Neo Cab Review

ภายในเมืองที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่ส่งแสงนีออน มีปัญญาประดิษฐ์อยู่ในทุกซอกถนนและแทบจะทุกซอกรูขุมขนของประชากรแต่ละคน นี่อาจจะมองเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบในสายตาของใครหลายคน แต่แท้ที่จริงแล้วเมืองนี้คือเมืองเย็นชา ไร้จิตวิญญาณอย่างยิ่ง เมืองที่มนุษย์ทุกคนแทบจะเหมือนเป็นแค่หุ่นยนต์ และคงจะถูกหุ่นยนต์เหล่านั้นแทนที่ได้ในไม่ช้า แต่ทว่าในเมืองนี้ยังคงมีรถแท็กซี่อยู่หนึ่งคัน รถแท็กซี่ที่จะไม่เพียงแค่พาผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางที่พวกเขาต้องการ แต่จะยังพาพวกเขาไปยังปลายทางที่เป็นคำตอบของ “การเป็นมนุษย์” ซึ่งเป็นสิ่งที่แม้แต่เทคโนโลยีทั้งหมดในเมืองนี้ก็ยังไม่สามารถพาพวกเขาไปยังเป้าหมายปลายทางนั้นได้

รถแท็กซี่คันนั้นมีนามว่า ‘Neo Cab’

เกม Neo Cab เป็นเกมแนวผจญภัยกึ่งนิยายภาพ ผู้เล่นมีการโต้ตอบกับเกมแค่การเลือกประโยคตอบกับผู้โดยสาร คุยกับตัวเองและกดเลือกลูกค้า และสถานที่ในแผนที่เท่านั้น ไม่สามารถขับรถ คลิกหยิบจับของหรือออกไปนอกรถได้โดยอิสระ ซึ่งอาจจะฟังดูว่าเป็นเกมที่เล่นไม่สนุกเท่าไหร่ แต่ว่าเนื้อในของเกมที่เล่าผ่านระบบง่าย ๆ แค่สองสามระบบ สามารถส่งผลกับประสบการณ์ในการเล่นได้อย่างใหญ่หลวง

ในเกม Neo Cab ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นลีน่า โรเมโร คนขับแท็กซี่ Neo Cab ที่กำลังตกยุคเพราะมีรถอัตโนมัติของบริษัท Capra มาแทนที่ เธอได้จะย้ายมาในเมืองเทคโนโลยีชื่อ Los Ojos (ลอส โอจอส) ตามคำขอของเพื่อนเก่าชื่อแซวี่ แต่ก่อนที่พวกเธอทั้งสองจะได้เจอกัน แซวี่ก็ได้หายตัวไป เหลือไว้เพียงแค่เบาะแสจากโทรศัพท์ที่พังเท่านั้น ลีน่าจึงต้องออกตระเวนรับผู้โดยสารทั่วเมืองเพื่อตามหาเบาะแสของเพื่อนรักที่หายตัวไป

เนื้อเรื่องไม่แปลกใหม่อะไร แต่มันเป็นตัวที่คอยผลักดันให้ผู้เล่นเลือกรับผู้โดยสารต่อไป เพื่อที่จะคุยและตามหาเบาะแสของแซวี่ต่อ แต่ต้องยอมรับว่ามีบางทีที่เรื่องราวของผู้โดยสารเองนั้นน่าสนใจกว่าตัวเนื้อเรื่องหลักเยอะ เช่นเรื่องราวของสมาชิกกลุ่มลัทธิบูชาความเจ็บปวด และสาวใหญ่นักสถิติควอนตั้มผู้สามารถมองเห็นเส้นเวลาต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกคู่ขนานได้เป็นต้น และยังมีตัวละครที่เขียนบทได้เป็นมนุษย์มากเช่นกัน เช่นตัวละครที่อยากจะค้นหาตัวเอง ตัวละครที่อยากจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นต้น ไม่ว่าจะอยากได้เรื่องแปลก ขำ หรือดราม่า เกมนี้ก็คงสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ค่อนข้างดี และเกมก็ยังมีการกัดการเสพติดเทคโนโลยีของคนปัจจุบันได้อย่างแสบ ๆ คัน ๆ อีกด้วย

ตัวละครแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นลีน่าหรือผู้โดยสารนั้นมีตัวตนของตัวเองชัดเจน มีเหตุการณ์เรื่องราวมาเล่า มีความทรงจำ มีเป้าหมายและความรู้สึกฝังใจไม่ต่างกัน โดยเฉพาะลีน่า ตัวละครนี้ไม่ใช่ตัวละครที่ผู้เล่นสร้างขึ้นเอง เธอมีปัญหาส่วนตัว ความทรงจำและความรู้สึกที่ดีและแย่ต่อสิ่งต่าง ๆ ในโลกนั้นอยู่แล้ว ผู้เล่นสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ถ้าผู้โดยสารพูดจี้จุดมา ลีน่าก็จะแสดงอารมณ์โดยที่ผู้เล่นควบคุมไม่ได้เลย เวลาจะคุยอะไรก็ต้องใจเขาใจเราไว้ด้วย อย่าลืมว่าเราเองก็คุยกับคนเหมือนกัน

neo cab 02
พูดอะไรเกรงใจคนขับบ้างก็ดีนะ

กลับมาที่เนื้อเรื่องหลัก ผมมองว่าเนื้อเรื่องหลักสั้นมาก เพราะเวลาเกินครึ่งที่เล่นคือการที่ผมรับผู้โดยสารคนอื่นที่ไม่ส่งผลกับเนื้อเรื่องหลักเลย ทุกอย่างมันเส้นตรงมาก เกมจะบอกเลยว่าเราควรต้องไปหาใคร แล้วเขาที่ไหน (แต่จะคุยยังไง สำเร็จไหมก็อยู่ที่ตัวเราเอง) ถ้าเล่นแบบพุ่งตรง ๆ ก็น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงจบ แล้วเนื้อเรื่องก็ไม่ได้มีอะไรว้าวมาก มีแค่ฉากตอนใกล้จบที่ผมรู้สึกว่าตรงนั้นคือทั้งเนื้อเรื่องและระบบเกมมันเข้ามารวมกันได้อย่างกลมกล่อม เหมือนว่าเกมพยายามสอนระบบเพื่อมาใช้ในจังหวะนี้ทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ตอนจบไม่ได้หวือหวาเหมือนที่เกมพยายามจะทำให้มันเป็นและรู้สึกว่ามันยังห้วนเกินไป

อย่างที่ได้แจ้งไปด้านบนว่าเกมมีระบบแค่ให้ผู้เล่นเลือกโต้ตอบกับผู้โดยสารและคุยกับตัวเอง การเลือกตอบแต่ละอย่างส่งผลต่อ ‘อารมณ์’ ที่เป็นระบบหลักของเกมของเกมโดยตรง ผู้เล่นจะสามารถดูอารมณ์ของลีน่าได้เมื่อได้รับกำไลที่เรียกว่า “Feelgrid” โดยอารมณ์จะมีแสดงให้เห็นสองที่คือแผ่นสีที่มุมล่างซ้ายของจอ ซึ่งแผ่นนี้จะหายไปเมื่ออารมณ์ไม่เปลี่ยนเป็นระยะเวลาหนึ่ง และอีกส่วนคือที่ข้อมือด้านขวาของลีน่าเอง โดยสีที่ข้อมือจะขึ้นตลอดเวลา สีอารมณ์มีทั้งหมด 5 สีหลักคือขาว แดง เหลือง ฟ้าและเขียว ขาวคือไม่รู้สึกอะไร แดงคือโมโห เหลืองคือมีความสุข ฟ้าคือเศร้าและเขียวคืออารมณ์แบบสบาย ๆ โดยยิ่งสีเข้มขึ้นเท่าไหร่ แปลว่าลีน่ามีความรู้สึกอารมณ์นั้นแรงขึ้นตามความเข้มนั่นเอง

neo cab feel grid
ตารางอารมณ์ต่างๆ

อารมณ์สามารถส่งผลต่อตัวเกมได้หลายประการ อย่างแรกคือเพิ่มตัวเลือกคำตอบหรือล็อคตัวเลือกคำตอบบางข้อ ทำให้ผู้เล่นไม่สามารถที่จะตอบอะไรที่ไม่ตอบสนองกับอารมณ์ของลีน่าตอนนั้นได้ เช่นถ้าลีน่าโมโหอยู่ จะให้กลับมาใจเย็นเลยไม่ได้ ถึงแม้ผู้เล่นจะสามารถเลือกคำตอบนั้นได้ ลีน่าก็จะไม่ทำตามนั้นพร้อมอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงพูดออกไปแบบนั้นไม่ได้ แล้วเกมก็จะส่งผู้เล่นมาที่หน้าเลือกคำตอบเดิม ผู้เล่นจะต้องเลือกตอบด้วยสิ่งที่เบาลงเพื่อค่อย ๆ แก้ไขอารมณ์ให้เป็นไปตามที่ผู้เล่นต้องการ และไม่ใช่แค่อารมณ์ของลีน่าที่ส่งผลอย่างเดียว คนเล่นต้องคำนึงถึงอารมณ์ของผู้โดยสารด้วย โดยส่วนใหญ่ผู้โดยสารจะแสดงอารมณ์จากสีหน้าและคำพูด ฉะนั้นต้องจำไว้ตลอดเวลาว่าผู้โดยสารชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพราะการที่ผู้เล่นทะเลาะกับผู้โดยสาร จะส่งผลต่อคะแนนเรทติ้งคนขับของลีน่าด้วย

