Vampyr คือเกมแอ็กชันสวมบทบาทผลงานของทีมงาน Dontnod Entertainment ที่ออกวางจำหน่ายในปี 2018 มันบอกเล่าเรื่องราวของแพทย์หนุ่มนาม Jonathan Reid ผู้ผ่านสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อกลับมายังบ้านเกิดในเมืองลอนดอนของเขาอีกครั้ง แต่แล้วเรื่องราวบางอย่างก็ได้นำพาตัวเขาให้มาพบกับเหตุการณ์อันสุดสะพรึง มันทำให้เขากลายมาเป็นผีร้ายกระหายเลือดหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “แวมไพร์” แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่น่าพรั่นพรึงยิ่งกว่า คือเรื่องราวที่อยู่ในฉากหลังของเกม และเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงที่ชื่อว่า “การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน” ในช่วงปี 1918 ที่ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตจากโรคร้ายนี้ไปกว่า 100 ล้านคน
เกม Vampyr เป็นโปรเจกต์ที่ทางทีมงาน Dontnod Entertianment เริ่มพัฒนาต่อจากเกม Life is Strange ผลงานสร้างชื่อของพวกเขา ด้วยแนวคิดในการนำเกมการเล่นในแบบทางเลือกจากเกมก่อนหน้ามาผสานเขากับรูปแบบของเกมแอ็กชันสวมบทบาท โดยเดิมทีแล้วทางทีมงานตั้งการที่จะให้เกมมีฉากหลังอยู่ในประเทศอเมริกาในทศวรรษที่ 50 แต่แล้วก็เป็นทางคุณ Stéphane Beauverger ผู้กำกับด้านการเล่าเรื่องของเกมที่ได้ตัดสินใจโละแนวคิดดั้งเดิมทิ้งและแทนที่ด้วยการเพิ่มความ “กอทิก” (Gothic) ที่มากขึ้นให้กับตัวเกม และยังได้เพิ่มประเด็นใจความสำคัญไปที่เรื่องราว “การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน” (Spanish flu pandemic) ที่เกิดขึ้นจริงในปี 1918 เข้าไปอีกด้วย
“ตั้งแต่ในตอนที่เรารู้แน่ชัดว่าเราต้องการที่จะบอกเล่าเรื่องราวของแวมไพร์ในสไตล์กอทิก มันมีหลายสิ่งหลายอย่างเลยครับ ที่น่าสนใจอย่างมากในการนำมาใช้เป็นฉากหลัง และผมก็คิดได้ว่ามันน่าจะมีอะไรให้ได้ทำมากทีเดียวในการผสมผสานเรื่องราวโศกนาฏกรรมของทั้งเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกันอย่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการแพร่ระบาดอันน่าหวาดกลัวของไข้หวัดใหญ่สเปน แต่เรายังต้องยึดหลักความจริงเอาไว้ด้วยว่าช่วงเวลาเหล่านั้นมีคือช่วงเวลาของเกมการเมืองและการปฏิวัติทางสังคม เป็นช่วงของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ แต่มันก็ยังเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและสิ้นหวังที่ใหญ่ยิ่งอีกด้วย” คุณ Stéphane Beauverger ให้สัมภาษณ์ไว้ในบทสัมภาษณ์ที่ชื่อ This New World War 1 Vampire Game Explores a “Dark and Brutal” World ของทางเว็บไซต์ GameSpot
Vampyr ได้พาผู้เล่นเดินทางร่วมกับ Jonathan Ried ในฐานะผีดิบดูดเลือดหรือแวมไพร์ ผ่านฉากหลังที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและความสิ้นหวัง ผ่านเรื่องราวการขัดแย้งระหว่างความเชื่อและศาสนา ทั้งยังท้าทายผู้เล่นด้วยการมอบตัวเลือกทางศีลธรรมอันเจ็บปวด ด้วยช่วงเวลาแห่งความตายอันแสนยาวนาน
แต่เรื่องราวที่แท้จริงของ “การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน” มันเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไรกันล่ะ? นั่นคือเรื่องราวที่เราจะมาพูดถึงกันต่อไปจากนี้
ถอดรหัส Spanish flu
