ในตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีทีมนักพัฒนาเกมหลายทีมที่พยายามจะนำเอารูปแบบการต่อสู้ด้วยดาบ หรืออาวุธระยะประชิดต่างๆ จากยุคกลางมาเป็นกลไกหลักในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเกมอย่าง Kingdom Come: Deliverance ที่นำเสนอรูปแบบการต่อสู้ที่มีความซับซ้อน ไปจนถึงเกมแนวมัลติเพลเยอร์อย่าง For Honor หรือ Mordhau ที่เรียกได้ว่าเป็นการสร้างเกมการแข่งขันแนวใหม่ แต่ด้วยความซับซ้อนและธีมของตัวเกม ก็ทำให้มันมักจะได้รับความนิยมในหมู่ผู้เล่นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
แต่ Chivalry 2 ผลงานเกมภาคต่อของทีมงาน Torn Banner Studios เป็นเกมที่มาสานต่อจากความแตกต่างของตัวเกมภาคแรก ที่มีกลไกการเล่นไม่เหมือนกับเกมที่เราได้กล่าวไปข้างต้น ด้วยการที่มันมาพร้อมกับรูปแบบการเล่นที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งการเป็นเกมที่ความชำนาญจะเป็นตัวกำหนดผลการแพ้ชนะ และการกลับมาในครั้งนี้ มันยังมาพร้อมกับบรรยากาศการต่อสู้แบบสงครามในยุคกลางที่สมจริงมากขึ้น ราวกับผู้เล่นเป็นหนึ่งในตัวละครที่อยู่ในภาพยนตร์เลย และยังมาพร้อมกับระบบต่างๆ ที่มีการปรับแต่งใหม่ให้เล่นสนุกกว่าเดิมอีกด้วย
Chivalry 2 เป็นเกมภาคต่อของ Chivalry: Medieval Warfare ที่ออกวางจำหน่ายไปเมื่อปี 2012 ซึ่งได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ไปพอสมควรด้วยการเป็นเกมมัลติเพลเยอร์ที่มาพร้อมกับระบบการต่อสู้ด้วยอาวุธยุคกลางต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเกมภาคต่อนี้มันก็ยังคงเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของเกมภาคแรก ด้วยการเป็นเกมมัลติเพลเยอร์เพียงอย่างเดียว และยังรองรับการต่อสู้ระหว่างผู้เล่นถึง 64 คนด้วยกัน ทั้งในโหมดการเล่นทั้งในแบบ Team Deathmatch และ Free-For-All รวมไปถึงโหมดการเล่นอย่าง Team Objective จุดขายของเกมในภาคนี้ ที่เป็นการจำลองฉากสงครามยุคกลางมาเป็นเกมการแข่งขัน ที่จะทำให้ผู้เล่นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในสมรภูมิรบแบบจัดเต็มเลยทีเดียว
เกม Chivalry 2 เป็นเกมที่ผู้เล่นแทบจะไม่ต้องเสียเวลาทำความเข้าใจมากนัก แม้กระทั่งเรื่องราวฉากหลังของเกมเองที่ก็เป็นประวัติศาสตร์เสมือนที่เล่าเรื่องราวของสงครามระหว่างฝ่าย “อัศวินอากาธาร์” (ทีมนำเงิน) และ “ภาคีเมสัน” (ทีมแดง) เท่านั้น โดยเกมจะใช้วิธีการบอกเล่าเรื่องราว (ที่มีไม่เยอะ) ผ่านเกมการเล่นในโหมด Team Objective นั่นเอง ซึ่งในโหมดการเล่นที่จะเป็นโหมดการเล่นหลักของเกมที่รองรับผู้เล่นถึง 64 คน โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายป้องกันและฝ่ายบุกที่มีแนวการเล่นคล้ายกับโหมด Rush ใน Battlefield ที่ผู้เล่นฝ่ายบุกจะต้องพยายามฝ่าแนวป้องกันของฝ่ายรับไปเพื่อไปทำภารกิจต่างๆ ในแต่ละแผนที่ให้ได้ในแต่ละเฟสของเกม