neo cab 04
ถึงแม้เธอจะรู้ว่าผู้โดยสารต้องการอะไร แต่เธอก็ไม่สามารถบังคับตัวเองในตอนนั้นให้พูดชมเชยสิ่งที่เธอไม่ชอบได้ แม้มันจะส่งผลกับการงานของเธอก็ตาม
neo cab05
ถ้าคำตอบโดนล็อคเพราะอารมณ์ไม่สัมพันธ์ ช่องคำตอบจะขึ้นเป็นสีของอารมณ์นั้นๆ
neo cab 06
ถ้าอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งช่วยเพิ่มตัวเลือก ที่มุมบนซ้ายของคำตอบจะขึ้นเป็นสีของอารมณ์นั้นแบบจางๆ ผู้เล่นสามารถสังเกตอารมณ์ตอนนี้ของลีน่าได้ที่ Feelgrid บนข้อมือ

ระบบต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กันและเกี่ยวข้องกับการเลือกตอบกับอารมณ์โดยตรงก็คือระบบเรทติ้งดาว เนื่องจาก Neo Cab เป็นแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ ผู้โดยสารสามารถให้ดาวและวิจารณ์คนขับได้โดยตรง ถ้าลีน่าทำให้ลูกค้าไม่พอใจ ดาวที่ลีน่าได้ก็จะลดลงไปด้วย และบริษัท Neo Cab บังคับว่าคนขับต้องมีดาวเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ดาว มิฉะนั้นจะโดนทาง Neo Cab ปิดบัญชีผู้ขับขี่ และมีผู้โดยสารบางคนจะมีสถานะ Neo Cab Prime ซึ่งถ้าจะเลือกรับต้องมีเรทติ้งคนขับที่ 5 ดาวเท่านั้น แต่ดีที่ว่าไม่ได้ปั้มดาวขึ้นยากนัก หรือไม่ก็ถ้าได้ดาวน้อย ผู้เล่นสามารถโหลดเซฟตอนก่อนที่จะรับลูกค้าคนนั้นได้ ถึงแม้เกมจะไม่มีระบบให้ผู้เล่นเซฟเอง แต่ระบบเซฟอัตโนมัติก็จะเซฟให้เมื่อเริ่มวันใหม่ หรือหลังส่งผู้โดยสารเสร็จ

neo cab 07
คุณลูกค้าทำไมใจร้ายขนาดนี้
neo cab review
รีวิวน้อยเจ้าเดียว ดาวดิ่งฮวบเลย

ระบบต่อมาของเกมคือระบบแผนที่ ซึ่งมีประโยชน์สามอย่างด้วยกัน หนึ่งคือใช้เลือกลูกค้า สองคือใช้หาที่ชาร์จแบตเตอรี่รถ สามคือใช้หาที่นอนพัก ผู้เล่นจะต้องเลือกลูกค้าที่อยากจะรับเอง และถ้าเล่นไปเรื่อย ๆ ก็สามารถรับคนเดิมซ้ำเพื่อเล่นเนื้อเรื่องของผู้โดยสารคนนั้นต่อได้ ลูกค้าแต่ละคนอยู่คนละที่และมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน ฉะนั้นผู้เล่นก็ต้องดูด้วยว่าเป้าหมายของลูกค้านั้นคืออยู่ตรงไหน และคำนวนจำนวนแบตที่ใช้ ค่าชาร์จแบตและสถานที่พักด้วย โดยในเกมจะมีขึ้นบอกตลอดว่าปั้มชาร์จแบตอยู่ตรงไหนบ้าง ราคาเติมชาร์จแท่งละเท่าไหร่ (เต็ม 4 แท่ง) ปั้มแต่ละจุดก็มีราคาต่างกัน สถานที่นอนแต่ละที่ก็มีราคาต่างกันด้วย ฉะนั้นคนเล่นต้องคำนึงถึงเงินที่ตัวเองมี จำนวนไฟในแบต สถานที่ของตัวเองตอนนั้นและที่นอนด้วย

