‘คัลท์คลาสสิก’ (cult classics) คือ วัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มที่เกิดจากสื่อ โดยเฉพาะสื่อบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์, ดนตรี และวิดีโอเกม ซึ่งวิดีโอเกมที่จัดอยู่ฐานะคัลท์คลาสสิกก็มีอยู่หลากหลาย แต่หนึ่งในยอดเกมแถวหน้าของความคัลท์คลาสสิก ผลงานสุดบ้าคลั่งของทีมพัฒนา Troika Games และเป็นหนึ่งในจักรวาลเกม tabletop เนื้อหาข้นคลั่กอย่าง World of Darkness นั่นก็คือ Vampire: The Masquerade – Bloodlines
การกลับมาของ Vampire: The Masquerade – Bloodlines 2 สร้างความเนื้อเต้นระริกให้กับกลุ่มผู้อยู่ใต้ความหลงใหลวัฒนธรรมวงแคบดังกล่าว ด้วยฝีมือของทีมพัฒนา Hardsuit Labs กับการพยายามนำชิ้นงานคัลท์คลาสสิกขึ้นสู่แสงไฟแต่มิใช่แสงสุริยัน สาดส่องไปเหล่า vampire ที่หลบซ่อนใต้เงามืด เลิกหลบเลียแผลใจ และกลับมาทวงคืนพื้นที่ของตัวเองอีกครั้ง
เขย่าขวัญในชั้นจิตใจ
Vampire: The Masquerade คือเกม tabletop แนว RPG สร้างโดยคุณ Mark Rein-Hagen และจัดจำหน่ายในปี 1991 โดย White Wolf Publishing ซึ่ง Vampire: The Masquerade เป็นเกมแรกที่ใช้ชุดกฎระบบการเล่าเรื่อง (Storyteller System) แก่นหลักของระบบดังกล่าวคือเป็นระบบการทอยลูกเต๋า ใช้ลูกเต๋าสิบหน้า (d10s) เพื่อแก้ไขกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ
เนื้อหาใน Vampire: The Masquerade ผู้เล่นจะรับบทเป็น vampire สิ่งมีชีวิตต้องคำสาป, กระหายในเลือดแดงฉานและเพลี่ยงพล้ำให้กับแสงแดดแรงกล้า สิ่งมีชีวิตที่ต้องผูกพันธะกับสัตว์ร้ายในจิตใจ ความกระหาย ความโกรธ และความกลัว เกมจึงมีบรรยากาศของการไตร่ตรอง แยกแยะ ทางแยกของศีลธรรม ระหว่างความต้องการเพื่อเอาตัวรอดหรือดำเนินสู่หนทางที่โหดร้าย เรียกกันว่าเป็นเกมแนว ‘เขย่าขวัญในชั้นจิตใจ’ (Personal Horror) ไม่ใช่แค่เพียงเกมเขย่าขวัญ
แต่คือเกมโศกนาฏกรรมเขย่าขวัญ
เรื่องราวของ Vampire: The Masquerade อยู่ในจักรวาล World of Darkness โดยถูกผู้เล่นแบ่งเป็นสองช่วง จำแนกอาศัยโดยสายผลิตภัณฑ์ (product line) คือ
- ช่วงแรก คือ Classic World of Darkness ออกแบบโดยคุณ Mark Rein-Hagen มี Vampire: The Masquerade อยู่ในช่วงดังกล่าว โดยใช้กฎ Storyteller System
- ช่องสอง คือ New World of Darkness ออกแบบโดยทีม White Wolf Gaming Studio ที่วางจำหน่ายในปี 2004 มีเกมภายใต้ชื่อและระบบใหม่อย่าง Vampire : The Requiem โดยใช้ร่วมกับกฎใหม่คือ Storytelling System
โดยต่อมาหลังจากการซื้อสิทธิของ Paradox Interactive จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น World of Darkness และ Chronicles of Darkness ตามลำดับ
ซึ่งทั้งสองช่วงจะเกิดในยุคปัจจุบัน และเน้นบรรยากาศของการเขย่าขวัญในชั้นจิตใจเช่นกัน แต่ก็มีความแตกต่างหลายอย่าง ที่เด่นชัดก็คือ ใน Classic World of Darkness จะใช้กลิ่นอายของ Gothic-Punk คือ บรรยากาศของการนำเสนอความดำมืดในจิตใจมนุษย์ ไม่ดำสุดขาวสุด คละเคล้าไปด้วยความ ‘เทา’ หรือที่เรียกว่า film noir รวมไปถึงโลกที่เต็มไปด้วยภาวะอันไม่พึงประสงค์ หรือที่เรียกว่า dystopia แต่ทาง New World of Darkness จะใช้กลิ่นอายของ Modern Gothic แทน นำเสนอถึงโลกปัจจุบันผ่านการมองผ่านกระจกอันดำมืด ซึ่งอันตรายยิ่งกว่า ไร้ความปรานี