สิ่งที่ทำให้โหมด Team Objective ในเกม Chivalry 2 มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากก็คือ มันมาพร้อมกับบรรยากาศในการรบที่ราวกับถอดแบบมาจากภาพยนตร์ดังหลายๆ เรื่อง ผ่านรูปแบบภารกิจต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ตัวอย่างเช่นในแผนที่หนึ่งของเกม ผู้เล่นฝ่ายบุกมีภารกิจที่จะต้องคอยดันป้อมปราการเพื่อเข้าประชิดแนวกำแพงของปราสาทฝ่ายป้องกันให้ ด้วยรูปแบบการเล่นที่เป็นการนำเอาระบบการดัน Payload ของเกม Overwatch มาประยุกต์ ในขณะที่ฝ่ายป้องกันเองก็ต้องบุกตะลุยฝ่าแนวรุกเข้าไปเพื่อหยุดยั้งการรุกคืบของฝ่ายบุกให้ได้ และยังต้องคอยป้องกันปราสาทด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน น้ำมันร้อน พร้อมคอยดันบันไดของฝ่ายบุกที่ถูกพาดขึ้นมาเป็นระยะ ท่ามกลางความโกลาหลของผู้เล่นจำนวนมากที่ช่วยสร้างบรรยากาศของสงครามได้เป็นอย่างดี
ซึ่งตัวอย่างที่กล่าวนั้นก็เป็นแค่เฟสหนึ่งในหลายๆ เฟสของเกมในการแข่งขันหนึ่งครั้งเท่านั้น โดยตัวเกมยังมีรูปแบบภารกิจที่มีความหลากหลายอีกมากมายในแผนที่แต่ละแผนที่ของเกม ไม่ว่าจะเป็นภารกิจชิงตัวประกัน ภารกิจเผาหมู่บ้าน ภารกิจยึดพื้นที่ และอื่นๆ อีกมากมายที่ผสมปนเปอยู่ในแผนที่แต่ละแผนที่ของเกม ที่แม้ในตอนนี้เกมจะมีแผนที่ในโหมด Team Objective เพียงแค่ 5 แผนที่เท่านั้น แต่แผนที่แต่ละแผนที่ก็มีเอกลักษณ์และความหลากหลายอยู่พอสมควรทีเดียว
และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือแผนที่แต่ละแผนที่ยังออกมาแบบมาให้เล่นได้อย่างสนุกอีกด้วย ด้วยการที่ทุกแผนที่ในโหมด Team Objective มีการออกแบบแผนที่ให้เป็นแผนที่เส้นตรง และมีเส้นทางแยกย่อยไปเพียงไม่กี่เส้นทางเท่านั้น พร้อมมีจุดคอขวดที่ทำให้ผู้เล่นจำนวนมากได้มาปะทะกันตลอด ซึ่งจริงอยู่ว่ามันอาจจะทำให้ผู้เล่นได้มาต่อสู้กันตรงๆ เพื่อสร้างฉากการรบที่ยิ่งใหญ่ แต่มันก็ไม่เอื้อให้กับการสร้างกลยุทธ์ในการต่อสู้แบบเป็นทีมมากนักซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะรูปแบบของสงครามในยุคกลางที่เน้นการต่อสู้แบบเอาตัวแลกเข้าว่า มันก็เลยทำให้แผนที่ในเกมไม่ค่อยมีจุดที่สามารถอ้อมเพื่อพลิกเกมได้แบบเดียวกับเกมมัลติเพลเยอร์ที่มักจะมีเส้นทางแยกให้ผู้เล่นสามารถอ้อมมาจัดการศัตรูจากทิศทางอื่นๆ ได้นอกจากจุดคอขวดได้ จนส่งผลให้ในหลายๆ จุดของแผนที่มันมีความไม่สมดุลกันอย่างร้ายกาจเลยทีเดียว
นอกจากแผนที่เกมที่มีความเป็นเอกลักษณ์แล้ว ตัวเกม Chivalry 2 ยังมาพร้อมกับระบบคลาสที่คงธีมของยุคกลางไว้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งตัวเกมจะมีคลาสหลักให้ผู้เล่นเลือกเล่นได้ 4 คลาสโดยที่แต่ละประเภทก็จะมีซับคลาสที่แบ่งออกอีกสามประเภท โดยที่แต่ละซับคลาสก็ยังมาพร้อมกับอาวุธ และความสามารถพิเศษที่แตกต่างกันออกไปด้วย ตัวอย่างเช่นคลาสพลธนูก็จะมีซับคลาสทั้งสายธนูยาว, สายหน้าไม้, สายอาวุธขว้าง หรือคลาสอัศวิน ที่เป็นคลาสสายฟื้นฟูพลังให้กับทีมหรือตัวเอง ก็มีซับคลาสที่ช่วยเพิ่มพลังชีวิตได้หลายรูปแบบ และยังมีสายการเล่นสำหรับการโจมตีโดยเฉพาะอีกด้วย แต่ถึงแม้เกมจะมีสายการเล่นที่หลากหลายแต่กลไกหลักของเกมก็ยังคงเน้นไปที่การต่อสู้ในระยะประชิดด้วยดาบ และอาวุธยุคกลางต่างๆ เป็นหลัก แต่ถึงกระนั้นแล้วมันก็มีคลาสบางคลาสที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการต่อสู้บางพื้นที่ได้ด้วยสมดุลของเกมที่ยังปรับแต่งมาไม่ดีนัก
