ต้องการที่จะสร้างแฟรนไชส์ใหม่ให้กับเครื่อง Nintendo 64 ที่จะต้องมีความแตกต่างไปจากสิ่งที่พวกเขาเคยทำมา เกมที่ว่านั้นก็คือเกมที่ชื่อว่า Onimusha: Warlords (หรือ Onimusha (鬼武者) สำหรับการวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น) แต่ด้วยการที่เครื่อง Nintendo 64 ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร โปรเจกต์เกม Onimusha จึงได้กลับมายังแพลตฟอร์มของเครื่อง PlayStation อีกครั้ง ก่อนที่มันจะถูกยกเลิกไปกลางคันแม้จะมีการพัฒนามาแล้วครึ่งทาง เพื่อไปลงให้กับเครื่องเกมรุ่นใหม่ของทาง Sony กับเครื่องเกมในตำนานอย่าง PlayStation 2
Onimusha คือความพยายามของทาง Capcom ในการที่จะนำเอารูปแบบของเกมแนวเดินหน้าท้าลุย (ฺBeat’ em up) ในยุคก่อนหน้ามาผนวกเข้ากับรากฐานของเกมที่สร้างชื่อให้กับพวกเขาอย่าง Resident Evil ทั้งระบบการบังคับควบคุมตัวละครแบบรถถัง (Tank Control) , มุมกล้องแบบยึดติด (Fixed Camera Angle) และกลไกของปริศนาต่างๆ แต่สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างไปจากเกมก่อนหน้าก็คือการที่ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นซามูไรในยุคสมัยยุคเซ็งโงกุ และแทนที่เหล่าผีดิบด้วยปิศาจอสุรกาย เรื่องราวแฟนตาซีตามตำนานโบราณที่อิงกับประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นมาแทนที่
Evil May Cry
เคียงคู่กันมากับ Onimusha: Warlords ที่ได้ถูกย้ายแพลตฟอร์มในการพัฒนามายังเครื่องเกมรุ่นใหม่อย่าง PlayStation 2 แน่นอนว่าทาง Capcom เองก็ต้องการที่จะกลับมาผลักดันแฟรนไชส์หลักที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง Resident Evil อีกครั้งด้วยเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด และมันก็เป็นอีกครั้งที่ Shinji Mikami ผู้อำนวยการสร้างและผู้ให้กำเนิดเกม Resident Evil ได้มอบหมายให้ผู้กำกับดาวรุ่งอย่าง Hideki Kamiya มารับทำหน้าที่ในการกำกับเกม Resident Evil ภาคใหม่นี้
Hideki Kamiya คือผู้กำกับที่ทำให้ Resident Evil 2 ประสบความสำเร็จและกลายเป็นหนึ่งในภาคที่แฟนๆ ยังคงจดจำถึงมันได้อยู่ในทุกวันนี้ พร้อมกับการที่เขาเองก็เป็นผู้ที่ทำให้แฟรนไชส์ Resident Evil เกือบต้องล่มสลายด้วย Resident Evil 1.5 ที่เคยเกือบจะได้ออกวางจำหน่ายมาเป็นเกมภาค 2 ของซีรีส์นี้แทนที่ การที่เขาได้มารับทำหน้าที่ในการกำกับ Resident Evil อีกครั้งมันจึงเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ยากจะไม่คิดถึง ซึ่งผลลัพธ์ของมันก็เป็นไปอย่างที่หลายๆ คนน่าจะคาดเดากันได้
Resident Evil ภาคใหม่ภายใต้การควบคุมงานของ Hideki Kamiya แตกต่างไปจาก 3 ภาคที่ผ่านมา เป็นเพราะความต้องการของคุณ Kamiya ที่ต้องการจะทำให้เกมมีความเป็นพลวัตที่มากขึ้น ไปพร้อมกับเกมการเล่นที่น่าตื่นเต้นรวดเร็วกว่าเกมภาคก่อนๆ เนื่องด้วยขีดจำกัดของเทคโนโลยีที่เพิ่มมาก มันก็ทำให้พวกเขาพร้อมที่จะใส่สิ่งใหม่ๆ เข้าไปในเกมอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือเกม Resident Evil ที่หลุดไปจากแนวคิดดั้งเดิมของเกมไปอย่างสิ้นเชิง
