Detroit: Become Human คือผลงานชิ้นล่าสุดของทีมงาน Quantic Dream ที่ผ่านการรังสรรค์โดยผู้กำกับอย่าง เดวิด เคจ (David Cage) ชายผู้ให้กำเนิดเกมอย่าง Indigo Prophecy, Heavy Rain และ Beyond: Two Souls ที่ได้กลับมาทำหน้าที่เดิมของเขาอีกครั้ง ทั้งในส่วนของการกำกับและการเขียนเรื่องราวทั้งหมดของเกม จากจุดเริ่มต้นด้วยการเป็นภาพยนตร์สั้น Tech Demo ที่เปิดตัวออกมาในปี 2013 และได้สร้างความตื่นตะลึงทั้งด้านงานภาพและเนื้อหา ในที่สุดมันก็ได้กลายเป็นวิดีโอเกมอย่างเต็มตัวที่มาพร้อมกับเรื่องราวของ “ศีลธรรมของความเป็นมนุษย์ สายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว สิทธิอมนุษยชน” ในผลงานใหม่ชิ้นนี้ ที่ก็ยังคงความเป็นเกมในแบบ Quantic Dream เช่นที่ผ่านมา
เป็นเรื่องยากที่ผู้เขียนจะสามารถตัดสินได้ว่าการเล่าเรื่องใน Detroit: Become Human นั้นดีหรือไม่ดี อันที่จริงแล้วในการเขียนบทวิจารณ์ หลักการของผู้เขียนก็คือการจับเอาข้อดีมาใส่ และนำข้อเสียมาหักล้างผ่านการพรรณนาโวหารเพื่อตัดสินในตอนท้ายสุดเป็นภาพรวมให้ผู้อ่านได้เข้าใจ แต่ในทุกผลงานของ Quantic Dream ผู้เล่นคือส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ เดวิด เคจ ต้องการให้เราได้มีส่วนร่วม ในการตัดสินใจเพื่อสร้างเรื่องราวในแบบฉบับของผู้เล่นแต่ละคนด้วยการทิ้งคำถามเอาไว้อย่างมากมาย
Detroit: Become Human เล่าเรื่องราวในโลกอนาคตอันใกล้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองดิทรอยท์เมืองอุตสาหกรรมของอเมริกา ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันน่าขมขื่นทั้งในโลกวิดีโอเกมและในโลกแห่งความจริง ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ก็ยังเป็นภาพฉายที่แสดงออกมาให้เห็นถึงข้อความที่ เดวิด เคจ ต้องการที่จะสื่อออกมาในเกมอย่างชัดเจน นั่นคือเรื่องราวของสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม
ในโลกอนาคตของเมืองดีทรอยท์ อาชีพใช้แรงงานทั้งหลายต่างถูกแทนที่ด้วยการมาของแอนดรอยด์สิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีลักษณะเหมือนมนุษย์แทบทุกอย่าง แอนดรอยด์ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนสิ่งที่เหล่ามนุษย์ชนชั้นกลางไม่อยากทำหรือไม่มีเวลา ไม่ว่าจะเป็นงานเก็บขยะ, งานดูแลบ้าน, งานเลี้ยงเด็ก และจิปาถะอีกมากมาย เหตุการณ์ใน Detroit: Become Human เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของสามแอนดรอยด์ที่มีเส้นเรื่องที่ต่างกัน Connor แอนดรอยด์นักสืบผู้มาพร้อมกับวิทยาการที่ก้าวล้ำกว่าแอนดรอยด์ตัวอื่นๆ Kara แอนดรอยด์ที่ถูกซื้อเข้ามาอยู่ในบ้านที่ความสัมพันธ์แตกสลาย และ Markus แอนดรอยด์ข้ารับใช้ในบ้านอันแสนอบอุ่นที่เขาถูกปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วไป แต่นั่นคือกุญแจดอกสำคัญที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาก่อการปฏิวัติเรียกร้องสิทธิของเหล่าแอนดรอยด์ในเวลาต่อมา