neo cab 08
ที่นอนอย่างไกล แต่โชคดีที่ตรงนี้ค่าชาร์จถูก…

ระบบเกมนี้ค่อนข้างชัดเจน ไม่มีอะไรที่ซับซ้อนมาก โดยแบ่งเป็นสองระบบหลักคือ เลือกผู้โดยสารที่จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับเรื่องหลักก็ได้ อ่านแล้วเลือกตอบ ดูอารมณ์ตัวเองกับผู้โดยสาร ทำจนกว่าจะครบโควต้าของแต่ละวันและพยายามรักษาเรทติ้งกับ ส่วนอีกระบบคือการวางแผนเรื่องการเงิน วางแผนว่าจะไปอยู่ที่ไหน เติมไฟที่ไหนเหมาะ แล้วก็หาที่พัก ถึงจะแยกเป็นสองระบบหลักแต่ว่าระบบเหล่านี้เชื่อมต่อกันอย่างชัดเจน เพราะถ้าเลือกลูกค้าไม่ดี ตอบไม่ถูกจนเรทติ้งตกหรือเจอตำรวจเรียกค่าปรับ มันก็จะส่งผลถึงระบบการบริหารเงินอย่างชัดเจน แต่ถ้าไม่มีเงิน เกมก็มีระบบที่ช่วยให้หาเงินได้ เช่นให้ตอบคำถามในมือถือและให้ลีน่านอนในรถ แต่ตัวเลือกเหล่านี้จะมีให้เลือกเมื่อไม่มีเงินพอใช้แล้วเท่านั้น รวมไปถึงว่าถ้าลูกค้าไม่พอใจ ก็อาจจะส่งผลให้การรับลูกค้าซ้ำเพื่อเดินเรื่องต่อนั้นยากขึ้นอีกด้วย ฉะนั้นทุกการกระทำสามารถส่งผลให้ผู้เล่นได้ไม่น้อยเลย

ตัวเกมมีกราฟฟิคเป็นแบบ Cel-Shade จึงไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก แต่ด้วยการที่เกมเป็นงานศิลป์แบบ Cyberpunk แบบตอนกลางคืนจึงมีการใช้แสงเยอะ ซึ่งผมว่าจุดนี้เกมทำได้ดี แสงเนียนและช่วยให้ตัวละครมีมิติโดดเด่นออกมาจากฉากที่เป็นรถและถนน คือถึงจะดูว่าไม่สมจริง แต่ว่ามันก็ออกมาสวยงามในฐานะเกม Cel-Shade หนึ่งเกม แล้วเกมก็รันได้ดีโดยที่ไม่มีปัญหาเฟรมตก (CPU Ryzen 5 3600 3.6Ghz, GPU GTX 970)

neo cab 09
เงาและแสงสีม่วงบนหน้าของตัวละครและเบาะกับแสงจากตุ้มหูทำให้ฉากนี้ดูมีมิติมาก

ด้านอนิเมชั่นเป็นส่วนที่ผมค่อนข้างไม่ค่อยพอใจ ผมรู้สึกว่าอนิเมชั่นน้อยแล้วมีการใช้ซ้ำเยอะ ผมอยากให้มีอนิเมชั่นที่แสดงความรู้สึกแบบเล็กน้อยบ้าง เพราะในเกมคือต่อให้โมโหนิดเดียว หน้าก็หยิกจนสุดหรือไม่ก็ไม่มีแสดงอารมณ์อะไรเลย รวมไปถึงอนิเมชั่นแข็ง จนบางทีก็ดูไม่เป็นธรรมชาติเอาเสียเลย

อีกจุดที่ผมไม่ค่อยพอใจก็คือการออกแบบฉาก เกมพยายามอธิบายสถานที่ให้เราเห็นอย่างเลิศหรู แต่ผู้เล่นแทบไม่ได้เห็นสิ่งที่เกมอธิบายเลย ส่วนมากจะได้เห็นแค่สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ที่ดูเหมือนจะล้อมรอบสิ่งก่อสร้างนั้น แต่สิ่งที่เกมพูดถึง เราแทบไม่ได้เห็นเลย

neo cab 10

เช่นในรูปด้านบน เกมพูดมาซะใหญ่โตว่าลีน่าจอดรถอยู่ที่หน้าอพาร์ทเมนท์ที่มีแสงสว่างและมีการออกแบบเหมือนคอนโดกับ arcology ผสมกัน (สถาปัตยกรรมแบบนิเวศวิทยา) แต่คนเล่นไม่เห็นเลย เห็นแต่แสงสีม่วงวาบ ๆ ที่ด้านขวาของจอเท่านั้น