Resident Evil ภาคใหม่ของ Hideki Kamiya ไม่ใช่เกมที่เล่าเรื่องราวผ่านตัวละครที่เป็นคนธรรมดาอีกแล้ว มันคือเกมที่เขาได้นำตัวละครเอกอันเหนือมนุษย์ใส่เข้าไปในเกม ชายลึกลับนิรนามในชื่อ Tony ชายผู้เป็นอมตะและมีความสามารถที่มากกว่ามนุษย์ปกติ ซึ่งในเวลานั้นคุณ Noboru Sugimura ผู้เขียนบทของ Resident Evil ก็ยังได้มาเป็นผู้ร่างบทของเกม Resident Evil ในภาคนี้อีกด้วย ที่จะเป็นเรื่องราวการผจญภัยของ Tony ที่จะต้องเข้าไปสำรวจยังปราสาทในสไตล์ Gothic พร้อมกับการเปิดเผยถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของ Tony ไปตลอดในเกมการเล่นนั่นเอง
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ภายหลังชื่อ Tony ถูกนำไปใช้ในนิยาย Devil May Cry ของ Shin-Ya Goikeda โดยมันเป็นชื่อนามแฝงของ Dante ที่ชื่อว่า Tony Redgrave โดย Redgrave นั้นก็เป็นชื่อที่ทางคุณ Hideki Kamiya ตั้งให้เพื่อให้เกียรติตัวละคร Chris Redfield ใน Resident Evil นั่นเอง
แต่ถึงแม้คุณ Shinji Mikami จะพึงพอใจกับคุณภาพของเกม ณ เวลานั้น แต่ด้วยการที่มันมีความแตกต่างจากความเป็น Resident Evil จนเกินไป มันก็เลยทำให้โปรเจกต์เกม Resident Evil เกมนี้ไม่ได้ไปต่อในท้ายที่สุด แต่กลับกลายเป็นการย้ายไปสร้างเป็นเกมใหม่แทนที่ภายใต้การดูแลของทีมงาน Capcom Production Studios 4 พร้อมด้วยทีมงานชุดใหม่ที่ชื่อว่า Team Little Devils โดยในเกมใหม่นี้พวกเขาได้ทำการเปลี่ยนชื่อตัวละครเอกจาก Tony ไปเป็น Dante ที่คุณ Hidaki Kamiya ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Dante Alighier (ดันเต อาลีกีเอรี) กวีชาวอิตาลี เจ้าของกวีนิพนธ์ชิ้นเอกของโลกอย่าง Divina Commedia (หรือภาษาอังกฤษคือ Divine Comedy) ที่ได้กลายเป็นแกนหลักของเนื้อเรื่องในเกมใหม่นี้ที่ชื่อว่า Devil May Cry นั่นเอง
Devil Trigger
Devil May Cry ออกวางจำหน่ายในวันที่ 17 ตุลาคมปี 2001 มันคือเกมใหม่ของ Capcom ที่แตกต่างไปจากเกมก่อนๆ ที่พวกเขาเคยทำมาอย่างสิ้นเชิงด้วยการนำเสนอระบบการต่อสู้ที่มีความลื่นไหล ท่วงท่าของการใช้อาวุธที่หลากหลาย และยังให้รางวัลแก่ผู้ที่ใช้มันได้อย่างเชี่ยวชาญ พร้อมด้วยระบบการเพิ่มพลังให้กับอาวุธที่ชื่อว่า Devil Trigger ที่ทำให้มันทวีความหลากหลายของการต่อสู้ไปอีกมิติ และคาแรกเตอร์อันสุดแสนจะยียวนของ Dante มันก็ล้วนแล้วแต่เป็นกุญแจสำคัญมันก็ทำให้ Devil May Cry ประสบความสำเร็จ และได้เป็นรากฐานให้กับเกมในยุคต่อมาจนมาถึงทุกวันนี้ ทั้งยังทำให้ Dante กลายเป็นหนึ่งในตัวละครของทางค่าย Capcom ที่แฟนๆ เกมไม่มีวันลืมเลือนอีกด้วย