เรื่องราวการแพร่ระบาดของ “ไข้หวัดใหญ่สเปน” หรือ “Spanish flu” เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมที่ทางการแพทย์ใช้เวลาในการศึกษามาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และมันก็อาจจะเพิ่งค้นพบได้ถึงต้นของมันเมื่อไม่นานมานี้ในตอนที่คุณ Johan Hultin นักพยาธิวิทยาได้เดินทางไปยังเบรวิกมิชชัน ที่ตั้งอยู่เขตพื้นที่อยู่อาศัยในอะแลสกาในช่วงฤดูร้อนของปี 1997 เพื่อออกค้นหาร่างผู้เสียชีวิตที่ถูกแช่แข็งอยู่ในดินแดนอันหนาวเหน็บของอะแลสกา ที่สุดท้ายแล้วเขาก็ได้ค้นพบร่างของผู้หญิงชาวอินูอิต (ชนพื้นเมืองของอะแลสกา) ที่ถูกแช่แข็งมาเป็นเวลาร่วม 80 ปีที่ยังคงสภาพดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ คุณ Hultin ได้ทำการสกัดตัวอย่างจากปอดของหญิงสาวรายนี้เพื่อนำมาใช้ในการถอดรหัสลำดับของกรรมพันธุ์ของไวรัสที่คร่าชีวิตหญิงสาวชาวอินูอิตผู้นี้ไปพร้อมกับประชากรในเมืองอีกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หญิงสาวชาวอินูอิตผู้นี้คือหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อปีในช่วงระหว่างปี 1918-1919 นั่นเอง
เบรวิกมิชชันเป็นเพียงหนึ่งในสถานที่ได้พบเผชิญโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าจากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยพบมาในประวัติศาสตร์ มันคือเหตุการณ์แพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่ที่กินช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1918 จนถึงปี 1919 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แผ่ขยายนี้เป็นที่ถูกเรียกขานภายหลังในชื่อ “Spanish flu” หรือ “ไข้หวัดใหญ่สเปน” มันเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายขยายไปยังทั่วทั้งโลกอย่างรวดเร็ว มันครอบครองทั้งอินเดียถึงออสเตรเลีย เรื่อยมาจนถึงหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยเวลาเพียงแค่ 18 เดือน มันทำให้ผู้คนหนึ่งในสามของโลกต่างกลายเป็นผู้ติดเชื้อ พร้อมทั้งยังเพิ่มจำนวนผู้เสียชีวิตที่มากขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ 20 ล้านราย 50 ล้านรายไปจนถึง 100 ล้านราย มันเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตที่มากยิ่งกว่าโศกนาฏกรรมใดๆ ที่เคยมีมา และมากยิ่งกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกทั้งสองครั้งรวมกันเสียอีก
สงครามและการระบาด
โลกของเราเต็มไปด้วยไวรัสที่หลากหลายที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ แต่หนึ่งในนั้นคือไข้หวัดสายพันธุ์ A ที่เป็นจุดกำเนิดและเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในปี 1918 มันคือไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ชื่อว่า “H1N1” ก่อนที่มันจะถูกเรียกขาดว่า “Spanish flu” หรือ “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ในภายหลัง โดยครั้งแรกที่มีการค้นพบไวรัสชนิดนี้คือในช่วงปลายปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นเอง
ในเดือนมีนาคม 1918 มันเป็นช่วงเวลาที่ทางสหรัฐอเมริกาได้ทำการสู้รบกับเยอรมันและฝ่ายมหาอำนาจกลางมาเป็นเวลาร่วม 11 เดือน มันเป็นช่วงเวลาที่กองกำลังของอเมริกายังคงมีขนาดเล็ก จนกระทั่งพวกเขาเริ่มระดมกำลังพลขนาดใหญ่จนพร้อมส่งทหารกว่าสองล้านนายไปยังแทบทวีปยุโรปในเวลาต่อมา ด้วยการเพิ่มจำนวนฐานทัพทางการทหารและศูนย์ฝึกภายในประเทศเพื่อเตรียมกำลังพลให้พร้อมต่อสู้ในสมรภูมิ
หนึ่งในนั้นคือฐานทัพที่ว่าคือ Fort Riley ในเมืองแคนซัส มันคือศูนย์ฝึกใหม่ที่ประกอบด้วยกำลังพลกว่า 50,000 นายที่กำลังเตรียมฝึกเพื่อเข้าร่วมในกองทัพที่จะเดินทางไปยังยุโรป และมันก็เป็นช่วงเวลาดังกล่าวนี้นั่นเอง ที่ได้มีรายงานว่ามีพลทหารที่มีอาการเป็นไข้มาเข้ารับการรักษาตัวในสถานรักษาพยาบาลภายในฐานทัพ ก่อนที่จะเริ่มมีผู้คนอีกมากมายที่มีอาการเดียวกันนี้ที่เพิ่มจำนวนอีกเป็นนับร้อยภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่ได้กลายเป็นผู้ป่วยอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาหลังจากนั้นในอีกราวสัปดาห์ และเมื่อย่างเข้าสู่เดือนเมษายน กำหนดการเคลื่อนกำลังพลไปยังยุโรปก็มาถึง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการแพร่กระจายระลอกแรกของเชื้อไวรัส H1N1 หรือ Spanish flu
การแพร่ระบาด
