Remaster Remake Re-Release คืออะไรยังไงกันแน่?

Spotify Badge


ารนำเอาผลงานสื่อประสมชิ้นหนึ่งขึ้นมาทำใหม่และปล่อยขายในอีกเวอร์ชันหนึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นในทุกๆ วงการ ทั้งเพลง ภาพยนตร์ หรือแม้แต่วิดีโอเกมก็ดี เรามักจะได้เห็นการหยิบยกเอาเกมเก่าในอดีตขึ้นมาทำใหม่ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ Remaster, Remake หรือแค่การ Port มาให้เล่นในคอนโซลยุคปัจจุบันได้อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มักจะมีผู้คนเข้าใจผิดบ่อยๆ ว่าเกมนี้มัน Remaster มานะ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วมันแค่ Port มาขายอีกรอบ หรือบางเกมก็เป็นการ Remaster จริงๆ แต่บางคนก็เข้าใจว่าแค่ Port มา

แล้วอะไรมันเป็นยังไงกันแน่ล่ะ?

REMASTER

การรีมาสเตอร์ คือการเอา Source Material หรือตัวเกมต้นฉบับมาปรับปรุงด้านภาพกราฟิกส์หรือเสียงใหม่ ซึ่งตัวเกมที่เราจะได้ก็ยังเป็นตัวเกมเดิม โมเดลตัวละครแบบเดิม แต่แสดงผลในความละเอียดที่สูงขึ้น รายละเอียด Texture สวยขึ้น Framerate ดีขึ้น เสียงประกอบจะมีการปรับความคมชัดของเสียงให้มากขึ้น แต่ไม่มีการ Rearrange เพลงใหม่หรืออะไรแต่อย่างใด (ถ้าทีมพัฒนาไม่คิดจะทำ) แต่ในบางเกมเช่น Grim Fandango ก็มีการทำเพลงขึ้นมาใหม่บางส่วน ในบางเกมที่ตัวต้นฉบับมีตัวเสริมหรือ DLC ตัวรีมาสเตอร์ก็จะใส่มาให้เลยไม่ต้องไปซื้อเพิ่ม

Dark Souls Remaster

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาเดิมที่ตัวเกมมีจะหมดไปหลังจากการรีมาสเตอร์ เช่นบั๊กบางตัว หรือข้อเสียที่เกมต้นฉบับเดิมมี ตัวรีมาสเตอร์ก็จะยังมีอยู่ และในบางครั้งการรีมาสเตอร์ก็ไม่ได้หมายความว่าเกมจะ “ดูดี” ขึ้นเสมอไป เช่นในกรณีของ Fable Anniversary ที่ Art Direction คุณภาพแย่ลง หรือ Dark Souls Remastered ที่ภาพดูดีขึ้นแต่ปัญหาเรื่อง Security ที่ไม่กันพวกใช้โปรแกรมโกงของตัวต้นฉบับ ก็ยังมีอยู่

RE-RELEASE (Port)

เป็นกระบวนการที่มักจะถูกเข้าใจผิด และเหมารวมกับการรีมาสเตอร์ซะเป็นส่วนมาก ถ้าให้พูดตรงๆ มันคือการ “พอร์ต” ตัวเกมเดิมที่เคยลงเฉพาะเครื่องหนึ่ง มาสู่อีกเครื่องหนึ่งเท่านั้น แต่อาจเพิ่มการรองรับหน้าจอที่มีความละเอียดสูงๆ และในบางเกมก็เพิ่ม Options ด้านกราฟิกส์เข้ามาด้วย เช่น VANQUISH ที่สามารถปรับความละเอียดภาพได้ถึง 4K และปลดล็อกเฟรมเรตให้ แต่ตัวเกมก็ยังเป็นตัวเกมเดิมจากตอน PS3/XBOX 360 ไม่ได้มีการปรับปรุงด้านกราฟิกส์อะไรแต่อย่างใด

Vaquish Port

การพอร์ตเกมนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องพอร์ตจากคอนโซลมาลง PC เท่านั้น แต่ยังมีการพอร์ตตัวเกมจากคอนโซล Gen เก่าไป Gen ปัจจุบันด้วย เช่น Shenmue ที่มีการพอร์ตไปขายบนเครื่อง XBOX 360 และก็พอร์ตมาขายบน PC ภายหลัง แต่เนื่องจากตัวเกมมีลักษณะคล้ายกับรีมาสเตอร์ คือทำขายบนคอนโซลยุคปัจจุบัน และหากทำขายบน PC ก็มักจะมีออปชันด้านกราฟิกส์มาให้ปรับแทบทุกเกม คนจึงมักจะเข้าใจผิดอยู่เรื่อยๆ ว่าเกมพอร์ตกับเกมรีมาสเตอร์คือแบบเดียวกันนั่นเอง

