Bloodstained: Ritual of the Night Review

Metroidvania คือแนวเกมที่จะว่าก็ไม่ค่อยถูกจริตตัวผู้เขียนเสียเท่าไหร่ครับ แม้ว่าจะเคยได้เล่นมาหลายเกม แต่ส่วนใหญ่ผู้เขียนก็มักจะลงเอยด้วยการหลงทาง หรือหาทางไปต่อไม่ได้ หรือไม่ก็เบื่อเสียก่อนด้วยการที่เกมมักจะบังคับให้ผู้เล่นที่ความจำไม่ค่อยจะดีต้องย้อนกลับมาเล่นในฉากเก่าๆ ซ้ำๆ เพื่อค้นหาปริศนาที่ซ่อนอยู่ แต่ Bloodstained: Ritual of the Night น่าจะเป็นเกมแนว Metroidvania แท้ๆ ที่ผู้เขียนสามารถเล่นจนจบเป็นเกมแรกได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาsss

Metroidvania คือแนวเกมแนวหนึ่งที่เกิดขึ้นรูปแบบการเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ของสองเกมได้แก่ “Metroid” ของ Nintendo และ “Castlevania” ของ Konami และมันก็เป็นแนวเกมที่อยู่คู่กับวงการเกมมาอย่างยาวนาน ทั้งในรูปแบบของเกม Metroidvania แท้ๆ และการนำองค์ประกอบมันไปผสมเข้ากับเกมในรูปแบบอื่นๆ จุดเด่นของเกมแนวนี้คือการที่เกมมักจะมีการออกแบบฉากที่มีความซับซ้อน มีเส้นทางที่สามารถเดินทางไปได้หลากหลายเส้นทาง และหากมันเป็นเกม Metroidvania ที่ดีเส้นทางทั้งหมดของเกมจะสามารถเชื่อมต่อเข้าหากันได้ แต่ในช่วงแรกเริ่มตัวผู้เล่นจะไม่สามารถไปยังเส้นทางบางเส้นทางได้จนกว่าตัวละครเอกของเกมจะได้รับพลัง อุปกรณ์ หรือความสามารถ บางอย่างมาเพื่อนำไปใช้ในการผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่เกมวางเอาไว้นั่นเอง ซึ่งด้วยส่วนใหญ่แล้วเกมที่เป็นเกมแนว Metroidvania มักจะเป็นเกมแนวมุมมองจากด้านข้าง (side-scrolling) ที่มีความเป็นเกมแอ็กชันสวมบทบาท (action-rpg) เป็นแกนหลักในการเล่นแบบเดียวกับเกมต้นฉบับทั้งสองเกม

castlevania symphony of the night

และ Bloodstained: Ritual of the Night ก็คือเกมแนว Metroidvania ที่มาพร้อมกับองค์ประกอบของการเป็นเกมอย่างที่มันควรจะเป็นได้อย่างครบถ้วน แม้จะถูกปรามาสก่อนออกวางจำหน่ายเอาไว้ว่ามันอาจจะเป็นเกมที่โบราณเกินยุคสมัย ประกอบกับความล้มเหลวของเกมจากโปรเจกต์ Kickstarter หลายโปรเจกต์ที่เป็นภาพจำฝังใจของเหล่าเกมเมอร์ Bloodstained: Ritual of the Night กลับยังสามารถส่งมอบความรู้สึกเก่าๆ ที่ห่างหายไปนานกลับมาได้ ต่อให้มันจะเป็นเกมที่มีองค์ประกอบที่โบราณขนาดไหน แต่เมื่อมันอยู่ในมือของทีมงานที่ใช่ และเป็นผู้ให้สร้างให้เกมแนวนี้กลายเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมเกมอย่าง “โคจิ ‘อิกะ’ อิการาชิ” (Koji “Iga” Igarashi) อีกครั้ง Bloodstained: Ritual of the Night ก็ได้ทำให้ผู้เขียนนึกขึ้นมาได้ว่าเพราะมันเป็นเกมแบบนี้นี่เอง “Castlevania: Symphony of the Night” ถึงได้กลายเป็นตำนาน