แม้ เดวิด เคจ จะปฏิเสธเสียงแข็งว่าเกมของเขาไม่ต้องการที่จะสื่อสารข้อความบางอย่างให้กับสังคม แต่เรื่องราวใน Detroit: Become Human มันก็คือภาพฉายของการแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิวที่เรายังคงได้เห็นได้ถึงปัญหาที่หยั่งรากฝังลึกอยู่ในปัจจุบัน (ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยบ้านเราเองที่ก็ยังคงแบ่งแยกกันระหว่างคนบ้านนอกและคนกรุง) โดยแทนกลุ่มคนผู้ถูกแบ่งแยกด้วยเหล่าแอนดรอยด์ที่ไร้สติสัมปชัญญะและมนุษย์ผู้สร้าง ซึ่งมันก็วนกลับเข้ามาสู่คำถามที่เราต่างถามตัวเองมาตลอดนับตั้งแต่ที่ได้เกิดมาว่า อันที่จริงแล้วมนุษย์เองก็เป็นเพียงแค่ภาชนะที่ภายในบรรจุเอาไว้ซึ่งความเป็นปัจเจกแท้จริงหรือไม่
เรื่องราวใน Detroit: Become Human เริ่มต้นขึ้นด้วยการที่แอนดรอยด์สิ่งมีชีวิตอันก้าวล้ำที่มนุษยชาติสร้างสรรค์กลับเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาอย่างไร้สาเหตุ พวกมันมีโปรแกรมที่สามารถก้าวข้ามการทดสอบทัวร์ริ่งได้ และนั่นหมายความว่ามันมีความเข้าใจที่ซับซ้อนเช่นเดียวกับมนุษย์ ซึ่งทำให้พวกมันกลายเป็นประดิษฐ์ที่มีความเจ็บปวด สิ้นหวัง ความเปราะบางดังเช่นพวกเราเอง ความเปราะบางที่ว่านี้ได้นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ทำให้ผู้เล่นจะต้องเรียงร้อยเรื่องราวผ่านตัวละครทั้งสามที่มีความเส้นเรื่องหลักที่แตกต่างกันออกไป จนนำไปสู่การขมวดรวมเรื่องราวทั้งหมดในบทสุดท้ายที่ขึ้นอยู่กับคำตอบของผู้เล่นแต่ละคนว่าต้องการที่จะนำพาอนาคตของโลกไปในทิศทางไหน
สิ่งหนึ่งที่แตกต่างไปจากผลงานก่อนๆ ของ เดวิด เคจ ก็คือใน Detroit: Become Human มันมีวุฒิภาวะที่มากขึ้นอย่างห็นได้ชัด ด้วยการสื่อสารเรื่องราวทางสังคมและความไปเป็นได้ของโลกอนาคตในความเป็นจริงที่เริ่มจะเข้าใกล้มาถึงทุกที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ที่พวกเราเองก็เริ่มมองเห็นเค้าลางได้ในสังคมยุคปัจจุบันแล้วว่าชนชั้นแรงงานและพนักงานทั่วไปเริ่มถูกแทนที่ด้วยการมาของสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างทวีคูณ ปัญหาทางด้านมลพิษที่เกิดจากพวกเราเอง ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านการเคลื่อนไหวทางสังคม และอื่นๆ ในโลกอนาคตอันใกล้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Detroit: Become Human กำลังจะ Become True แล้วในเร็ววันนี้ และนั่นก็คือสิ่งที่เกมกำลังตั้งคำถามกับเรานั่นเองว่าพวกเราต้องการที่จะให้อนาคตที่เราอยากอาศัยอยู่ออกมาในรูปแบบไหน
แต่อย่างไรก็ดีแม้เรื่องราวใน Detroit: Become Human จะสร้างแรงกระทบทางสังคมให้กับผู้เล่นได้ขนาดไหน แต่ด้วยการที่มันนำเสนอประเด็นหลายอย่างมากเกินไป มันก็ทำให้เรื่องราวเหล่านั้นสัมผัสได้ในระดับผิวเผินเท่านั้น แทนที่จะเน้นไปยังประเด็นในประเด็นหนึ่งในแต่ละเส้นเรื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างกลับดูผสมปนเปไปอย่างไร้ทิศทาง เหลือเพียงไว้แต่แรงใจจากผู้เล่นเท่านั้นที่ยังคงเอาใจช่วยเหลือตัวละครให้รอดผ่านไปในแต่ละฉาก ที่พลางจะทำให้เราได้ฉุกคิดบ้างในบางช่วงจังหวะเป็นบางเวลา เพื่อให้เราได้ตั้งตอบคำถามกับการตัดสินใจต่างๆ ที่เราได้เลือกไปแล้ว
โดยพื้นฐานแล้ว Detroit: Become Human ก็ยังคงเป็นเกมในรูปแบบดั้งเดิมของ Quantic Dream ที่นำเสนอรูปแบบการเล่นง่ายๆ ที่เพียงแค่เปิดโอกาสให้เราได้ไปปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัวโดยการทำการกดปุ่มเพียงไม่กี่ปุ่ม มีกลไกปริศนาเล็กน้อย และมีการจดตามจังหวะเป็นบางช่วงๆ แต่สิ่งที่ทำให้เกม Detroit: Become Human โดดเด่นยิ่งขึ้นก็คือระบบ Flow Chart หรือผังเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวและเส้นทางทั้งหมดที่เกมมี
