Marvel’s Spider-Man Review

อาจไม่ใช่เกมฮีโร่ที่ดีที่สุดหากเราเทียบกับเกมอย่าง Batman Arkham Series ของทีมงาน Rocksteady Games แต่ Marvel’s Spider-Man ผลงานจากความพยายามของทีมงาน Insomiac เราก็อาจบอกได้เลยว่า มันคือเกมที่ “ให้ความรู้สึก” ของการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ดีที่สุดก็ว่าได้ และนี่ก็คือเกม Spider-Man ที่ตัวผู้เขียนสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่ามันคือเกม Spider-Man ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนโลก

ความดีงามทั้งหมดทั้งปวงนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับทีมงาน Insomniac Games และความใจปล้ำของทาง Marvel ร่วมกับทาง Sony ที่เปิดโอกาสให้ทีมงาน Insomniac สามารถเลือกสรรค์ตัวละครใดๆ ก็ได้บนจักรวาล Marvel มาสร้างเป็นเกมลงให้กับเครื่อง PlayStation 4 และหากเป็นตัวผู้เขียนที่ได้โอกาส มันก็คงเป็นการเลือกที่ไม่ยากที่ชื่อของ Spider-Man ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่อยู่ในอันดับต้นๆ และอาจเป็นเช่นเดียวกับแฟนๆ ของ Marvel นับล้านๆ ที่ ต่างก็คาดหวังให้มันมีเกม Spider-Man ออกมาเป็นเกมดีๆ สักที

แม้ Insomniac Games จะเป็นทีมผู้พัฒนาเกมที่อยู่คู่กับวงการอุตสาหกรรมเกมมาหลายช่วงทศวรรษ แต่มันก็เป็นความน่ากังขาโดยเฉพาะกับตัวผู้เขียนเองที่ยังเคยเคลือบแคลงสงสัยว่าทำไมทาง Sony ถึงเลือกที่จะเคาะประตูห้องสำนักงานของทีมงาน Insomniac และเชิญชวนให้พวกเขามาสร้างเกมซูเปอร์ฮีโร่จากแฟรนไชส์ยักษ์ใหญ่อย่าง Marvel แทนที่ทีมงาน Sucker Punch ที่เป็นหนึ่งในสตูดิโอสังกัดของ Sony ที่เคยมีผลงานเกมฮีโร่อย่าง InFamous ออกมาแล้วถึง 3 ภาค

แต่ความคลางแคลงใจปนกังขาเหล่านั้นก็มลายหายไปสิ้น อาจไม่ต้องใช้ถึงจำนวนชั่วโมงของการสัมผัสเกมกว่า 40 ชั่วโมงในการเล่นให้จบ เพียงแค่เราได้สัมผัสเพียงมันได้ไม่กี่สิบนาทีแรกเท่านั้น เราก็สามารถบอกได้เลยว่า นี่แหละคือเกม Spider-Man ที่เรารอคอย

ยุคมืดของไอ้แมงมุม

เป็นเวลากว่าหลายทศวรรษ ที่เราต่างล้วนเคยได้สัมผัสเกมที่สร้างโดยอิงเรื่องราวของ Spider-Man มันมีทั้งเกมที่ทำออกมาได้สนุก อาทิเช่น Spider-Man ที่ลงให้กับเครื่อง PlayStation 2 (ที่เป็นเกมที่ทำออกมาเพื่อโปรโมตหนัง Spider-Man ภาค 2 ของผู้กำกับ Sam Riami) ไปจนถึงเกมกลางๆ อย่าง Spider-Man: Web of Shadows และ Spider-Man: Shattered Dimensions ที่ลงให้กับเครื่องเกมในยุคถัดมา ความสนุกของ Spider-Man เวอร์ชันเกมก็ดูจะเป็นการถอยหลังลงคลองไปพร้อมตัวภาพยนตร์ที่ออกฉาย