แต่นอกจากระบบการต่อสู้ที่รวดเร็ว เข้มข้นกว่าเกมอื่นๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของ Devil May Cry ก็คือการ “Juggling” มันเป็นระบบการเล่นที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นซัดท่วงท่าเข้าใส่ศัตรูให้ลอยอยู่บนอากาศให้นานที่สุดเท่าที่ความสามารถของผู้เล่นแต่ละคนจะทำได้ ซึ่งได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของการต่อสู้ในเกมซีรีส์นี้ที่ยากจะมีเกมอื่นมาเลียนแบบ ซึ่งเดิมทีแล้วระบบ Juggling นี้ได้ถูกค้นพบโดยบังเอิญในระหว่างการพัฒนาเกม Onimusha มันเป็นบั๊กที่เกิดขึ้นจากการออกแบบเกมที่ทำให้ทางทีมพัฒนาสามารถโจมตีใส่ตัวละครให้ลอยค้างอยู่ในอากาศได้อย่างต่อเนื่อง จากความผิดพลาดในการพัฒนานี้ มันก็ได้ถูกนำไปต่อยอดและเป็นแกนกลางของระบบต่อสู้ใน Devil May Cry นั่นเองที่ผู้เล่นจะต้องออกลีลาท่วงท่าทั้งระยะประชิดและระยะไกล พร้อมให้รางวัลความพึงพอใจให้กับผู้เล่นด้วยการตัดเกรดลีลาและท่วงท่าผ่านระบบ Stylish ที่เป็นรากฐานมาจากเกม Resident Evil ที่คุณ Hideki Kamiya เป็นผู้สร้าง (เช่นเดียวกับส่วนประกอบ Texture ต่างๆ ก็ยังไปปรากฏใน Resident Evil 4 ที่วางจำหน่ายภายหลังในปี 2005 อีกด้วย)
Devil Must Cry
Devil May Cry ภาคแรกสามารถทำยอดขายทั่วโลกไปได้ถึง 2.16 ล้านยูนิต และในสมัยนั้นก็นับได้ว่าเป็นจำนวนที่มากพอแล้วในการที่จะทำให้ทาง Capcom ตัดสินใจสร้างภาคต่อของมันออกมา แต่ด้วยเหตุผลอันอยากจะหยั่งถึง Devil May Cry ภาคที่ 2 ก็เกือบทำให้แฟรนไชส์นี้ไม่ได้ไปต่อเพราะมันเป็นภาคได้รับเสียงตอบรับอย่างย่ำแย่จากแฟนๆ มากที่สุดแม้จวบจนทุกวันนี้
สิ่งที่น่าประหลาดใจกว่าคุณภาพอันย่ำแย่ของ Devil May Cry 2 ก็คือในตอนที่เกมนี้ได้เริ่มพัฒนา คุณ Hideki Kamiya และ Team Little Devils ของเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกมภาคต่อเกมนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว จนกระทั่งเอกสารของการออกแบบเกมได้ถูกแปลภาษา เขาและลูกทีมจึงได้รู้ว่าเกมภาคต่อของ Devil May Cry ได้มีการพัฒนาไปแล้ว และใครที่เป็นผู้กำกับของ Devil May Cry ในตอนนี้ก็ยังไม่เป็นที่เปิดเผยออกมาให้เราได้ทราบจนถึงทุกวันนี้ ในระหว่างการพัฒนาทางคุณ Tsuyoshi Tanaka ผู้อำนวยการสร้างของเกมได้เคยให้สัมภาษณ์ว่ามันจะเป็นเกมที่ใหญ่กว่าภาคแรกถึง 9 เท่า และเกมก็จะมีการปรับปรุงส่วนต่างๆ จากภาคแรก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเสียงตอบรับจากการออกแบบสำรวจที่ทาง Capcom ได้ส่งออกไปยังแฟนเกมทั้งระบบมุมกล้องแบบใหม่ รวมไปถึงการเพิ่มตัวละคร Lucia เข้ามาให้เป็นตัวละครอีกตัวที่ผู้เล่นสามารถเล่นได้นอกเหนือจาก Dante จากการที่เหล่าแฟนๆ ต่างเคยบ่นอย่างหนาหูว่าตัวละครอย่าง Trish ที่ปรากฏตัวในเกมภาคแรกนั้นน่าจะเป็นตัวละครที่นำมาเล่นได้
แต่แล้วหลายสิ่งหลายอย่างก็ดูจะไม่เป็นไปอย่างที่ทาง Capcom ตั้งใจจนทำให้ทาง Capcom ตัดสินใจดึงตัวคุณ Hideaki Itsuno เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้กำกับในช่วงท้ายสุดของการพัฒนาเกม คุณ Hideaki Itusno ณ เวลานั้นเพิ่งจะสานฝันของเขาเสร็จในฐานะของการเป็นแฟนเกมแนว Fighting จากการสร้างเกมอย่าง Capcom vs. SNK 2: Mark of the Millennium 2001 แต่อย่างไรก็ดีการมาคุมโปรเจกต์เกมแอ็กชันอย่าง Devil May Cry 2 นั้นก็ดูจะช้าเกินกว่าที่มันจะแก้ไขได้เสียแล้ว