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้จากผู้เล่นเกม Detroit: Become Human คือการที่เกมได้แบ่งผู้เล่นออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้เล่นที่จะมีเป้าหมายในเส้นทางที่พวกเขาต้องการจะเลือกเดินในเส้นทางอันหลากหลายของตัวเกม และพยายามที่จะเล่นเกมโดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่กลุ่มผู้เล่นกลุ่มที่สองกลับเลือกที่สร้างเรื่องราวไปพร้อมกับเกม ด้วยการคิดตรึกตรอง ณ เวลานั้นๆ ตามสถานการณ์เป็นหลักโดยคาดหวังความประหลาดใจที่เกมจะมอบให้
แม้ทั้งสองแนวทางการเล่นและกรอบความคิดจะฟังดูเป็นแนวทางที่เล่นเกมได้อย่างสนุกทั้งคู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้เล่นกลุ่มแรกมักประสบปัญหาเมื่อเกมไม่มีตัวเลือกตามที่ต้องการแม้จะมีเส้นทางที่หลากหลาย แต่สุดท้ายแล้วเกม Detroit: Become Human เองก็มีข้อจำกัดที่ทำให้มันมีผลลัพธ์อันน่าพอใจออกมา และก็ยังไม่ได้มีตัวเลือกในการตัดสินใจที่ครอบคลุมความต้องการของผู้เล่นทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงการตัดสินใจสำคัญในหลายเหตุการณ์ แต่สิ่งที่ต้องชมก็คือเส้นทางของตัวเลือกนั้นค่อนข้างที่จะแฟร์กับผู้เล่นแม้ผลลัพธ์ของเรื่องราวที่เลือกมานั้นมันจะไม่เป็นที่ถูกใจ
มันจึงทำให้การเล่นเกม Detroit: Become Human ในกรอบความคิดของผู้เล่นในกลุ่มที่สองน่าจะเป็นแนวทางที่อะลุ่มอล่วยมากกว่า การเล่นเกมด้วยรูปแบบนี้ทำให้เรามิอิสระมากขึ้น แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยความเหนือความคาดหมายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และก็อาจไม่เป็นที่ถูกใจได้เช่นกัน ซึ่งหากผู้เขียนเข้าใจไม่ผิดการเลือกเล่นด้วยวิธีการนี้คือเป้าหมายของทีมพัฒนาที่ต้องการจะให้เกมถูกนำกลับมาเล่นใหม่เรื่อยๆ เพื่อหาเส้นทางและเรื่องราวที่เราถูกใจ แม้ว่าในใจจริงของเราแล้ว เราก็มักที่จะตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเลือกเดิมๆ แต่ด้วยผลลัพธ์ที่ทำให้เราไม่พอใจ มันก็กลายเป็นการบีบบังคับเราให้ต้องตัดสินใจในแบบที่เราไม่อยากจะเลือก
อันที่จริงแล้วมนุษย์เราเองก็มีการตัดสินใจที่ไม่แตกต่างไปจากหุ่นยนต์มากนัก มันเป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมาเป็นศตวรรษในการทดลองของ เลฟ คูเลชอฟ (Lev Kuleshov) ที่ได้ทำการทดลองโดยการฉายภาพตามลำดับสองภาพหลายครั้ง โดยอีกภาพหนึ่งเปลี่ยนและอีกภาพหนึ่งไม่เปลี่ยน ซึ่งภาพที่ไม่เปลี่ยนก็คือภาพใบหน้าของผู้ชายคนหนึ่งที่ผู้ทดลองต่างคิดว่าภาพใบหน้าของชายคนดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ตลอดเวลา ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Kuleshov เอฟเฟกต์ เมื่อเปรียบเทียบกับเกม ภาพแรกคือเหตุการณ์ก่อนที่ผู้เล่นจะเลือกตัวเลือก และภาพที่สองมันก็คือภาพฉายของผลลัพธ์ที่เหมือนกัน แต่มันก็ได้สร้างอารมณ์ให้กับผู้เล่นที่แตกต่างกันออกไปแล้วจนนำไปสู่การตัดสินใจในภายหลังที่จะแตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจนเมื่อเกมได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ตัดสินใจอีกครั้ง