และ Amazing Spider-Man 2 ก็คือความเลวร้ายขั้นสุดของเกม Spider-Man ที่เป็นได้แค่เพียงเกมเกาะกระแสหนัง ที่ไม่ควรค่าต่อการสัมผัส แม้กระทั่งฟีเจอร์หลักที่ใครต่างก็สร้างออกมาให้เราได้เล่นได้อย่างสนุกสนานกับฟีเจอร์อย่างการ “โหนใย” (Web Swings) อันเอกลักษณ์ของตัวละคร มันก็ยังทำออกมาได้อย่างเลวร้าย จนอยากเอาฝ่าเท้าก่ายหน้าผาก

แต่ถึงใครๆ จะสามารถทำระบบการห้อยโหนบนเส้นใยของ Spider-Man ได้สนุก (ยกเว้นทีมงาน Beenox ผู้สร้างเกม Amazing Spider-Man 2) แต่ Marvel’s Spider-Man ของทีมงาน Insomniac Games คือเวอร์ชันอัปเกรดที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีขั้นสุด ที่ทำให้เรารู้สึกได้ราวกับว่าเราได้สวมบทบาทเป็น Spider-Man ได้จริงๆ จนตัวผู้เขียนอยากแม้กระทั่งจะใช้คำว่ามันทำออกมาได้อย่างสมจริงเสียด้วยซ้ำ

Web Swings ที่ไม่เคยรู้สึกดีเท่านี้มาก่อน

ไม่มีอีกแล้วกับการห้อยโหนใยกับอากาศที่ว่างเปล่า ในทุกๆ ครั้งที่ตัวของ Spider-Man โจนทะยานผ่านตึกรามบ้านช่องบนเกาะแมนฮัตตัน การยิงใยในแต่ละครั้งของ Spider-Man จะต้องมีสิ่งให้ยึดเหนี่ยวตามหลักความเป็นจริง และทีมงาน Insomniac Games ก็ไม่ทำให้เป็นเรื่องยากและน่ารำคาญ ซ้ำยังสนุกมากกว่าเดิมอีกด้วย

ทำนองดนตรีที่คล้ายคลึงกับธีมที่ทาง SONY เคยนำมาใช้ใน SPIDER-MAN ฉบับภาพยนตร์ปนกับเสียงธีมหลักของ AVENGERS มันทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมในทุกครั้งที่ตัวผู้เขียนเริ่มกระโจนโหนใยไปกลางอากาศ

Marvel’s Spider-Man, Sony Interactive Entertainment

มันก็ทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลินไปกับแอนิเมชันของตัว Spider-Man ที่ลื่นไหล ผ่านแรงเหวี่ยงโมเมนตัมที่มีความสมจริง และยังเต็มไปด้วยลูกเล่นมากมายที่เราสามารถอัปเกรดได้ในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการโดดพุ่งด้วยพลังเหนือมนุษย์จากจุดจุดหนึ่ง เพื่อให้สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว (และในช่วงหลังจำเป็นต้องใช้งานให้คล่องเพื่อทำภารกิจในเกม) ไปจนถึงลูกเล่นแก้เบื่อ อย่างการบังคับท่าทางการกระโดดม้วนตัวกลางอากาศของ Spider-Man เพื่อเพิ่มค่าประสบการณ์ (ที่ดูจะไม่ค่อยมีประโยชน์ และมีท่าให้เล่นน้อยเกินไป)

และสิ่งที่ทำให้ตัวผู้เขียนรู้สึกอินไปกับการห้อยโหนโจนทะยานของ Spider-Man จนลืมระบบ Fast Travel ที่เกมมีให้ไปนั้น ก็คือเสียงเพลงที่ทางทีมงาน Isomniac Games นำมาใช้ได้อย่างถูกจังหวะ และเป็นท่วงทำนองที่ฟังแล้วคุ้นหู มันมีกลิ่นอาย ทำนองดนตรีที่คล้ายคลึงกับธีมที่ทาง Sony เคยนำมาใช้ใน Spider-Man ฉบับภาพยนตร์ปนกับเสียงธีมหลักของ Avengers มันทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมในทุกครั้งที่ตัวผู้เขียนเริ่มกระโจนโหนใยไปกลางอากาศ เสียงเพลงธีมก็จะดังขึ้นมาคลอไปกับท่วงท่า และการเคลื่อนไหวของ Spider-Man ที่อยู่บนจอ ที่นอกจากมันจะทำให้เรารู้สึกราวกับได้เป็น Spider-Man แล้วมันยังทำให้รู้สึกได้ถึงการเป็น Spider-Man ในหนังฮีโร่ของฮอลลีวูดอีกด้วย