ว่ากันตามตรงแล้ว Devil May Cry 2 อาจจะไม่ใช่เกมแอ็กชันที่แย่ ณ เวลาที่มันวางจำหน่าย แต่ที่แน่ๆ คือมันไม่สามารถเทียบเคียงกับสิ่งที่เกมในภาคแรกทำเอาไว้ได้เลย ไม่ว่าจะระบบอาวุธของเกมที่ไม่มีความแตกต่าง รวมไปถึงการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้เล่นในการฟาดฟันศัตรูที่ไม่ต่างไปกับการเอากระบองลมมาฟาด ปืนของ Dante สามารถทำความเสียหายให้กับศัตรูได้อย่างรุนแรงจนระบบการต่อสู้ระยะประชิดและการทำคอมโบดูไร้ประโยชน์ ยังไม่รวมไปถึงการออกแบบฉากและบอสของเกมที่แลดูสิ้นคิด และที่เลวร้ายที่สุดคือตัวละคร Dante ในภาคสองนั้นไม่คงเหลือไว้ซึ่งเอกลักษณ์เดิมที่เคยเป็นเสน่ห์ในเกมภาคแรกแม้แต่น้อย
แต่ถึงแม้ Devil May Cry 2 จะเต็มไปด้วยข้อบกพร่องต่างๆ มากมาย แต่มันก็ได้วางรากฐานของหลายสิ่งหลายอย่างให้กับเกมในซีรีส์นี้ได้นำไปใช้ในภาคต่อ ทั้งระบบการเล่นหลายตัวละคร ที่แต่ละตัวจะมีชุดคอสตูมให้ปลดล็อกแตกต่างกันออกไป ระบบการกลิ้งและการวิ่งไต่กำแพง ระบบการสลับสับเปลี่ยนอาวุธ และโหมดการเล่นที่ชื่อ Bloody Palace ระบบการต่อสู้แบบสังเวียนที่มีทั้งหมด 9,999 ชั้นที่ไม่ได้ให้ซึ่งรางวัลอะไรแก่ผู้เล่น รวมไปถึงการกลับมาของ Trish ที่ผู้เล่นจะสามารถเล่นได้แล้วหลังจากพิชิตเกมได้สำเร็จใน hard mode จะเห็นได้ว่าแม้ Devil May Cry 2 จะย่ำแย่แค่ไหน แต่มันก็ได้สร้างรากฐานบางอย่างเอาไว้แล้วที่จะนำไปต่อยอดในภาคที่ 3 ของซีรีส์ที่แฟนๆ ต่างยกให้ว่ามันคือภาคที่ดีที่สุดของ Devil May Cry
Devil Awakening
Devil May Cry ภาค 2 สามารถทำยอดขายไปได้ 1.7 ล้านยูนิต แม้จะเป็นตัวเลขที่มากแล้วในสมัยนั้น แต่มันก็ยังน้อยกว่าที่ภาคแรกทำได้ และในช่วงเวลาหลังจากที่เกมในภาค 2 ออกไปไม่นาน มันก็มีอีกหนึ่งเกม Hack ‘n’ Slash ยักษ์ใหญ่ที่หมายท้าชนแฟรนไชส์นี้ นั่นก็คือผลงานของทีมงาน Santa Monica Studio ที่ชื่อว่า God of War นั่นเอง
โจทย์ในการสร้างภาคที่ 3 ของ Devil May Cry จึงยากขึ้นกว่าเดิม โดยในภาคต่อนี้ทาง Capcom ได้มอบหมายให้คุณ Hideaki Itsuno กลับมาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับตั้งแต่แรกเริ่มทั้งหมด ซึ่งมันจะใช้ชื่อเกมอย่างเป็นทางการว่า Devil May Cry 3: Dante’ s Awakening โดยจะเป็นเรื่องราวปฐมบทก่อนหน้าเหตุการณ์ในภาคแรก ซึ่งจะเล่าถึงเรื่องราวในช่วงแรกของการเป็นนักล่าปิศาจของ Dante ในวัย 18 ปี ที่ทางคุณ Itsuno นั้นต้องการที่จะให้มันกลับไปสู่ความเป็น Devil May Cry ในภาคแรกอีกครั้ง
และมันก็กลายเป็น Devil May Cry ภาคที่ตราตรึงใจแฟนๆ ได้จริงๆ ด้วยการแนะนำให้เรารู้จักกับ Dante ในเวอร์ชันที่ยังเป็นวัยรุ่นและมาพร้อมกับความห้าวเป้งอย่างที่เราไม่เคยได้เห็น อารมณ์ขัน ฉากคัตซีน และระบบการต่อสู้ มันคือการกลับมาอย่างแท้จริงของ Devil May Cry ที่เป็นได้มากกว่าที่เคยเป็น