REMAKE

การรีเมกเกมเป็นกระบวนการที่แปลกแยกไปจากสองข้อข้างต้น เพราะการรีเมกเกมคือการ “ทำเกมนั้นขึ้นมาใหม่” ตั้งแต่ต้นโดยไม่อิงจาก Source Material เลย นั่นหมายความว่าโมเดลตัวละคร ฉาก การบังคับ และองค์ประกอบอื่นๆ จะต้องเริ่มต้นจาก 0 ทั้งหมด โดยสาเหตุที่ต้องทำการรีเมกนั้นอาจเป็นไปได้ว่าตัวเกมเดิมไม่สามารถเข้าถึงผู้เล่นในยุคใหม่ๆ ได้ จึงต้องทำการสร้างเกมนั้นขึ้นมาใหม่ เช่น Final Fantasy 3 ที่เปลี่ยนภาพจาก 2D Pixel เพียวๆ ไปเป็นภาพ 3D แต่สเกลตัวละครเป็นแบบ SD น่ารักๆ หรือเกมตระกูล Pokemon ที่มักจะเอาเจนเก่ามารีเมกเพื่อลงเครื่องรุ่นใหม่ โดยในเกมจะเพิ่ม Monster ของ Generation ปัจจุบันเข้าไปพร้อมเพิ่มเควสท์และอีเวนต์เพิ่มเข้าไปด้วย เช่นภาคล่าสุดอย่าง Let’ s Go Pikachu / Eevee ที่เอาภาค Yellow ของ Gen 1 มารีเมกใหม่โดยใส่องค์ประกอบของ Pokemon GO ลงไปเช่นการจับโปเกม่อนป่าที่ไม่มีการต่อสู้กัน แต่ให้ปาโปเกบอลเข้าไปแทน

Final Fantasy III Remake

ซึ่งการรีเมกเกมนั้นไม่ได้หมายความว่าทางบริษัทฯ ผู้เป็นเจ้าของเกมจะสามารถทำได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “แฟนเกม (Fan Game) ” ซึ่งเป็นตัวเกมฉบับรีเมกที่สร้างโดย Fanbase ของเกมนั้นๆ อย่างเช่น Skywind ที่เป็นการสร้าง The Elder Scrolls III : Morrowind ขึ้นมาใหม่ทั้งดุ้นจากเอนจิน Creation ของภาค Skyrim หรือ Title ใหญ่ๆ อย่าง Black Mesa ที่เป็นการรีเมก Half-Life ตัวแรกขึ้นมาด้วย Source Engine จากทีม Crowbar Collective ที่มีสมาชิกในทีมแค่ 13 คน โดยตัวเกมเริ่มจากการเป็น Mod แจกฟรี และภายหลัง Valve อนุญาตให้ทำขายในปี 2015 โดยอยู่ในสถานะ Early Access

Black Mesa

แต่กระนั้น แม้ว่า Fanbase จะสามารถรีเมกเกมขึ้นมาได้ ใช่ว่าบริษัทฯ ผู้ถือลิขสิทธิ์อยู่จะอนุญาตเสมอไป เพราะเคยมีกรณีที่ Fanbase ทำการรีเมกเกมขึ้นมาแล้วต้นสังกัดสั่งห้ามจนต้องถูกถอดออกไป เช่น AM2R ที่เป็นการรีเมก Metroid 2 : Return of Samus โดยใช้ Art Style ของ Metroid : Zero Mission ของ Milton Guasti ที่ตัวเกมทำเสร็จและปล่อยให้เล่นแล้ว จนกระทั่งตัวเกมถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Fan Creation ในงาน The Game Awards 2016 แต่สุดท้ายถูก Nintendo สั่งถอนออกเนื่องจากปัญหาด้านลิขสิทธิ์ และเว็บไซต์ที่ปล่อยให้โหลดตัวเกมก็ถูกถอนออกไปจนคุณ Milton ตัดสินใจยุติการพัฒนาเกมต่อ ซึ่ง ณ ปัจจุบันตัวเกมยังหาโหลดได้ใน Community ของ Reddit ครับ

อีกหนึ่งเคสตัวอย่างคือ Resident Evil 2 Reborn ที่เป็นการหยิบเอาตัว Resident Evil 2 มารีเมกด้วย Unreal Engine 4 ซึ่งในระหว่างการพัฒนา ทาง Capcom ก็ได้ขอร้องให้ทีมหยุดพัฒนาตัวเกมต่อ และในภายหลัง Capcom ก็ประกาศการรีเมก Resident Evil 2 เป็นที่เรียบร้อยโดยได้ทีมพัฒนาตัว Reborn ไปช่วยครับ

และทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็คือคำอธิบายโดยสังเขปของการ Remake Remastered Re-release ครับ ตราบใดก็ตามที่บนโลกเรายังมีสื่อที่เรียกว่า “วิดีโอเกม” อยู่ สามคำนี้ก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในชีวิตของพวกเราอย่างแน่นอนครับ


Credits:

Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share