การกระโดดจากตึกระฟ้า พร้อมเสียงทำนองเพลงที่คุ้นเคย ก่อนที่จะพุ่งตัวสกายไดรฟ์ลงมาเฉียวผิวถนนแมนฮัตตัน และยิงใยเพื่อดึงห้อยโหนต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน Marvel’s Spider-Man คือเกมที่ทำให้ทุกการเดินทางไม่น่าเบื่ออีกต่อไป และมันก็ยังมีศักยภาพในการพัฒนาต่อให้มีความสนุกที่ยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย

เมืองนิวยอร์กสำหรับเหล่าแฟนๆ

แต่หากการกลไกของการโหนใยเพียงอย่างเดียวก็คงไม่สามารถให้ความรู้สึกราวกับการเป็นฮีโร่ได้ หากปราศจากเมืองที่สมจริง แม้ตัวเมืองนิวยอร์กอันเป็นพื้นเพหลัก (และเป็นเขตอาณัติรับผิดชอบของเจ้า Spidey ในการ์ตูน) ของ Marvel’s Spider-Man จะไม่ได้สร้างโดยอิงอัตราส่วน 1:1 ที่เรายังคงเห็นสเกลของสิ่งปลูกสร้างที่ไม่สัมพันธ์กับขนาดของตัวละคร

จากตึกระฟ้ามายังพื้นผิวถนนของเมืองแมนฮัตตัน มันเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ดูเหมือนจะถึงขีดจำกัดของเครื่องเกมคอนโซลในยุคนี้ก็ว่าได้ แม้ตัวตึกขนาดใหญ่จำนวนมากบนเกาะแมนฮัตตันจะดูธรรมดาตามมาตรฐานของเกมสมัยใหม่ แต่เมื่อมองลงไปยังพื้นผิวของท้องถนนในตัวเมืองแมนฮัตตัน มันก็เต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าตื่นตา และทุกสิ่งที่เห็นไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่แน่นขนัด ผู้คนที่สัญจรไปมา ยามเมื่อห้อยโหนผ่านและมองจากมุมสูงของ Spider-Man ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่เห็นเหล่านี้เราสามารถลงไปสัมผัสกับมันได้อย่างไร้รอยต่อ

Marvel’s Spider-Man, Sony Interactive Entertainment

และมันก็ยังเต็มไปได้ Easter Eggs ต่างๆ ที่ทีมงานใส่ไว้อย่างตั้งใจ ให้ผู้เล่นได้ค้นหาผ่านภารกิจเสริมกับการตระเวนถ่ายรูปสถานที่สำคัญต่างๆ ในตัวเมือง (และภารกิจในการออกค้นหากระเป๋าของ Peter ด้วยที่เราจะพูดถึงกันในภายหลัง) หรือบางอย่างก็อาจไม่ต้องค้นให้เสียเวลา อาทิเช่น ตึกปฏิบัติการของเหล่า Avengers ที่ตั้งตระหง่านจนหลายคนที่ได้เล่นเกมต่างก็ต้องถามเป็นเสียงเดียวกันว่าเหล่าพลพรรค Avenges หายไปไหน?