Todd Thorson ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ Capcom ได้เคยเปิดเผยออกมาว่าในช่วงของการพัฒนานั้น ทีมงานต้องการให้ Devil May Cry 3 เป็นที่จดจำในฐานะบทใหม่ของซีรีส์ และพวกเขาก็เน้นหนักไปกับการสร้างเกมเพลย์และคัตซีนต่างๆ ของเกมเป็นอย่างมาก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาก็คือ ฉากคัตซีนสุดเวอร์วังอลังการ การที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถทำการปรับแต่งรูปแบบการต่อสู้ได้มากขึ้น และยังมาพร้อมกับระบบใหม่ที่ชื่อว่า Style ที่ทำให้ Dante สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การต่อสู้ในระหว่างภารกิจได้ทันทีที่เป็นตัวประสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นแต่ละคนมีการออกแบบการต่อสู้ในสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป
ด้วยความสำเร็จนี้ทำให้ในปีต่อมามันจึงได้กลับมาวางจำหน่ายอีกครั้งในรูปแบบของ Special Edition ที่นำเอาโหมดการเล่น Bloody Palace กลับมาและยังนำเอา Vergil ตัวร้ายของเรื่องและฝาแฝดของ Dante กลับมาเป็นตัวละครที่ผู้เล่นสามารถเล่นได้ด้วยที่มาพร้อมกับท่วงท่าของการต่อสู้และสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจาก Dante อย่างสิ้นเชิง แต่ก็น่าเศร้าที่ในปีแรกที่เกมออกมันทำยอดขายได้เพียงแค่ 1.3 ล้านยูนิตเท่านั้น จนมาได้เพิ่มอีกหนึ่งล้านยูนิตจาก Special Edition ที่ออกวางจำหน่ายในปีต่อมา
นอกจากระบบหลายอย่างของเกมที่ได้รับการปรับปรุงให้เล่นได้สนุกขึ้น ในส่วนของการสร้างฉากคัตซีนของเกม มันก็เป็นครั้งแรกของซีรีส์นี้ที่ได้มีการใช้ระบบจับการเคลื่อนไหว (motion capture) เข้ามาในเกม ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง Capcom นั้นได้เคยใช้ระบบนี้มาแล้วในเกมอย่าง Resident Evil: Outbreak จากการร่วมมือกับทางบริษัท Just Cause (ที่ไม่ใช่เกมในชื่อเดียวกันของทีมงาน Avalanche Studios) ในการทำการ localization หรือการแปลภาษาของเกมให้เหมาะกับภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ , การทำ motion capture และการพากย์เสียง
และที่ Just Cause นั่นเองที่ทำให้เราได้รู้จักกับ Reuben Langdon เจ้าของสตูดิโอแห่งนี้ผู้อาสามารับบทเป็น Dante ด้วยตัวเองทั้งการรับทำหน้าที่ในการทำ motion capture และการให้เสียง เขาคืออดีตสตันท์แมนจากซีรีส์ Power Rangers Time Force ที่เคยฝากผลงานมาแล้วใน Resident Evil: Code Veroncia และ B-Force Kabuto ซึ่งทำให้ Dante กลายเป็น Dante อย่างที่เรารู้จักมาจนถึงทุกวันนี้ และเคียงคู่กับ Reuben Langdon ก็คือ Dan Southworth อดีต Red Ranger จาก Power Rangers: Time Force นั่นเองที่มารับบทเป็น Vergil เคียงคู่กับ Dante ของ Langdon เรื่อยมา
Devil New Generation
