เมื่อภาคต่อของเกมรักมักออกมาไม่เหมือนเดิม

ตลอดหลายสิบปี สื่อประสมที่ถูกเรียกว่า “วิดีโอเกม” ได้ถูกเข้ารวบรวมเข้ากับวัฒนธรรม Pop Culture และถูกหลอมละลายเข้ากับชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคปัจจุบันอย่างแนบเนียน ไม่ว่าคุณจะหันไปทางไหน ใน 10 คนอย่างน้อยต้องมีประมาณ 5 คนที่กำลังนั่งเล่นเกม ไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มอะไรก็ตาม ตั้งแต่มือถือรุ่นล่างยัน PC ระดับ Rig ขุดเหมือง Bitcoin

นับตั้งแต่วิดีโอเกมถือกำเนิดขึ้นมา เราก็ได้เห็นเกมหลากหลายแนว หลากหลายเรื่องราว ต่อยอดเป็นทอดๆ กันไป เมื่อเกมเกมหนึ่งมีกระแสตอบรับที่ดี เริ่มมี Fan Base และทีมพัฒนายังเตะปี๊บกระเด็นได้ ก็ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่า “ภาคต่อ” ถือกำเนิดขึ้นมา

แต่กระนั้น การจะทำอะไรให้ซ้ำเดิมก็ใช่ที่ เพราะงั้นผู้พัฒนาจึงต้องเพิ่มความน่าสนใจให้กับเกมภาคต่อ ไม่ว่าจะกับฐานแฟนดั้งเดิมก็ดี หรือคนหน้าใหม่ที่ยังไม่รู้จักเกมภาคที่แล้วของตัวเองก็ดี ด้วยการปรับเติมเสริมแต่งรายละเอียดของเกมภาคต่อให้ดึงดูดความสนใจจากคนภายนอกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพ การเล่าเรื่อง ระบบเกม ฯลฯ บ้างก็เปลี่ยนให้กลายเป็นคนละเกมไปเลยก็มี

มันจึงเกิดเป็น “การทดลอง”

มันจึงเกิดเป็น “การทดลอง” ของผู้พัฒนา ว่าในเกมภาคต่อของพวกเขาควรจะใส่อะไร ควรจะตัดอะไร และควรจะเปลี่ยนอะไรให้แฟรนไชส์ของตัวเองดูน่าสนใจมากขึ้น และดึงดูดคนได้มากขึ้นนั่นเอง

ผมจะยกตัวอย่าง Case Study มาอันนึง นั่นคือแฟรนไชส์ Final Fantasy

Dissidia Final Fantasy NT

Final Fantasy นั้นมีคอนเซปต์เรียบง่ายคือ “การเปลี่ยนแปลง” ที่แต่ละภาคต้องไม่ซ้ำกับภาคก่อนหน้า ตัวเกมทุกภาคจะมีเนื้อเรื่องเป็นเอกเทศจากกัน แต่จะมีกิมมิกเชื่อมโยงให้รู้ว่า นี่คือเกมในซีรีส์ Final Fantasy อย่างเช่นนกสีเหลืองตัวเขื่องที่ชื่อ “Chocobo” ที่ไม่ว่าธีมของเกมจะเปลี่ยนไปในแนวทางไหนก็ตาม นก Chocobo จะต้องมีบทบาทเป็นสัตว์พาหนะตลอด

เนื่องจากในแต่ละปีจะต้องมีภาคใหม่ออกมาอย่างน้อย 1 ภาค ดังนั้นโจทย์ที่ยากที่สุดที Sqaure Enix ต้องตีให้แตกคือ ทำยังไงให้คนเล่นรู้สึกแปลกใหม่กับมัน

อย่างที่เราได้เห็นกันในภาค 15 ที่ตัวเกมถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นแนว Action / Open World จากเดิมที่เป็นแนว Turn-based ซึ่งทำให้เราพอจะเข้าใจหลายๆ อย่างว่า เกมแฟรนไชส์นึงย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสอดรับกับฐานลูกค้าหน้าใหม่ๆ ในอนาคตให้มากขึ้น เพราะเกมเมอร์รุ่นใหม่ๆ มักจะมองเกมที่ย่อยง่ายๆ แบบหยิบขึ้นมาแล้วเล่นได้เลยไม่ต้องศึกษาอะไรมากมาย แทนที่จะมานั่งคิดว่าเราควรเอาตัวจ๊อบไหนลง ควรให้ตัวไหนถืออาวุธอะไร ใช้เวทย์อะไร สู้กับบอสตัวนี้ต้องมี Strategy ยังไงมากกว่า

Final Fantasy XV Sequel

หรือถ้ามองให้กว้างขึ้นก็คงเป็นเกม Spin-Offs แต่ละภาคที่มีแนวทางการเล่นแทบจะไม่ซ้ำกันเลย อย่างระบบสุ่มการ์ดใน Crisis Core : FF7 หรือกลายเป็นเกมวางแผน Turn-Based แบบ Final Fantasy Tactics ก็มี หรือถ้าให้สุดโต่งไปเลยก็เป็นเกมแนวกดตามจังหวะเพลงอย่าง Theathrythm Final Fantasy เขาก็เอา ซึ่งจากการลองผิดลองถูกมาหลายครั้งหลายครา ดูเหมือนว่า Square Enix จะมีไอเดียใหม่ๆ ยัดใส่เข้าไปในแฟรนไชส์ลูกรักของตัวเองได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และทิศทางของแฟรนไชส์จะไปในทางไหนก็สามารถควบคุมได้อย่างไม่มีปัญหาเลย