iga bloodstained

Bloodstained: Ritual of the Night เป็นเกมที่ยังคงความเป็นเกมจากสมัยก่อนได้อย่างครบถ้วนไม่เพียงแค่รูปแบบการเล่นเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงการเล่าเรื่องที่ก็ยังคงความเป็นกลิ่นอายของเกม Castlevania ที่โคจิ  อิการาชิปลุกปั้นมานับสิบภาค มันยังคงเล่าเรื่องราวของตัวละครเอกที่เดินทางไปปราบจอมปีศาจในปราสาทแห่งหนึ่งโดยตัวเกมในเกม Bloodstained: Ritual of the Night ก็ได้แทนที่ฉากหลังของผีดิบดูดเลือดด้วยการย้ายฉากหลังมาเป็นช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมแทน และเปลี่ยนตัวเอกมาเป็นเด็กสาวที่ชื่อว่า “มีเรียม” (Miriam) เด็กสาวที่ถูกทำการทดลองจนกลายเป็น “Shardbinders” มนุษย์ที่สามารถใช้ผลึกคริสทัลจากเหล่าสัตว์ประหลาดมาเป็นเวทมนตร์ได้ ที่ต้องออกตามล่าหา “จีเบล” (Gebel) Shardbinders อีกคนหนึ่งที่รอดชีวิตมาจากการทดลองที่ได้เรียกปราสาทมาจากแดนปีศาจเพื่อเตรียมล้างบางเหล่ามนุษย์ที่ทำให้เขาต้องตกอยู่ในคำสาปของ Shardbinders นั่นเอง

bloodstained 4 1

ซึ่งเรื่องราวของ Bloodstained: Ritual of the Night ก็มีความตรงไปตรงมาตามสไตล์ของเกมในยุคก่อน แม้จะมีเหตุการณ์พลิกผันบ้างแต่มันก็ไม่ได้เกินคาดเดามากนัก แต่จุดที่น่าเสียดายก็น่าจะเป็นเหล่าตัวละครต่างๆ ที่เกมปูเนื้อหามาไว้แต่แรก แต่สุดท้ายบทของตัวละครต่างๆ ก็ไม่ได้มีมากนัก ซึ่งทางผู้สร้างก็เหมือนจะรู้ดีว่าผู้เล่นต้องการที่จะเล่นอะไรกับเกมนี้ การเล่าเรื่องในเกมเลยออกมาแบบห้วนๆ ที่ให้พอรู้ว่ามันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง รวมไปถึงการบอกใบ้ปริศนาให้กับผู้เล่นในการผ่านฉากแต่ละฉาก แทนที่การพรรณนาเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเหล่าตัวละครในเกม

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนสามารถเล่น Bloodstained: Ritual of the Night ได้จนจบก็น่าจะเป็นเพราะตัวเกมไม่ได้มีความยาวในการเล่นมากเหมือนกับเกมแนว Metroidvania ในยุคหลังๆ และฉากของเกมก็ไม่ได้ซับซ้อน ซึ่งคาดว่าเกมน่าจะออกแบบโดยอิงโครงสร้างมาจากเกม Castlevania: Symphony of the Night ที่แน่นอนว่ามันได้อัดความสนุกและความท้าทายเข้ามาเต็มเปี่ยม และสามารถสร้างความพึงพอใจในการเล่นได้ในเวลาอันสั้น

ฉากใน Bloodstained: Ritual of the Night ไม่ได้มีความซับซ้อนมากครับ โดยเนื้อแท้แล้วมันยังคงเป็นเกมแนวแอ็กชันสวมบทบาทมุมมองด้านข้างที่ผู้เล่นจะต้องฟันฝ่าพื้นในการไปต่อสู้กับบอสของแต่ละพื้นที่เพื่อผ่านไปยังอีกพื้นที่หนึ่งให้ได้ ซึ่งเกมก็จัดความแปลกใหม่มาให้กับผู้เล่นตลอดทั้งเกมการเล่น ด้วยการออกแบบฉากที่มีความพิเศษและมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป และบางพื้นที่เองก็จำเป็นที่จะต้องใช้พลังความสามารถใหม่ๆ ที่ผู้เล่นจะได้มาระหว่างการออกสำรวจและต่อสู้กับบอสในการผ่านเส้นทางใหม่ๆ ของเกมไปให้ได้ด้วย