ด้วยความเข้มข้นของบรรยากาศใน Vampire: The Masquerade ประกอบไปด้วยความนิยมในตัวจักรวาลดังกล่าว จึงถูกนำไปดัดแปลงเป็นสื่อประเภทอื่นมากมาย รวมไปถึงวิดีโอเกม ด้วยฝีมือของ Troika Games อย่าง Vampire: The Masquerade – Bloodlines
สู่สถานะคัลท์คลาสสิก
Vampire: The Masquerade – Bloodlines เป็นวิดีโอเกมลำดับที่สองที่อ้างอิงเรื่องราวใน Vampire: The Masquerade พัฒนาโดยทีม Troika Games และแตกต่างจากเกมแรกอย่าง Vampire the Masquerade: Redemption ที่พัฒนาโดย Nihilistic Software อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งเป็นเกมแรกวางจำหน่ายโดยใช้ Source Engine มี Activision เป็นผู้จัดจำหน่าย
เกมพยายามดัดแปลงจากเกม tabletop สู่วิดีโอเกม ทั้งด้านระบบการเล่น รวมไปถึงเนื้อหาที่มีบรรยากาศ Gothic-Punk ตามเนื้อหาของต้นฉบับ การจัดการเรื่องราวทางศีลธรรมในใจ พร้อมทั้งการจัดการของผู้เล่นต่อกลุ่มสังกัดต่าง ๆ จากที่เข้าไปพัวพันเรื่องราวของแต่ละกลุ่ม อันส่งผลต่อระดับมหภาค ซึ่งก็เป็นอีกแนวทางที่เป็นเสน่ห์ในโลก Classic World of Darkness
บทวิจารณ์ภาคแรก โดยช่อง GmanLives
ถึงแม้ว่าตัวเกมจะทำการดัดแปลงระบบและเนื้อหาของเกม tabletop ลงสู่วิดีโอเกมได้อย่างประณีต, พิถีพิถัน และเคารพต่องานต้นฉบับ แต่ด้วยปัญหาทางด้านเทคนิคที่เกิดจากการใช้เอนจินใหม่ล่าสุดในตอนนั้น สำหรับ Source Engine เกินความสามารถที่ทีมพัฒนาจะแก้ไขให้เรียบร้อย รวมไปถึงวันวางจำหน่ายที่ชนกับเกมใหญ่อย่าง Half-Life 2 จึงส่งผลให้เกมล้มเหลวในด้านรายได้ มียอดขายต่ำกว่า 80,000 ชุด ก่อนจะปิดตัวทีมพัฒนา Troika Games ในเวลาต่อมา แถมหัวทีมผู้ก่อตั้งอย่าง Leonard Boryasky ยังประสบความเครียดจนเป็นโรคซึมเศร้า ต้องไปรับการบำบัดเลียแผลใจอีกหนึ่งปีเต็มจึงหวนคืนสู่วงการเกมอีกครั้ง
แต่ด้วยความสุดขีดของเนื้อหา การเล่าเรื่อง การวางรากฐานของเกมแนวนี้ในระดับชั้นครู จึงมีผู้ที่หลงใหลจำนวนหนึ่งยังคงเล่นและให้การสนับสนุนจากตั้งแต่วันวางจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน
คัลท์คลาสสิกของคัลท์คลาสสิก
จึงไม่ใช่คำสรรเสริญที่เกินเลยแต่อย่างใด สำหรับ Vampire: The Masquerade – Bloodlines
วันเวลาล่วงผ่านไป คงไม่มีใครคาดคิดว่า ความล้มเหลวที่งดงามในอดีต มันจะกลับมาทวงคืนยอดเกม RPG และแก้ตัวในสิ่งที่เป็นตราบาป โอกาสที่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายของซีรีส์นี้ ด้วยความรับผิดชอบของทีมงาน Hardsuit Labs กับ Vampire: The Masquerade – Bloodlines 2
โอกาสครั้งสำคัญ
หลังจาก 15 ปี ผ่านไปหลังจากการซื้อสิทธิ World of Darkness โดย Paradox Interactive และเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะ เมื่อกระแสของ vampire กลับมามีพื้นที่ในสื่อต่าง ๆ อีกครั้ง ผู้คนก็กำลังหิวโหยในมธุรสสีชาดคาวเลือด พร้อมที่จะกัดซอกคอ ดูดลิ้มชิ้มรสชาติของเรื่องราว vampire และถึงแม้ว่าจะมีสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกม, ภาพยนตร์ และซีรีส์กลับมาใช้เรื่องราวของ vampire แต่ World of Darkness ก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง อย่างเรื่องราวในยุคสมัยใหม่, เนื้อหาที่ซับซ้อน และความจริงจังในระดับของผู้ใหญ่มากกว่าเรื่องราวของวัยรุ่นทั่วไปที่พบเห็นในสื่อ vampire