Spanish flu เป็นสายพันธุ์ไข้หวัดที่คร่าชีวิตผู้ติดเชื้อด้วยความรวดเร็ว ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาด มันเต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนมากมายที่ต่างล้มตายไปในระหว่างการเดินทางไปทำงาน ทั้งยังมีรายงานเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยอันน่าสยดสยอง ไม่ว่าจะเป็นความทรมานจากการหายใจได้ไม่เต็มปอด อาการขาดออกซิเจนจนทำให้ใบหน้าซีดเผือด อาการเลือดออกภายในที่ทำให้เลือดท่วมเต็มปอดจนทะลักออกมาเป็นอ้วกและเลือดกำเดา มันเป็นการไข้หวัดใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่มนุษยชาติประสบพบเจอ และมันก็ไม่ได้เลือกเป้าหมายเพียงเฉพาะกับเด็กหรือผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังเข้าสามารถติดต่อได้ในหมู่ผู้ใหญ่วัยแข็งแรงตั้งแต่อายุ 20 ไปจนถึง 40 ปีอีกด้วย
แน่นอนว่าในช่วงระหว่างเหตุการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสมันยังได้นำสู่ปมความขัดแย้งระหว่างชาติและปัญหาภายในประเทศอีกต่างๆ นานา นักวิทยาการระบาดยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนทุกวันนี้ว่าต้นตอของเชื้อไวรัสชนิดนี้มาจากที่ไหนกันแน่? แต่มันก็มีข้อสรุปบางอย่างที่สามารถบอกได้ว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศจีนก็เป็นได้ แต่สิ่งที่แน่ชัดก็คือต้นเหตุของการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มันเกิดจากการเคลื่อนกำลังพลไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นเอง
สงครามและการเซ็นเซอร์
การเมืองและสงครามในช่วงเวลาดังกล่าวยังได้นำพามาซึ่งการปกปิดความจริงเกี่ยวกับจำนวนของผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวที่เริ่มมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงแรกเริ่มนั้นมันยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคดีพอ จนส่งผลให้ผู้เสียชีวิตหลายรายถูกระบุสาเหตุการตายว่าเป็นเพียงแค่อาการปอดบวมเท่านั้น และด้วยตรวจสอบคัดกรองการเซนเซอร์ข่าวในระหว่างการสงคราม ทั้งจากฝั่งยุโรปและอเมริกามันก็ยังส่งผลให้มีการกดดันสื่อจนทำให้ไม่สามารถรายงานการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้ มีเพียงแค่ประเทศเป็นกลางอย่างสเปนเท่านั้นที่สามารถรายงานข่าวการแพร่ระบาดของโรคร้ายในครั้งนี้ได้อย่างอิสระ และนั่นก็ได้กลายเป็นที่มาที่ทำให้ไข้หวัดที่ว่านี้ถูกเรียกขานว่า “Spanish flu” นั่นเอง
สนามเพลาะและค่ายพักของเหล่าทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อชั้นดี ยามใดเมื่อกองกำลังทหารเคลื่อนย้ายกำลังพลโรคร้ายและการติดเชื้อก็จะพ่วงตามตัวติดไปด้วย แม้การติดเชื้อในแคนซัสจะลดจำนวนน้อยลงหลังจากมีการพบเจอครั้งแรกในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่มันเป็นเพียงแค่การบรรเทาโทษชั่วคราวเท่านั้น ก่อนที่ในเดือนกันยายนของปี 1918 การแพร่กระจายจะเข้าสู้ความอันตรายอย่างแท้จริง
ระลอกที่สองของจริง
ช่วงระหว่างเดินกันยายนจนถึงเดือนธันวาคม 1918 มันเป็นช่วงเวลา 13 สัปดาห์ที่น่าใจหาย โรคไข้หวัดใหญ่สเปนได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายในเวลาอันสั้น มีชาวอเมริกันกว่า 195,000 คนที่เสียชีวิตไปภายในช่วงเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว โดยหากเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 มันยังมีจำนวนเพียงแค่ 116,000 รายเท่านั้น และก็เป็นอีกครั้งที่ค่ายทหารอันแออัดที่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในแพร่ระบาดละลอกที่สอง จุดเริ่มต้นในครั้งนี้คือค่ายทหาร Camp Devens ในตั้งอยู่ในแมสซาซูเซตส์ ที่เริ่มต้นการแพร่ระบาดด้วยจำนวนของผู้ติดเชื้อกว่า 6,674 รายที่ได้มีการรายงานออกมา