หลังจากความสำเร็จของ Devil May Cry 3 มันก็ถึงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน Generation ของเครื่องเกมคอนโซล ไปสู่อีกยุคพร้อมกับ Devil May Cry ภาคใหม่ที่ในคราวนี้คุณ Hideaki Itsuno ได้กลับมาอีกครั้งพร้อมกับทีมงาน Capcom Production Studios 4 ในการสร้างเกม Devil May Cry 4 ที่จะเป็นภาคต่อของเกมในภาคแรก พร้อมด้วยเทคโนโลยีเอนจินใหม่ของ Capcom ที่ชื่อว่า MultiThread Framework หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ MT Framework เอนจินหลักที่ทาง Capcom ใช้ในการพัฒนาเกมมาจนถึงปัจจุบัน (ก่อนการมาของ RE Engine ที่ใช้เป็นครั้งแรกใน Resident Evil 7) ผลลัพธ์ของมันก็คืองานภาพของ Devil May Cry 4 ที่ทำออกมาได้สวยงามและน่าประทับใจสำหรับการเป็นเกมแรกๆ ที่จะลงให้กับเครื่องเกมยุคใหม่อย่าง PlayStation 3 และ Xbox 360
จากเดิมที่เคยเป็นเพียงเกมบนเครื่อง PlayStation 2 ซึ่งได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มในประเทศฝั่งเอเชีย มาในคราวนี้ด้วยการที่มันได้ลงให้กับเครื่องเกมอย่าง Xbox 360 ที่มีฐานผู้เล่นกลุ่มใหม่อยู่ในฝั่งตะวันตก มันก็ทำให้ทางคุณ Itsuno จำที่จะต้องคอยคำนึงถึงกลุ่มผู้เล่นใหม่กลุ่มนี้ด้วย ซึ่งว่ากันตามตรงแล้วแม้ Devil May Cry จะเป็นเกมแนวแอ็กชัน Hack ‘n’ Slash ที่เข้าถึงง่ายแก่คนทั่วไป แต่การที่จะเล่นและออกท่วงท่าอันสลับซับซ้อนของเกมก็ถือว่าเป็นกำแพงที่สูงชันสำหรับผู้เล่นมือใหม่ที่ไม่เคยผ่านเกมในซีรีส์นี้มาก่อน และนั่นก็ทำให้ Nero กลายเป็นตัวละครเอกตัวใหม่ของ Devil May Cry 4
Nero คืออัศวินหนุ่มแห่งศาสนจักรที่มาพร้อมกับดาบเปลวเพลิง, ปืนลูกโม่ และแขนปีศาจที่เรียกว่า ‘Devil Bringer’ ที่ช่วยให้ผู้เล่นมือใหม่สามารถเข้าถึงรูปแบบการต่อสู้ได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยความสามารถในการดึงตัวศัตรู จับขว้าง หรือแม้กระทั่งเป็นตัวช่วยในการออกท่าการต่อสู้ในการปะทะกับบอสในเกม Nero คือลูกชายของ Vergil และเขาก็ได้รับการ motion capture จาก Johnny Young Bosch อดีตนักแสดงจากซีรีส์ Power Ranger อีกหนึ่งคนที่ได้เข้ามาร่วมทีมกับ Reuben Langdon และ Dan Southworth
โดยแนวคิดของการเปิดตัวตัวละคร Nero ก็คือการที่ทำให้ผู้เล่นกลุ่มใหม่คุ้นชินไปกับรูปแบบการเล่นของ Devil May Cry ในช่วงแรก ก่อนที่ครึ่งหลังของเกมผู้เล่นจะได้มารับบทเป็น Dante เช่นเดิมในการเล่นแบบย้อนหลังกลับจากฉากการเล่นที่ Nero เล่นไปก่อนหน้า (อันเนื่องด้วยเงินทุนในการสร้างที่ไม่เพียงพอ) ซึ่งการเล่น Dante ให้ได้อย่างคล่องแคล่วนั้นผู้เล่นจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการทำงานร่วมกันของมือและสมองที่ดีและแม่นยำ และต้องผ่านการฝึกฝนพอสมควร เพราะในการมาของเขาในเกมภาคนี้มันก็เป็นการยกเอาสไตล์การต่อสู้จากเกมภาคก่อนมารวมกันไว้ในภาคนี้เกือบทั้งหมด
ด้วยการที่มันเป็นเกมแรกๆ ของเครื่องเกมในยุคใหม่ Devil May Cry 4 จึงสามารถทำยอดขายไปได้ถึง 2 ล้านยูนิตภายในเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนหลังการออกวางจำหน่ายเท่านั้น พร้อมด้วยคะแนนจากเหล่านักวิจารณ์ที่อยู่ในระดับที่ดีแม้ไม่เท่าเกมภาคแรกหรือภาค 3 โดยจุดติที่หลายสำนักวิจารณ์หรือแฟนๆ เห็นตรงกันก็คือการเล่นย้อนกลับหลังในช่วงครึ่งหลังของเกมนั่นเอง ซึ่งบางฉากก็ทำได้สนุกแต่บางฉากนั้นมันก็ไม่มีความจูงใจที่มากที่ทำให้เหล่าผู้เล่นอยากกลับมาเล่นซ้ำอีกรอบ