แล้วมันจะเป็นเกมฮีโร่ได้อย่างไร หากเราไม่สามารถปฏิสัมพันธ์อะไรกับตัวเมืองได้ และโลกของ Marvel’s Spider-Man ก็มีกิจกรรมต่างๆ ให้เราในฐานะ Spider-Man ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าโจรที่กำลังปล้นร้านค้า แก๊งค้ายาที่กำลังแอบลักลอบขนของเถื่อน หรือการช่วยชาวเมืองที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และการออกไล่ล่ารถของเหล่าอาชญากรที่กำลังหลบหนี เหตุการณ์เหล่ามักจะเกิดขึ้นแบบสุ่มตามสถานที่ต่างๆ ในตัวเมืองในรูปแบบภารกิจรองสำหรับเกมค่าประสบการณ์

มันก็เป็นความซ้ำซากและจำเจอย่างที่คาด

และมันเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความประทับใจในครั้งแรกได้เป็นอย่างดีที่ทำให้เรารู้สึกไว้ว่าเรากำลังเป็น Spider-Man แต่ในอีกทางหนึ่งเมื่อผ่านไปได้สักครึ่งหนึ่งของตัวเกม มันก็เป็นความซ้ำซากและจำเจอย่างที่คาด แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปบ้าง จากเหตุการณ์บางอย่างอันเนื่องจากเนื้อเรื่องหลักของตัวเกม แต่ถึงกระนั้นมันก็เป็นความน่าเบื่อที่ไม่อาจเลี่ยงได้ แม้ตัวผู้เขียนเองในช่วงหลังของเกม ก็แทบจะข้ามการทำกิจกรรมเหล่านี้ไปแทบจะทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ (ที่ไม่ส่งผลอันใดต่อเนื้อเรื่อง)

กอปรกับ Quest ต่างๆ ในเมืองที่ไม่ค่อยน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามเหล่าร้ายให้ครบตามจุดที่กำหนด มินิเกมที่ใช้ทักษะการห้อยโหนใยในการทำ Challenge และ Quest ช่วยชาวบ้านล้านตลาดที่เรื่องราวขาดความเชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องหลัก ถึงจะมีออกมาให้เล่นไม่มาก แต่ก็น่าเสียดายที่มันน่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้ แต่ก็พอจะมีดีอยู่บ้างกับมินิเกมเล็กๆ เล่นไม่ยากแต่ก็ไม่สนุกที่อยู่ตามรอบเมืองกับภารกิจในการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคของเมืองนิวยอร์ก ที่ทำให้เราได้รู้จักอดีตปูมหลัง และความสัมพันธ์ระหว่าง Peter Parker และ Harry Osborne ตัวละครที่แฟนๆ น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี

ตัวผู้เขียนกล่าวถึงค่าประสบการณ์มาแล้วถึงสองครั้งในบทความนี้ และสิ่งที่จะไม่พูดถึงไปเสียมิได้ก็คือระบบการต่อสู้และลูกเล่นของ Spidey ในการต่อกรกับเหล่าร้าย แวบแรกที่ได้ปฏิเสธไม่ได้เลย แม้ไม่ต้องสัมผัสหากเห็นแต่เพียงตัวอย่าง ก็สามารถบอกได้เลยว่า Marvel’s Spider-Man ได้นำเอาระบบการต่อสู้ Freeflow ของ Batman Arkham Series มาใช้ ระบบการต่อสู้ที่ดูเหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่ง่าย

Marvel’s Spider-Man, Sony Interactive Entertainment

กับระบบที่สามารถทำให้เราออกท่าทางการต่อสู้ได้อย่างลื่นไหล และไม่จำเป็นที่จะต้องคิดอะไรมาก ที่ต้องระวังก็มีแค่เพียงการกดท่าสวนกลับให้ตรงจังหวะยามเมื่อถูกโจมตีพร้อมชมแอนิเมชันท่าทางสวยๆ ของตัว Spider-Man เพื่อสะสมจำนวนครั้งของการโจมตีต่อเนื่อง (โดยที่ไม่ถูกการโจมตีของศัตรูขัดจังหวะ) ให้ได้สูงสุด (Combo) เพื่อนำไปใช้เป็น “เกจพลัง” ในการออกท่าเผด็จศึกศัตรู อาจดูแล้วไม่ค่อยสร้างสรรค์และขาดความท้าทาย แต่มันก็น่าจะเป็นระบบการต่อสู้ที่ดีที่สุดที่เหมาะกับเอามาใช้ในการออกท่วงท่าอันเหนือมนุษย์ของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่ใช่แค่เพียงแต่ Spider-Man