แต่นี่คือวิดีโอเกมที่ตัวเลือกในการตัดสินใจนั้นมีจำกัด และก็น่าเสียดายที่ตัว เดวิด เคจ ผู้แต่งเรื่องเองก็มีธงของเขาอยู่ในใจว่าเรื่องราวที่ดีที่สุดมันควรจะไปลงเอยในเส้นทางไหน สัมผัสได้จากความแปลกประหลาดในหลายๆ อย่างเมื่อผู้เล่นตัดสินใจแหวกขนบธรรมเนียมของการเล่าเรื่อง มันกลับลงเอยด้วยการปิดฉากเรื่องราวอย่างไม่เต็มใจนัก ในขณะที่เรื่องในแบบอย่างที่ผู้สร้างปราถนาจะเป็นกลับดูโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดว่ามันถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนี้
กลายเป็นเอกลักษณ์ของทีมงาน Quantic Dream ไปแล้วนับตั้งแต่ผลงานชิ้นที่สองของพวกเขาอย่าง Heavy Rain เปิดตัวออกมาด้วยภาพกราฟิกที่ล้ำหน้าว่าเกมในยุคสมัยเดียวกัน Detroit: Become Human เองก็ยังคงแนวทางนั้นเอาไว้เช่นเดิมด้วยเทคโนโลยีขั้นสุดเท่าที่เราจะสามารถเห็นได้ในตอนนี้ ในการรังสรรค์โลกดิทรอยท์ในอนาคตขึ้นมาด้วยงานศิลปะตามสไตล์ที่เราเห็นได้ในหนังไซไฟ อย่าง I-Robot หรือ The Island มันคือโลกอนาคตอันสว่างสด แต่ในขณะเดียวกันมันก็ยังคงมีเศษซากของสิ่งปรักหักพังจากความเสื่อมโทรมที่ปรากฏอยู่ตามตัวเมือง และเกมก็ยังมีอีกหลายฉากที่ดูสวยงามและน่าจดจำ สมความพยายามของทีมงานที่ต้องการที่จะสร้างมันให้กลายเป็นภาพยนตร์ในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง
จุดหนึ่งที่เกมของทีมงาน Quantic Dream ประสบปัญหาเสมอมาก็คือการที่มันก็ยังเป็นเกมที่เน้นการเล่าเรื่องเป็นหลักทั้งๆ ที่เรื่องราวของเกมมันมีเนื้อหาเชิงการสอบสวนสอบสวนซึ่งมันก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นเพียงฉากหน้าของการเล่าเรื่องอย่างที่เกมต้องการจะให้มันเป็นเท่านั้น ซึ่งใน Detroit: Become Human เองก็เช่นกันที่มันยังคงมีตัวเลือกในการสืบสวนสอบสวนที่จำกัดจำเขี่ย แต่สิ่งที่เกมนำมาเติมเต็มให้กับเราก็คือองค์ประกอบของตัวปริศนาบางอย่างที่ก็มีทั้งง่ายและยากปะปนกันไป และมีลูกเล่นที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตัวละครที่อยู่ในบริบทนั้นๆ ซึ่งการแก้ไขปริศนาบางอย่างยังสงผลต่อเรื่องราวในเกมอย่างใหญ่หลวงอีกด้วยและก็เป็นสิ่งที่เกมทำออกมาได้ดีมากเลยทีเดียว
นอกจากนี้เกมก็ยังมาพร้อมกับการทำโมชันแคปเจอร์และการให้เสียงพากย์ที่ยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักทั้งสามที่ได้ ไบรอัน เด็คฮาร์ต, เจสซี วิลเลียมส์ และ วาลอรี่ เคอร์รี มารับบท และด้วยบทบาทของการเป็นแอนดรอยด์มันก็ทำให้การสื่อสารทางด้านอารมณ์ภายในเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากซึ่งเกมก็สามารถแสดงสิ่งเหล่านั้นออกมาได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ แคลนซี บราวน์ ที่มารับบทเป็น Hank ตำรวจคู่หูของ Connor ก็แสดงได้อย่างยอดเยี่ยม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำงานในส่วนโปรดักชันของ Quantic Dream นั้นเป็นหนึ่งในจุดแข็งของพวกเขามาโดยตลอดจริงๆ น่าเสียดายที่งานทางด้านเสียงของพวกเขายังไม่โดดเด่นมากนักในการขับอารมณ์และสร้างเอกลักษณ์ แต่มันก็ยังทำหน้าที่ได้ตามมาตรฐานในแบบอย่างที่มันควรจะทำได้
Detroit: Become Human เป็นผลงานที่แฟนเกมของทีมงาน Quantic Dream ห้ามพลาดมันมีการพัฒนาขึ้นทั้งในด้านภาพกราฟิกและเนื้อหาที่แผ่ขยายขอบเขตของความเป็นไปได้ให้มากยิ่งขึ้นกว่าผลงานก่อนๆ ที่พวกเขาเคยทำมา