ว่ากันว่าในช่วงของการพัฒนา Devil May Cry 4 นั้นมันมีเรื่องราวที่ซับซ้อนเกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาเกมพอสมควร หลายคนเชื่อว่าเกมได้ถูกลดเวลาในการพัฒนาจากสองปี เหลือเพียงแค่หนึ่งปีเท่านั้น โดยในภายหลังจากคุณ Hiroyuki Kobayashi ผู้อำนวยการสร้างของเกมก็คือบอกไว้ว่างบประมาณส่วนใหญ่ถูกจัดสรรไปในส่วนของการพัฒนาและสร้างฉากคัตซีนเป็นส่วนมาก และเมื่อไม่นานมานี้คุณ Hideaki Itsuno ก็ได้ออกมาเปิดเผยแล้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว งบประมาณในการสร้างมันไม่เพียงพอจริงๆ ในการสร้างเกมบนเครื่องเกมยุคใหม่และเทคโนโลยีใหม่ด้วยทุนสร้างที่แทบไม่ต่างไปจากตอนที่เขาทำ Devil May Cry 3 มากนัก
เป็นเวลาร่วม 7 ปีกว่าที่ Capcom จะออกวางจำหน่ายเกมในเวอร์ชัน Special Edition ของ Devil May Cry 4 เพื่อลงให้กับเครื่อง PlayStation 4, Xbox One และ PC ซึ่งในครั้งนี้พวกเขาได้นำเอาตัวละครอย่าง Trish และ Vergil กลับมาให้เราได้เล่นพร้อมด้วยตัวละครอย่าง Lady จาก Devil May Cry 3 และยังได้เพิ่มเติมโหมดการเล่นแบบ Legendary Dark Knight เข้ามาที่จะทำให้ศัตรูเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่าและด้วยกระแสตอบรับที่ดีของเกมในเวอร์ชันนี้ก็ทำให้กำไรของ Capcom ในปีนั้นเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว
DmC: Devil May Cry
ท่ามกลางความสำเร็จของ Devil May Cry หลายภาคที่ผ่านมา มันก็ทำให้แฟนๆ หลายคนต่างสงสัยว่าทำไมในปี 2010 ทาง Capcom ถึงตัดสินใจรีบูตเกมในแฟรนไชส์นี้ใหม่ด้วยเกมที่ชื่อว่า DmC: Devil May Cry และยังทำการเปลี่ยนทีมพัฒนาไปเป็นทีมพัฒนาภายนอกอย่าง Ninja Theory อีกด้วย คุณ Motohide Eshiro ผู้อำนวยการสร้างของ Capcom ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจในครั้งนั้นกับทางเว็บไซต์ Eurogamer ว่า “เกมแอ็กชันอื่นๆ ขายได้ สี่ล้านห้าล้านเกือบทั้งหมด เป้าหมายของการรีบูตในครั้งนี้ด้วยโทนแบบตะวันตกนั้นก็เพื่อต้องการขยายกลุ่มผู้เล่นให้มากยิ่งขึ้น”
ในช่วงเวลานั้น Capcom ได้เริ่มรุกเข้าสู่ตลาดเกมในฝั่งตะวันตกอย่างเต็มที่และเริ่มจับมือเป็นหุ้นส่วนกับเหล่าทีมพัฒนาภายนอกมากมายในการสร้างเกมอย่าง Dead Rising 2, Bionic Commando และ Dark Void ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ และ DmC: Devil May Cry ของทีมงาน Ninja Theory ผู้สร้างเกมอย่าง Heavenly Sword และ Enslaved: Odyssey to the West ก็เป็นหนึ่งในนั้น