แต่ในความเหมือนกันของ Batman Arkham Series และ Marvel’s Spider-Man มันก็ยังมีความแตกต่างที่พอจะเห็นได้ชัดกันอยู่บ้าง ใน Batman นั้นอาชญากรตามเมืองส่วนใหญ่ก็คือเหล่าคนคุก และคนบ้าที่แหกเรือนจำออกมาเพ่นพ่านไปทั่วเมือง ดังนั้นอาวุธหลักๆ ที่ Batman จะต้องประมือก็มักเป็น หมัดลุ่นๆ มีด ไม้กระบองซะเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจจะมีอาวุธปืนบ้างในบางที

แต่ใน Marvel’s Spider-Man ศัตรูที่เราจะต้องเจอคือเหล่าโจรที่ติดอาวุธพร้อม ไม่ว่าจะทั้งปืนสั้น ปืนกล ไปจนถึงเครื่องยิงจรวด ดังนั้นการหลบหลีกการโจมตีต่างๆ จากศัตรูจึงต้องอาศัยความรวดเร็วเป็นหลัก เรียกได้ว่าการนั่งชมแอนิเมชันตัวละครเหม่อๆ ก็สามารถทำให้ต้องโหลดเซฟเกมกลับมาใหม่ได้โดยง่าย แต่ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะด้วยพลังอันเหนือมนุษย์ของ Spidey ก็ทำให้การ (ตั้งใจ) จัดการกับเหล่าร้ายพวกนี้ง่ายกว่าที่คิด และอาจจะง่ายจนเกินไปด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Spider-Man แตกต่างไปจาก Batman ก็คือการที่เขาเป็นฮีโร่ที่มาพร้อมกับพลังอันเหนือมนุษย์ไม่เหมือนกับ Batman ที่เป็นเพียงแค่มนุษย์ปกติ Spider-Man ใน Marvel’s Spider-Man มาพร้อมกับความสามารถอันหลากหลาย และบางอย่างก็ดูน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยระบบการต่อสู้แบบ Freeflow ทำให้เราได้เห็นลีลาการต่อสู้ในแบบเดียวกับที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะการทำการโจมตีศัตรูต่อเนื่องกลางอากาศ การใช้เครื่องยิงใยในการสานต่อความต่อเนื่องของท่วงท่า และการเผด็จศึกศัตรูด้วยท่า Finishing Move สุดเท่ ก็เป็นอะไรที่ชวนสนุก (แม้แต่การใช้ใยยิงเปลี่ยนทิศทางจรวด RPG ก็ยังทำได้) แต่มันก็ยังมีหลายอย่างที่ยังต้องปรับปรุงอีกมาก

มรดกตกผลึกของ Insomniac

จริงอยู่ว่าหลายๆ อย่างของ Marvel’s Spider-Man เป็นการหยิบยืมเอาองค์ประกอบของเกมต่างๆ มารวมกัน ที่เด่นชัดก็คือการนำเอาระบบของ Batman Arkham Series มาผนวกเข้ากับ Ratchet and Clank และ Sunset Overdrive (ที่เป็นผลงานของ Insomniac) มันมีทั้งการอัปเกรดตัวละครเพื่อเพิ่มท่าทาง และความสามารถต่างๆ มีระบบ Gadgets ที่สามารถนำเอาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ Peter Parker ประดิษฐ์เอาไว้มาใช้งานในการต่อสู้ มีระบบการเปลี่ยนชุดสูทของ Spider-Man ที่มาพร้อมกับความสามารถประจำชุดแต่ละชุด (ที่เป็น Easter Eggs ถึง Spider-Man ในทุกจักรวาล)

แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้นมันก็มีความลึกไม่มากหรืออาจจะตื้นเขินเกินเสียด้วยซ้ำ ซึ่งมันก็มีข้อดีที่ทำให้ผู้เล่นที่ไม่ใช่คนเล่นเกมแต่เป็นแฟนของ Spider-Man เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่มันก็ง่าย และทำให้ตัวผู้เขียนรู้สึกจำเจไม่น้อยเมื่อเล่นไปถึงช่วงกลางเกมที่ความสามารถต่างๆ ของ Spidey แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอัปเกรดอีกแล้ว นอกจากนี้เกมก็ยังมีส่วนของปริศนา (Puzzle) อันเป็นมรดกตกทอดจาก Rachet and Clank ที่ดูจะไม่เข้ากันให้เล่นเป็นมินิเกมอีกด้วย อาจจะไม่ถึงขั้นกวนใจแต่มันก็เป็นมินิเกมที่ดูทำมาสำหรับเด็กเสียเหลือเกิน

Marvel’s Spider-Man, Sony Interactive Entertainment

ส่วนที่แย่ที่สุดของ Marvel’s Spider-Man คือระบบการลอบเร้นที่ตัวเกมทำออกมาได้อย่างไม่เอื้ออำนวย และดูเหมือนกับเกมออกแบบมาอย่างไม่ได้ใส่ใจกับตรงส่วนนี้มากนัก เราสามารถจัดการศัตรูแบบลอบเร้นได้ด้วยคำสั่ง Takedown ที่เป็นการทำให้ศัตรูสลบ หรือสามารถยิงใยเพื่อลากศัตรูขึ้นมาแขวนตามจุดต่างๆ แบบเดียวกับ Batman Arkham Series แต่สุดท้ายแล้ว เกมก็ยังอิงกับระบบการต่อสู้เป็นหลัก ไม่ว่าเราจะจัดการศัตรูอย่างเงียบเชียบได้โดยไม่มีใครเห็นได้หรือไม่ สุดท้ายเกมก็จะบังคับให้ศัตรูก็พบเจอเราอยู่ดี ที่เรามักต้องต่อสู้กับผ่านระลอกคลื่นของศัตรูที่เกมเตรียมไว้ครบตามจำนวน

ช่วงเวลาที่น่าค้นหา และ Peter Parker ที่ดีกว่าเดิม

แต่ถึงจะเต็มไปด้วยหลายอย่างที่ดูจะยังไม่อาจเรียกได้ว่า Marvel’s Spider-Man เป็นเกมที่สมบูรณ์แบบ แต่ก้าวหนึ่งของมันที่น่าสนใจเป็นอย่างมากก็คือเรื่องราว ตัวผู้เขียนได้อธิบายในย่อหน้าแรกๆ ไปแล้วว่าเมืองของ Marvel’s Spider-Man นั้นเต็มไปด้วยความละเอียด แต่มันไม่ใช่ความละเอียดในแง่ของงานภาพและงานเทคนิคเท่านั้น แต่มันเต็มไปด้วยเรื่องราวของเหล่าตัวละครในโลกเกม เพราะ Marvel’s Spider-Man คือเกมที่มีการนำเสนอเรื่องราวของ Peter Parker อย่างที่เราไม่เคยได้สัมผัส และเป็นโลกของ Spider-Man ที่ตีความใหม่ตามแบบฉบับของ Insomniac Games ที่มาพร้อมกับการนำเสนอที่แทบไม่ต่างจากซีรีส์ Uncharted ของ Naughty Dogs เลย

ไม่มีอีกแล้วกับฉากการตายของลุงเบ็นที่เราเห็นในภาพยนตร์มาแล้วถึง 2 รอบ และ Marvel’s Spider-Man ก็ไม่ใช่เด็กวัยเกรียนแบบเดียวกับ Spider-Man ใน Marvel Cinematic Universe แต่มันคือเรื่องราวของ Peter Parker ที่ผ่านการเป็น Spider-Man มาแล้วถึง 8 ปีและเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย

ด้วยเวลากว่า 8 ปีในฐานะ Spider-Man ของ Peter Parker เขาไม่ใช่เด็กวัยรุ่นอีกแล้ว และการเป็น Spider-Man ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่สร้างความลำบากให้กับเขาอีกต่อไป และเกมก็เต็มไปด้วยเรื่องราวปูมหลัง และความทรงจำมากมายที่เกมเล่าไว้แบบอ้อมๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง Peter และ Yuri Watanabe ตำรวจสาวที่คอยช่วยเหลือ Spider-Man (และในบางครั้ง Spider-Man ก็ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างจำใจ) ไปจนถึงสถานที่ต่างๆ ที่เป็นความหลังของ Peter ที่เราจะได้เรียนรู้ผ่านภารกิจรองที่เราต้องถ่ายรูปไปตามสถานที่ทั่วเมือง

Marvel’s Spider-Man, Sony Interactive Entertainment

และการออกเก็บกระเป๋าของ Peter ในสมัยเด็กที่ต้องทิ้งเอาไว้ตามสถานที่ต่างๆ ด้วยเหตุจำเป็นในฐานะ Spider-Man ทั้งสองภารกิจเสริมนี้ทำให้เราได้รู้เรื่องราวในอดีตของเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ Peter เคยสร้างไว้เป็นต้นแบบ ชิ้นส่วนเหล่าร้ายที่เขาเคยปราบ ไปจนถึงสถานที่ หรือสิ่งของอันเป็นความทรงจำระหว่าง Peter และ M๋J ตัวละครที่เราคงไม่พูดไปก็คงไม่ได้

ตัวผู้เขียนเองแม้ไม่สันทัดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Peter Parker และ Mary Jane Watson ในฉบับหนังสือการ์ตูน แต่สำหรับเรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งคู่ใน Marvel’s Spider Man นั้น ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงมิติเชิงลึกที่มากกว่าความสัมพันธ์ที่เราเห็นภาพยนตร์แทบจะทุกฉบับ มันเป็นส่วนผสมของเคมีที่ลงตัวระหว่างตัวละครทั้งสอง ที่มีอดีตและเรื่องราวอีกมากที่เกมไม่ได้เล่าตรงๆ แต่ก็ชาญฉลาดในการสร้างความน่าค้นหาด้วยการเล่าออกมาแบบอ้อมๆ ผ่านบทสนทนา อากัปกิริยา และผ่านการแสดงออกของตัวละครที่ต้องร่วมมือกันต่อสู้กับเหล่าวายร้าย ที่หมายปองนิวยอร์กอันเป็นที่รัก

การเล่าเรื่องระดับ AAA

นอกไปจากเรื่องราวของตัวละครต่างๆ แล้ว Marvel’s Spider-Man ยังมีการเล่าเรื่องในสไตล์เดียวกับ Uncharted ของ Naughty Dogs มันทั้งฉากคัตซีนที่อลังการ และมีการกำกับบทแอ็กชันที่สนุกไม่แพ้การชมภาพยนตร์ และมันก็มีการเข้าถึงเรื่องที่ทำได้อย่างเข้มข้นสมกับการเป็นเกมในระดับ AAA ถึงแม้ในตัวอย่างแรกที่ Marvel’s Spider-Man เปิดตัวในงาน E3 สักปีไหนก่อนหน้าจะเต็มไปด้วยระบบ Quick Time Event กับการกดให้ตามจังหวะเพื่อผ่านฉาก แต่ในเกมจริงแล้วมันก็ไม่มีออกมาบ่อยจำน่ารำคาญนัก

แต่สิ่งที่น่ารำคาญจริงๆ คือการตัดสลับการเล่าเรื่องในระหว่างเกม ที่จะมีบางครั้งที่เราจะต้องไปเล่นตัวละครอื่น ก็อาจจะดีสำหรับการเล่าเรื่องที่ทำนำเสนอได้อย่างมีชั้นเชิง และทำให้เราได้เห็นมุมมองโลกของเกมผ่านมุมมองของคนธรรมดา แต่ด้วยลูกเล่นต่างๆ ของตัวละครอันจำกัดจำเขี่ย และทำออกมาแบบขอแค่ให้มี ก็ทำให้ตัวผู้เขียนต้องจำใจต้องเล่นด้วยความรู้สึกที่ไม่สนุกเอาเสียเลย