bloodstained 1

เสน่ห์อย่างหนึ่งของเกม Bloodstained: Ritual of the Night คือความท้าทายของเกมแนวนี้ที่ผู้เขียนไม่ได้สัมผัสมานานครับ โดยปกติแล้วเกมที่มีองค์ประกอบเป็นเกมแนวสวมบทบาทมันมักจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถเก็บสะสมค่าประสบการณ์มาเพื่อปั้นตัวละครเอกให้เก่งกว่าศัตรูเสมอ แต่ในเกมสมัยใหม่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยพบกับประสบการณ์ในกรณีที่ตัวละครของเราเก่งกว่าศัตรูจนเกินไปและทำให้ช่วงเวลาท้ายเกมหมดความสนุก แต่ Bloodstained: Ritual of the Night เกมได้พาเรากลับไปยังรูปแบบเกมในสมัยก่อนอีกครั้งด้วยการให้ผู้เล่นยังคงพึ่งพาฝีมือเป็นหลักในการผ่านฉากแต่ละฉาก และมันก็ยังมาพร้อมกับวิธีการในการเล่นที่หลากหลายและเปิดกว้างกับผู้เล่นทุกกลุ่ม ซึ่งการผ่านพื้นที่ใหม่ๆ จะมีความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องอาศัยทักษะของผู้เล่นเสียเป็นส่วนมาก ประกอบกับบอสในแต่ละพื้นที่เองที่ก็จะมีความท้าทายที่มากและก็มีความสนุกที่มากขึ้นด้วย

Bloodstained: Ritual of the Night เป็นเกมที่เปิดกว้างในแนวทางการเล่นเป็นอย่างมาก ด้วยการที่มันมาพร้อมกับอาวุธให้เลือกใช้นับสิบชนิดที่แต่ละชนิดเองก็ยังมีแนวทางการเล่นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนอีกด้วยไม่ว่าจะเป็น ดาบ, หอก, เรเปียร์, คาตานะ, ดาบใหญ่, รองเท้า, ปืนคาบศิลา และอื่นอีกมากมาย รวมไปถึงเกมยังมีระบบการควงแอนาล็อกเพื่อออกท่าโจมตีพิเศษมาให้กับเหล่าผู้เล่นชอบท้าทายรูปแบบการเล่นของตัวเองอีกด้วย และเท่านั้นยังไม่พอเกมยังมาพร้อมกับระบบการใช้เวทมนตร์ที่ในเกมเรียกว่า Shards ที่ศัตรูแต่ละชนิดในเกมจะสามารถมอบพลังหนึ่งอย่างมาให้เราได้ใช้งานได้ และในเกม Bloodstained: Ritual of the Night ก็มีศัตรูนับร้อยรูปแบบ และนั่นหมายความว่าเราก็สามารถเลือกนำพลังกว่าร้อยรูปแบบนี้มาช่วยในการต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ ได้นั่นเอง

bloodstained 3 2

แต่ถึงแม้เกมจะมีพลังพิเศษมาให้เลือกใช้งานได้เป็นจำนวนมาก แต่มันก็มีพลังที่เข้าท่าอยู่ไม่กี่อันทีเท่านั้น แต่ด้วยจำนวนที่มากมันก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นที่ชอบทดลองได้ลองค้นหาแนวทางการเล่นใหม่ๆ เพราะ Shard แต่ละชนิดนั้นก็ยังสามารถนำมาอัปเกรดเพื่อเพิ่มความสามารถได้ด้วย ตัวอย่างเช่น Shard ที่ได้จากศัตรูที่เป็นนักธนูในเกมจะทำให้เราสามารถยิงลูกศรออกไปได้ แต่เมื่อนำมาอัปเกรดมันก็จะสามารถลูกศรออกไปได้หลายลูกมากขึ้นเป็นต้น และด้วยความหลากหลายนี่เองที่ทำให้ Bloodstained: Ritual of the Night ยังคงเป็นเกมที่ควรค่ากับการกลับมาเล่นซ้ำไปซ้ำมาได้อีกหลายรอบ

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ Bloodstained: Ritual of the Night ทำได้ดีคือเพลงประกอบของตัวเกมที่ให้ความรู้สึกสมัยวันวานกลับมาอีกครั้ง แม้ภาพกราฟิกในเกมจะไม่ได้สวยงามมากนัก แต่เพลงประกอบก็ช่วยให้ฉากในเกมดูมีชีวิตชีวาขึ้น และยังได้กลิ่นอายของเกมในยุค 90s ที่เน้นไปที่เครื่องดนตรีอย่างเปียโน, ไวโอลินและออร์แกนเป็นหลักที่ถูกปรับจังหวะให้มีความทันสมัยมากขึ้น ที่ก็น่าจะเป็นผลจากการที่ตัวเกมยังคงได้ “มิจิรุ ยามาเนะ” (Michiru Yamane) ผู้แต่งเพลงประกอบของ Castlevania มาทำเพลงให้กับเกมๆ นี้อีกครั้ง