ซึ่งสิ่งที่สามารถสร้างความแตกต่างในการต่อสู้ได้อย่างเห็นได้ชัดก็คืออาวุธต่างๆ ในเกมนั่นเอง ที่ตัวเกมได้มีการจำลองการต่อสู้ในสงครามยุคกลางมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบบการต่อสู้ในเกมภาคนี้ก็ทำออกมาได้สนุก และทำความเข้าใจได้ง่ายด้วยโหมดสอนการเล่นที่สอนกลไกต่างๆ อย่างหมดเปลือก แต่ก็ยังแฝงความล้ำลึกเอาไว้ ที่ผู้เล่นจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในการต่อสู้ได้อีกด้วย
รูปแบบการโจมตีในเกม Chivalry 2 โดยแบ่งออกเป็นการโจมตี 4 รูปแบบได้แก่ การแทง การฟันเป็นแนวขวาง การฟันเหนือหัว และการใช้ท่าพิเศษของอาวุธแต่ละชิ้น ซึ่งท่วงท่าต่างๆ ไม่ได้เป็นการกำหนดทิศทางเหมือนเกมอย่าง For Honor หรือ Kingdom Come: Deliverance แต่ตัวกำหนดความแตกต่างของท่วงท่าแต่ละท่าก็คือ ระยะเวลาในการโจมตีและความรุนแรงนั่นเอง ซึ่งเกมยังเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสร้างคอมโบการโจมตี จากท่าทางเหล่านี้ได้อย่างอิสระเพื่อจู่โจมใส่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระบบการต่อสู้ในเกม Chivalry 2 ก็ยังคงเน้นหนักไปที่การบริหารจัดการค่าความเหนื่อยล้าหรือ “สตามิน่า” เป็นหลักนั่นเอง
เช่นเดียวกับการโจมตี การป้องกันเองก็มีความลึกซึ้งมากกว่าแค่การตั้งท่าป้องกัน และรอจังหวะไปเรื่อยๆ เพราะการตั้งท่าป้องกันค้างไว้ในเกม Chivalry 2 จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม สามารถใช้ท่าคอมโบหรือท่าโจมตีพิเศษ รวมไปถึงการเตะที่เป็นอีกกลไกหนึ่งมาทำลายการป้องกันได้ทันที ซึ่งการถูกทำลายท่าป้องกันจะทำให้ค่าสตามิน่าลดลงเป็นอย่างมาก และจะทำให้เราเสียเปรียบฝ่ายตรงข้ามที่เป็นฝ่ายบุกโจมตีแทบจะทันที
เพื่อที่จะป้องกันและจู่โจมกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกม Chivalry 2 จึงได้มีการเพิ่มกลไกอย่างปัดป้องหรือการทำ “Parry” เข้ามา ที่ผู้เล่นจะต้องทำการกดป้องกันในจังหวะที่ดาบของผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะฟันเข้าถึงตัวให้ได้ และเกมยังมีระบบการสวนกลับอย่างการทำ “Counter” ที่ผู้เล่นจะสามารถสวนการโจมตีกลับไปได้ทันทีหากกดโจมตีได้ตรงจังหวะก่อนที่การโจมตีของฝ่ายตรงข้ามจะถึงตัว หรือระบบอย่างการแทงสวน “Riposte” ที่ผู้เล่นจะสามารถโจมตีสวนกลับไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้นหากสามารถทำการ “Parry” ได้สำเร็จอีกด้วย
ซึ่งการต่อสู้ในเกม Chivalry 2 จะเน้นไปที่การช่วงชิงจังหวะเป็นหลักมากกว่าการการพึ่งพาการตอบสนอง รวมไปถึงผู้เล่นเองก็ยังต้องทำความคุ้นเคยกับอาวุธแต่ละชิ้นที่มีช่วงระยะของการโจมตีที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยตัวเกมก็ได้มีการเพิ่มเติมในส่วนของมุมมองบุคคลที่สามเข้ามา เพื่อให้ผู้เล่นสามารถทำความคุ้นเคยกับระยะการโจมตีได้ง่ายขึ้น แต่ในการเล่นระดับสูงของสังคมเกม Chivalry 2 