Tameem Antoniades ผู้กำกับของ Ninja Theory ต้องการให้ DmC: Devil May Cry มีการดำเนินเรื่องราวและการนำเสนอเหมือนกับหนังฮอลลีวูด และในงาน Game Developers Conference ที่จัดขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2013 ทางคุณ Alessandro Taini ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของเกมก็ได้เปิดตัวภาพงานออกแบบและแนวคิดของเกมให้เราได้เห็นเป็นครั้งแรก Dante ในเวอร์ชันของ Ninja Theory นั้นออกแบบโดยมีแนวคิดของการทำให้เข้าเป็นแอ็กชันฮีโร่ที่มองผ่านมุมมองของคนญี่ปุ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์และสื่อตะวันตกเช่น ภาพยนตร์ Fight Club, Chronicle และความเป็น Punk ของชาวเกาะอังกฤษซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานของทีมพัฒนา Ninja Theory
DmC: Devil May Cry เปิดตัวให้สาธารณชนได้เห็นอย่างเป็นทางการอีกครั้งในงาน Tokyo Game Show 2010 และแน่นอนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มากเกินไปนี้มันก็ทำให้เหล่าแฟนๆ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตัวละคร Dante สุดขอบจนเกินไป สาเหตุหลักของความไม่พอใจในครั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมของชาวตะวันออกและตะวันตกที่แตกต่างกัน Tameem Antoniades ผู้กำกับของ DmC ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวละคร Dante ในครั้งนี้ว่า ถ้าตัวละคร Dante แบบเก่าเป็นคนจริงๆ เขาจะถูกหัวเราะเยาะเย้ยเมื่อเข้าไปในบาร์แน่ๆ และเขาก็ไม่ใช่คนที่ดูเจ๋ง ดูเท่อีกแล้ว
นอกจากนี้เรื่องราวของ DmC: Devil May Cry ยังแตกต่างออกไปจากต้นฉบับค่อนข้างมาก Vergil นั้นกลายเป็นกลุ่มผู้นำชาวเน็ต Anonymous และ Mundus เจ้าปีศาจก็หมายครองโลกผ่านเครื่องดื่มชูกำลัง ทั้งหมดทั้งปวงนี้แม้อาจเรียกไม่ได้ว่าล้มเหลวแต่มันก็ทำให้แฟนๆ เสียศรัทธาต่อแฟรนไชส์นี้ไปพอสมควร ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือยอดขายของ DmC: Devil May Cry ที่น้อยกว่าที่ Capcom ประมาณการไว้ และน้อยกว่า Devil May Cry 4 ถึง 1 ล้านยูนิต
Devil’s in Detail
มันเป็นบทพิสูจน์แล้วว่าพวกเขาเจาะตลาดฐานกลุ่มผู้เล่นจากทางฝั่งตะวันตกไม่สำเร็จ ยังไม่รวมแฟรนไชส์เกมอื่นๆ ที่ออกมาในช่วงนั้นทั้ง Lost Planet และ Dead Rising, Bionic Commando และ Dark Void ซึ่งทำให้ Capcom เริ่มยุติความสัมพันธ์กับทีมพัฒนาของทางฝั่งตะวันตกเรื่อยมา จนไปถึงการปิดตัว Capcom Vancouver หันกลับมาพึ่งตัวเองอีกครั้ง กับเหล่าทีมพัฒนาภายในที่ได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาเองก็มีศักยภาพมาพอที่สามารถให้แฟรนไชส์อันเป็นที่รักกลับคืนสู่บัลลังก์ของพวกมันอีกครั้ง และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือเกมอย่าง Resident Evil 7, Resident Evil 2 ภาครีเมก และ Devil May Cry 5 ที่เปรียบเสมือนจดหมายรักจากใจของพวกเขาที่ส่งตรงถึงแฟนเกมนั่นเอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
- The history of ‘Devil May Cry’ โดย Aida Kearney
- Dante returns: Hideaki Itsuno on Devil May Cry 5
- Resident Evil Series to haunt PlayStation 2