เมื่อวิกฤตใกล้เข้าถึงขีดสุดการบริการทางด้านการแพทย์เองก็เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตด้วยเช่นกัน เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลงานศพและสัปเหร่อทั้งหลายเริ่มไม่สามารถดำเนินกิจการงานศพได้อย่างปกติ จนนำมาสู่การนำเอาซากศพของผู้เสียชีวิตมากองรวมกันเป็นสุสานขนาดใหญ่ แต่แล้วในช่วงปลายปี 1918 การแพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่ก็หายไปชั่วคราวก่อนที่มันจะเริ่มเข้าสู่การลุกลามในระยะที่สามในช่วงต้นปี 1919 แต่ในระลอกนี้การลุกลามมันไม่ได้รุนแรงเท่ากับครั้งที่ผ่านมาเช่นเดียวกับจำนวนของผู้เสียชีวิตเองที่ก็เริ่มลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน
แม้ว่าการแพร่ระบาดในระลอกนี้จะไม่รุนแรงเท่าระลอกที่สอง แต่มันก็ยังเป็นความเสียหายอันใหญ่หลวง ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่รอดพ้นจากการแพร่ระบาดในครั้งก่อน พวกเขาออกกฎหมายในการสร้างเขตกักกันเชื้อโรงอย่างรวดเร็วเพื่อหาทางป้องกันระบาดของโรค แต่สุดท้ายในช่วงต้นปี 1919 มันก็สามารถย่างกรายเข้ามาได้สำเร็จด้วยการคร่าชีวิตของชาวออสเตรเลียไปนับพันคน
แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาอัตราการเสียชีวิตจากโรคระบาดก็เริ่มน้อยลง โดยสาเหตุการตายในช่วงหลังจากนั้นส่วนมีบางส่วนที่เป็นการเสียชีวิตจากสายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไปในช่วงปลายปี 1920 แต่อย่างไรก็ดีในช่วงฤดูร้อนของปี 1919 นโยบายการดูแลสุขภาพและการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมตามธรรมชาติของเชื้อไวรัสก็ได้ทำให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง แต่ถึงกระนั้นมันก็ได้ทิ้งไว้ซึ่งปัญหาทางด้านสุขภาพที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนในระยะยาวไปอีกจนกระทั่งถึงทศวรรษที่ผ่านมา
การแพร่ระบาดอันไร้จุดจบ
การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างจนไม่เหลือสถานที่ใดในโลกที่ปลอดภัย ในสหราชอาณาจักรมีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 228,000 คนที่เสียชีวิตเพราะโรคดังกล่าว ในขณะที่อเมริกาเองก็มีผู้เสียชีวิตกว่า 675,000 คน และในญี่ปุ่นเองจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 400,000 คน รวมไปถึงเกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกของซามัวตะวันตกก็เช่นกันที่ได้สูญเสียประชากรไปกว่าหนึ่งในห้า นักวิจัยยังได้มีการคาดการณ์กันว่าประเทศอินเดียเพียงประเทศเดียวอาจมีผู้เสียชีวิตกว่า 12 ถึง 17 ล้านราย โดยจากการประมาณการแล้วจากจำนวนของผู้ติดเชื้อทั่วทั้งโลก มันอาจมีผู้ที่เสียชีวิตไปกว่า 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ในปี 1997 จากตัวอย่างที่คุณ Johan Hultin ได้มาจากสุสานขนาดใหญ่ที่ถูกฝังภายใต้ชั้นน้ำแข็ง มันทำให้เราได้รู้ถึงที่มาของไวรัสดังกล่าวว่ามันมีการกลายพันธุ์อย่างไร ในช่วงเวลาหลังจากนั้นเวชภัณฑ์และความเป็นอยู่ของผู้คนก็เริ่มเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยความร่วมมือกับองค์กรระดับชาติอย่างองค์กรอนามัยโลก (World Health Organizatino) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention in the United States) ที่จริงอยู่ว่าในทุกวันนี้เราอาจจะสามารถเตรียมพร้อมในรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดใหม่ได้ดีกว่าที่เคย แต่อย่างไรก็ดีเหล่าสิ่งหนึ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ตระหนักถึงเป็นอย่างดีก็คือ การเชื้อไวรัสมันสามารถมีการกลายพันธุ์ได้ในทุกช่วงเวลาไปอีกหลายศตวรรษจากนี้ ที่แน่นอนว่าจะยังคงส่งผลไปยังผู้คนมากมาย และพร้อมทำลายล้างโลกให้แหลกสลายได้ในพริบตา หากเรายังไม่รู้จักอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสและการแพร่ระบาดที่อยู่คู่อารยธรรมของมนุษยชาติที่ได้ดำเนินมามากกว่าสองพันปี