ระบบการเลือกมุมมองมักจะมีการกำหนดให้ใช้เพียงมุมมองบุคคลที่หนึ่งเพื่อความสมจริงเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระบบการต่อสู้ของเกม Chivalry 2 ก็ดูเหมือนจะเฉิดฉายอยู่แค่เพียงในโหมดการเล่นแบบ Free-For-All หรือ Team Deathmatch เท่านั้น เพราะด้วยความโกลาหลของโหมด Team Objective ที่มีผู้เล่นถึง 64 คน (ที่หากไม่ครบเกมก็จะมีการเพิ่มบอทเข้ามาให้ครบจำนวน) และการออกแบบฉากที่เป็นคอขวด มันก็เป็นการยากที่ผู้เล่นจะสามารถรับมือกับการโจมตีในหลายทิศทางได้ รวมไปถึงการโจมตีฝ่ายตรงข้ามก็เป็นไปอย่างยากลำบากด้วยจำนวนของผู้เล่นในฝ่ายเดียวกันที่มักขวางทางอยู่ข้างหน้า ซึ่งทางทีมงานก็เหมือนจะรู้ปัญหาในจุดนี้ด้วยการเพิ่มโหมดการเล่นที่จำกัดผู้เล่น 48 คนเข้ามาด้วยแต่มันก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดมากนัก
แต่ในโหมดการเล่นแบบ Free-For-All หรือ Team Deathmatch มันก็จะเป็นเกมในอีกรูปแบบที่มาพร้อมกับแผนที่ที่มีความเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อให้ผู้เล่นสามารถปะทะกันได้อย่างถึงลูกถึงคน ซึ่งมันยังมีเสน่ห์ที่แตกต่างจากเกมมัลติเพลเยอร์เกมอื่นๆ ด้วยการที่ผู้เล่นจะมีความเคารพในกฎการต่อสู้ของนักรบเป็นอย่างมาก แม้ว่าเกมจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถเลือกโจมตีใครก็ได้ก็ตาม แต่ผู้เล่นเกม Chivalry 2 ส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกจับคู่ประลองกันอย่างสมศักดิ์ศรี โดยไม่คิดแทงใครจากข้างหลัง โดยเกมยังมาพร้อมกับระบบเซิฟเวอร์แบบ Dedicated Server ที่ผู้เล่นสามารถเลือกเข้าเล่นในเซิฟเวอร์ต่างๆ ได้อย่างอิสระอีกด้วย
แม้เกม Chivalry 2 จะมีบรรยกาศในการรบที่ให้ความรู้สึกร่วมได้อย่างยอดเยี่ยมในฉากการรบอันสุดยิ่งใหญ่ของเกม แต่องค์ประกอบหนึ่งที่เกมยังคงขาดไปก็คือการสร้างเพลงประกอบเพื่อเร้าอารมณ์ของผู้เล่น ด้วยการที่ตัวเกมแทบจะไม่มีการใช้เพลงประกอบใดๆ เลย มันก็เลยทำให้การต่อสู้ในบางครั้งที่มีช่วงจังหวะสำคัญมีความจืดชืดไปบ้าง แต่เกมก็มีกลไกเล็กๆ ที่มาช่วงพยุงบรรยกาศของเกมเอาไว้ได้อย่างชาญฉลาดนั่นคือการตะโกนที่เกมได้วางปุ่มเอาไว้ให้กดง่ายอย่างจงใจ ที่จะทำให้ผู้เล่นทุกคนพร้อมใจกันกดตะโกนก่อนเข้าปะทะไปโดยสัญชาตญาณ
Chivalry 2 เป็นเกมมัลติเพลเยอร์ธีมยุคกลางที่มีความตั้งใจจะเข้าหาผู้เล่นหมู่มากมากขึ้น มากกว่าการเน้นไปที่การเพิ่มรายละเอียดของเกมให้สมจริง แต่ถึงกระนั้นแล้วความต่างชั้นระหว่างผู้เล่นใหม่และผู้เล่นเก่าก็ยังคงมีอยู่ ประกอบกับเกมก็ยังมีปัญหาในเรื่องสมดุล ทั้งในส่วนของอาวุธและคลาสที่อาจจะส่งผลในระยะยาวได้ และถึงแม้โหมดการเล่น Team Objective จะมีความสนุกและน่าสนใจ แต่มันก็ไม่สามารถดึงดูดผู้เล่นในระยะยาวได้ดีเท่าที่ควร ด้วยการออกแบบแผนที่ที่มีความเป็นเส้นตรงเพียงอย่างเดียว และไม่สามารถพลิกแพลงกลยุทธ์ได้มากนัก แต่หากใครต้องการเล่นเกมมัลติเพลเยอร์ที่สามารถมอบความรู้สึกของการต่อสู้ในสงครามยุคกลางอยู่ละก็ Chivalry 2 ก็สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นเกมที่สามารถวัดฝีมือกันได้แบบแฟร์ๆ ที่สนุกอีกด้วย