วิดีโอเปิดตัวเกม Bloodlines 2
เมื่อคุณ Ka’ai Cluney ผู้กำกับฝ่ายสร้างสรรค์ของ Hardsuit Labs ทราบเรื่องดังกล่าว จึงได้ติดต่อไปยังคุณ Brian Mitsoda นักเขียนบทในภาคแรก แล้วกล่าวว่า “เฮ้ เพื่อน คุณอยากทำ Bloodlines 2 ไหม?” โดยคุณ Brian กล่าวตอบว่า “ฉันไม่ได้คิดเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ อยากทำแน่นอน” ทั้งสองรวมกันพัฒนาเสนอแนวคิดของเกม Bloodline 2 จากนั้นได้ติดต่อไปยัง Paradox Interactive เพื่อนำเสนอแนวคิดของเกม และแสดงเจตนารมณ์ในการสร้างเกมภาคต่อในทันที เพราะนี้คือโอกาสครั้งสำคัญ (ที่อาจจะไม่มีอีกแล้ว) ถึงแม้ว่าทาง Paradox Interactive มีแผนการพัฒนา Bloodlines 2 แต่สิ่งที่ Hardsuit Labs นำเสนอ ชนะใจทางฝั่ง Paradox Interactive และได้สิทธิในการสร้าง Bloodlines 2 ในที่สุด โดยพัฒนาในชื่อโครงการ ‘Frasier’
ทีมงาน Hardsuit Labs ก็พยายามอย่างหนักเพื่อขัดเกลาให้เกมออกมาทันยุคทันสมัยมากขึ้น แม้ว่าในภาคแรกก็ถือได้ว่ามีความคัลท์คลาสสิก แต่หลายองค์ประกอบก็ตกยุคไปเสียแล้ว อย่างการเลือกใช้ Unreal Engine 4 เพื่อให้ภาพของเกมดูสวยงามตามเวลา รวมถึงการแก้ไขแวดล้อมให้เข้ากับยุคสมัย
โดย Bloodlines 2 ได้พัฒนาไปควบคู่กับ Vampire: The Masquerade ของฉบับเกม tabletop เพื่อให้ระบบของเกมมีความแนบชิดซึ่งกันและกัน “ถ้าคุณเล่นตัว tabletop หลายสิ่งในเกมจะถูกดัดแปลงใส่ในเกมของเราเพื่อไม่ให้ระบบในเกม IP เดียวกันมันออกมาแตกต่างกันจนเกินไป ทำให้มีความสอดคล้องกันของทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน” คุณ Rachel Leiker หัวหน้าฝ่ายออกแบบ UI/UX ของ Hardsuit Labs กล่าว
โอกาสครั้งสุดท้าย?
วิดีโอเกมการเล่นที่น่ากลัดกลุ้มใจ
ถึงแม้ว่าการกลับมาของ Bloodlines 2 แต่สิ่งที่ทีมงาน Hardsuit Labs ได้นำเสนอถึงวิดีโอเกมการเล่นในภาคนี้ ดูไม่ค่อยจืดสักเท่าไร ยิ่งเพิ่มพูนความกังวลกับทีมพัฒนาว่าจะสามารถนำพาเกมที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในลมหายใจของวัฒนธรรม vampire และ immersive sim ที่หลงเหลืออยู่ ไปสู่ฝั่งฝันได้หรือไม่ โอกาสที่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในการต่อลมหายใจ และอาจสร้างสิ่งใหม่มาได้ไม่รู้จบสิ้น หากมันออกมายอดเยี่ยม
คงได้แต่หวังว่ามันไม่จบชีวิตแบบครั้งก่อนหน้าก็เพียงพอ
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ immersive sim เพิ่มเติมได้ที่
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
- World of Darkness – White Wolf Wiki
- Chronicles of Darkness – White Wolf Wiki
- Vampire: The Masquerade – White Wolf Wiki
- Vampire: The Masquerade – Bloodlines 2 Interview — Bringing Back a Cult Classic for a New Generation
- เจาะลึกข้อมูลแรกอย่างละเอียดของ Vampire: The Masquerade – Bloodlines 2
special thanks:
- คุณไผ่ Sukit Buranasun