และหากใครที่ได้ชมตัวอย่างของเกมไปก็คงพอจะทราบแล้วว่าเหล่าวายร้ายที่ Spider-Man ต้องจบเจอมีใครบ้าง และตัวผู้เขียนเองก็คงไม่ขอเปิดเผยเรื่องราวเพื่อให้เสียอรรถรสในการเล่น แต่ก็เอาเป็นว่าศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดใน Marvel’s Spider-Man ก็คือตัววายร้ายอย่าง Mister Negative ที่กำลังออกตามหาสิ่งของบางอย่างในชื่อ “Devil’s Breath” ที่เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นการนำพา Spider-Man, MJ และ Miles Morales อีกหนึ่งตัวละครสมทบ (จากหนังสือการ์ตูน Spider-Man) ต้องเข้าไปพัวพันและต้องหาทางหยุดยั้งความพยายามของ Mister Negative ให้ได้

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เกมดูเหมือนจะมีเวลาให้เล่าได้ไม่พอ ช่วงองค์สุดท้ายของเกมมันจึงเป็น การประเดเหล่าวายร้ายที่ไม่มีเวลาให้เล่าให้ออกมาจัดการกับ Spider-Man เพียงแค่ช่วงประเดี๋ยวประด๋าว และไม่ได้มีสลักสำคัญอะไรกับเรื่องราวมากนัก แต่ในทุกๆ ครั้งที่เราได้ต่อสู้กับเหล่าวายร้ายทั้ง Shocker, Vulture, Elcetro และ Rhino ก็เป็นอะไรที่สนุก โดยเฉพาะในฉากการต่อสู้กับวายร้ายคนสุดท้าย มันก็เป็นการต่อสู้ที่ให้อารมณ์สมเป็นฉากไคลแมกซ์ได้เป็นอย่างดี และมันก็ยังเป็นการนำไปสู่ฉากจบที่ปนเศร้าและน่าประทับใจอีกด้วย

นี่คือเกม Spider-Man ที่ดีที่สุด

Marvel’s Spider-Man ได้สร้างจักรวาลของ Spider-Man แห่งใหม่ไว้อย่างดีเยี่ยมและเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ยากที่ตัวผู้เขียนจะอธิบายได้หมด ช่วงเวลา 8 ปีของการเป็น Spider-Man ของ Peter Parker ที่เกมไม่ได้เล่า คือระยะเวลาอันดีที่ทีมงานจะสามารถนำอะไรเข้าไปโยงกับจักรวาลก็ได้ด้วยพื้นฐานที่แน่นอยู่แล้ว และมันก็ยังเป็นการปูทางไปสู่อนาคตของเกมในซีรีส์นี้ที่อาจจะได้กลายเป็นเกมแฟรนไชส์ของทาง Insomniac Games อีกด้วย

กล่าวโดยสรุป

ถึงจะเต็มไปด้วยข้อบกพร่องที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังเป็นเกมที่มาพร้อมกับคุณภาพที่มากพอที่จะทำให้เราสนุกตื่นเต้นไปกับมัน ไม่ว่าจะทั้งการห้อยโหนโจนทะยานผ่านเมืองนิวยอร์กที่สมจริง การต่อสู้ที่เข้าถึงง่ายและทำออกมาได้ราวกับนั่งชมภาพยนตร์ และเรื่องราวที่ผ่านการคิดและวางพื้นฐานมาเป็นอย่างดี ตัวผู้เขียนจึงอยากย้ำอีกครั้งว่านี่คือเกม Spider-Man ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเล่นมา และมันคือเกมที่ทุกคนที่มีเครื่อง Playstation 4 ควรได้สัมผัส ที่รับรองได้เลยว่ามันไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน

Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share