นอกจากนี้เกมยังมาพร้อมกับโหมดพิเศษต่างๆ ให้กับผู้เล่นที่ชื่นชอบความท้าทายหลังเล่นจบที่ขนมาให้เล่นกันอย่างเต็มอิ่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นโหมดการเล่นแบบ classic ที่เกมจะเปลี่ยนรูปแบบการเล่นของเกมให้กลายเป็นเกม Castlevania ฉบับดั้งเดิม หรือโหมดที่จะให้เราได้รับบทเป็นบอสต่างๆ ของเกม และอื่นๆ อีกมากมายที่ขนมาให้อย่างจัดเต็มสมใจแฟนๆ ที่ให้การสนับสนุนในการสร้างเกมๆ นี้ผ่านทางโปรเจกต์ Kickstarter และรอคอยกันมาอย่างยาวนาน

แต่ถึงแม้ Bloodstained: Ritual of the Night จะเป็นเกมที่เรียกได้ว่าถอดจิตวิญญาณของ Castlevania: Symphony of the Night มาได้อย่างเต็มเปี่ยม แต่มันก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าเสียดายที่เกมน่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะระบบ “ไซด์เควส” ของเกมที่ดูไม่ค่อยน่าสนใจ จากการที่ตัวเกมมีตัวละคร NPC ที่มอบไซด์เควสให้เพียงไม่กี่ตัวละครเท่านั้น และที่ซ้ำร้ายก็คือไซด์เควสในเกมเป็นเควสที่ซ้ำกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการออกไปกำจัดศัตรูให้ได้ตามจำนวนที่กำหนด การไปหาไอเทมในฉากมาส่งให้กับตัวละคร รวมไปถึงระบบปลูกพืชผักและระบบการปรุงอาหารเพื่อนำมาเพิ่มความสามารถให้กับตัวละครเองก็มีความยุ่งยากมากกว่าความสนุก และสิ่งด้วยการที่เกมยังคงเป็นลักษณะความเป็นเกมเก่าที่ถูกนำกลับมาทำใหม่ มันยังทำให้คุณภาพชีวิต (Quality of Life) ของเกมมีความเก่าตามไปด้วย

แต่อย่างไรก็ดี Bloodstained: Ritual of the Night ก็ยังเป็นเกมที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของเกมเก่าๆ ที่เราคิดถึง แม้งานภาพของมันจะไม่ได้ดูดีเหมือนเกมในสมัยนี้แต่เพลงประกอบของเกมก็ทำหน้าที่ช่วยส่งการนำเสนอได้อย่างยอดเยี่ยม และมันก็ยังมาพร้อมกับเกมการเล่นอันสุดแสนจะโบราณที่ยังคงความสนุกได้อย่างน่าเหลือเชื่อที่มีทั้งความหลากหลาย เปิดกว้าง และท้าทายที่จัดมาให้อย่างเต็มอิ่ม และก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมเกม Castlevania: Symphony of the Night ยังคงกลายเป็นเกมแนว Metroidvania ในตำนานมาจนถึงทุกวันนี้

Verdict

Verdict
7 10 0 1
แต่อย่างไรก็ดี Bloodstained: Ritual of the Night ก็ยังเป็นเกมที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของเกมเก่าๆ ที่เราคิดถึง แม้งานภาพของมันจะไม่ได้ดูดีเหมือนเกมในสมัยนี้แต่เพลงประกอบของเกมก็ทำหน้าที่ช่วยส่งการนำเสนอได้อย่างยอดเยี่ยม และมันก็ยังมาพร้อมกับเกมการเล่นอันสุดแสนจะโบราณที่ยังคงความสนุกได้อย่างน่าเหลือเชื่อที่มีทั้งความหลากหลาย เปิดกว้าง และท้าทายที่จัดมาให้อย่างเต็มอิ่ม และก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมเกม Castlevania: Symphony of the Night ยังคงกลายเป็นเกมแนว Metroidvania ในตำนานมาจนถึงทุกวันนี้
แต่อย่างไรก็ดี Bloodstained: Ritual of the Night ก็ยังเป็นเกมที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของเกมเก่าๆ ที่เราคิดถึง แม้งานภาพของมันจะไม่ได้ดูดีเหมือนเกมในสมัยนี้แต่เพลงประกอบของเกมก็ทำหน้าที่ช่วยส่งการนำเสนอได้อย่างยอดเยี่ยม และมันก็ยังมาพร้อมกับเกมการเล่นอันสุดแสนจะโบราณที่ยังคงความสนุกได้อย่างน่าเหลือเชื่อที่มีทั้งความหลากหลาย เปิดกว้าง และท้าทายที่จัดมาให้อย่างเต็มอิ่ม และก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมเกม Castlevania: Symphony of the Night ยังคงกลายเป็นเกมแนว Metroidvania ในตำนานมาจนถึงทุกวันนี้
7/10
Total Score
Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share