ว่าแล้ว ก็มาลองมองเกมใหม่ๆ ที่กำลังจะเปิดตัว อย่าง Battlefield V หรือ Call of Duty : Black Ops IIII ดู

Black Ops 4 sequel

สองแฟรนไชส์นี้นับเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด ตั้งแต่แนวทางของเกมยัน Fanbase ที่มักจะเกทับบลัฟกันสีข้างแหกทุกครั้งที่อีกฝั่งออกภาคใหม่มา แต่ถ้าลองมองลงไปลึกๆ แล้วนั้น

ผมกลับมองว่ามันกำลังปรับตัวเข้าหากันคนละครึ่งทางมากกว่า

Battlefield นับตั้งแต่ภาค Bad Company มา ตัวเกมถูก Simplified ให้เล่นง่ายขึ้นมากกว่าภาค 2 / 2142 จนถึงภาค 1 ที่กลายเป็นเกมสำหรับ Casual Gamer จริงๆ คือต่อให้คุณเล่น Call of Duty มาตลอดชีวิตแล้วมาลองจับก็เล่นได้ไม่ลำบาก สิ่งที่ตัด Battlefield ขาดจาก Call of Duty ตอนนี้เท่าที่เห็นก็คงจะเป็นขนาดของฉาก ยานพาหนะ และไม่มีระบบ Killstreaks เท่านั้น

Battlefield V sequel

ในขณะเดียวกัน Call of Duty เองก็มีการปรับเปลี่ยนตัวเองจากเกมที่เน้นเนื้อเรื่องระดับ Hollywood ระเบิดภูเขาเผากระท่อม อัด Cinematic Moments ยาวๆ กลายมาเป็นเกมที่อิงธุรกิจโมเดล Game as a Service โดยมุ่งเน้นไปที่โหมด Multiplayer และโหมดซอมบี้เป็นหลัก และตัดโหมดเนื้อเรื่องอันเป็นจุดขายหลักของแฟรนไชส์มาตลอดทิ้ง อันเป็นการประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า หลังจากนี้ Call of Duty จะเข้าสู่เส้นทางใหม่ และอยากให้แฟนๆ ลืมตัวตนเดิมที่เน้นหากินกับชื่อแฟรนไชส์แล้วยัดเกมแบบปีละภาคๆ ไปเสีย

ซึ่งการลองผิดลองถูกกับเกมภาคต่อของตัวเองนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่มันก็มีความเสี่ยงอยู่ว่าเสียงตอบรับที่ได้อาจจะไม่ไปในทางที่หวังไว้นัก เพราะมนุษย์เรามักจะเคยชินกับอะไรซ้ำเดิมครับ คือถ้าของเดิมที่ออกมามันดี มันถูกต้องอยู่แล้ว การไปเปลี่ยนมันอาจจะไปทริกเกอร์หรือกระตุ้นต่อมติ่งใครสักคนที่ยังคงชื่นชอบกับสิ่งเดิมๆ อยู่ก็เป็นได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นการเปิดประตูไปสู่สิ่งใหม่ๆ แฟนคลับคนใหม่ ฐานลูกค้าใหม่ๆ ได้เช่นกัน คือถ้าพิจารณาแล้วผลลัพธ์ที่ได้มันคุ้มที่จะเสียง ก็ควรจะทำนะครับ

แต่ไม่ว่าผลที่ออกมาของการทดลองสิ่งใหม่ๆ กับเกมภาคต่อในแฟรนไชส์ตัวเองนั้นจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นตัวบ่งชี้ชั้นดี ว่าไม่ว่าแฟรนไชส์คุณจะอยู่มานานแค่ไหนก็ตาม การหากินกับสูตรสำเร็จเดิมๆ จากในอดีตมักไม่ใช่เรื่องดี

และนี่ก็คือข้าวหมูแดง “ร้าน ตั้งฮะเส็ง” ภาพประกอบจากเว็บไซต์ Craft’n Roll

เปรียบได้กับร้านข้าวหมูแดง ที่ขายแต่ข้าวหมูแดงสูตรเดิมๆ มาตลอด ในอดีตมันอาจจะขายดี แต่สูตรในตอนนั้นอาจจะไม่ถูกปากคนรุ่นใหม่ๆ ก็ได้ครับ เพราะแน่นอนว่าเวลาผ่านไป มันก็มีร้านข้าวหมูแดงเจ้าใหม่ๆ ผุดขึ้นมา แล้วรสชาติที่ร้านเขาทำก็อาจจะอร่อยกว่า ดังนั้นการปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับยุคสมัยย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่างเช่นการเพิ่มหมูกรอบ หรือใส่ส่วนผสมใหม่ๆ ลงไปในน้ำราดก็เป็นตัวเลือกที่ดี

ว่าแล้วก็หิว ขอตัวออกไปหาอะไรกินแก้หิวก่อนดีกว่า สวัสดีครับ

Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share