อีกอย่างที่ไม่วิจารณ์ไม่ได้เลยบทตัว PC ก็คือการปรับกราฟฟิค เพราะผู้เล่นไม่สามารถปรับกราฟฟิคได้ในเกม ปรับไม่ได้แม้กระทั่งความคมชัดของภาพ แล้วตัวกราฟฟิคที่เกมปรับมาให้ก็ไม่มีการล็อคเฟรมเรทใด ๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นเครื่อง PC ของท่านจะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา ในหน้าตั้งค่าของเกมมีให้ปรับแค่เสียงดนตรี เสียงเอฟเฟค ภาษา และความเร็วของตัวหนังสือเท่านั้น ถ้าอยากจะปรับกราฟฟิคและล็อคเฟรมเรทให้เหลือ 60 ต้องกดปุ่ม CTRL+ALT ตอนที่กดเปิดเกม แล้วจะมีกล่องขึ้นมาให้เลือก โดยควรเลือก Graphics Quality เป็น Beautiful ขึ้นไปเพื่อภาพที่สวยงามขึ้นและล็อคเฟรมเรท เพราะ Good นั้นไม่มีการล็อคเฟรมเรท แต่ถ้ายิ่งปรับสูงเกมก็จะยิ่งกินสเปคตามไปด้วย ฉะนั้นถ้าเครื่องท่านไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้เลือกเป็น Beautiful หรือไม่ก็ Good แล้วใช้โปรแกรมภายนอกล็อคเฟรมเรทเอาแทนครับ

ภาพเทียบกราฟฟิคตั้งแต่ Good ถึง Ultra โดยตัวเลขด้านบนซ้ายคือทรัพยากรที่เกมใช้จากการตั้งกราฟฟิคแต่ละอันโดยไม่มีการปรับแต่งอะไรเพิ่มเติมทั้งสิ้น (แคปจากเครื่อง CPU Ryzen 5 3600 3.6Ghz, GPU GTX 970 ความละเอียด 1600×900)

กราฟฟิคแบบ Good
กราฟฟิคแบบ Beautiful
กราฟฟิคแบบ Fantastic
กราฟฟิคแบบ Ultra

ข้อแรกที่เห็นชัดที่สุดของเกมนี้เลยก็คือว่า “ไม่มีเสียงพากย์” ใดทั้งสิ้น ทั้งเกมจะมีแต่เสียงดนตรีและเสียงเอฟเฟคเท่านั้น ส่วนตัวผมไม่มีปัญหากับเรื่องเสียงพากย์มากนัก เพราะถ้าทีมงานงบไม่พอ หาคนพากย์ดี ๆ มาไม่ได้ ก็อย่ามีให้มันเสียอรรถรสเลยจะดีกว่า

แต่ผมค่อนข้างสองจิตสองใจกับเสียงดนตรีและเสียงเอฟเฟค ผมคิดว่าแต่งดนตรีมาได้ดีแต่มีน้อยเกินไปเลยมีการเล่นซ้ำบ่อย แล้วเพลงเป็นแนว Lofi ถ้าใครที่ไม่ชอบเพลงแนวฟุ้ง ๆ เบสแน่น ๆ ก็อาจจะไม่ชอบเพลงของเกมนี้เท่าไหร่ ผมเองไม่ค่อยมีปัญหากับแนวนี้ แต่ผมรู้สึกว่าบางทีเสียงเพลงที่มาจากการตั้งค่าของผู้พัฒนามันดังเกินไป เบสเยอะเกินไปจนทำให้เสียสมาธิในการอ่าน แนะนำว่าให้ลดเสียงเพลงลงเหลือสัก 25-30% เปิดเหมือนเสียงวิทยุคลอเบา ๆ จะทำให้ไม่เสียอรรถรสในการเล่นและทำให้มีสมาธิมากขึ้นครับ

ส่วนเรื่องเสียงเอฟเฟกต์ ผมว่ามันธรรมดามาก ซึ่งมันก็ไม่ใช่ข้อเสียนะ แต่บางทีมันถูกกลืนจนมิดไปเลย

ถ้าจะเปรียบเทียบเกมนี้เหมือนอะไรสักอย่าง ก็คงจะเหมือนการนั่งรถแท็กซี่ที่มีคนขับดีนั่นแหละครับ เรานั่งแท็กซี่โดยมีเป้าหมายเพื่อจะเดินทาง คนขับคุยสนุก มีปัญหารถติดตามทางบ้าง และอาจจะเจอผู้ร่วมใช้ถนนที่ขับรถได้อย่างดีเยี่ยมจนต้องบีบแตรชมเชย แต่สุดท้ายเราก็ถึงปลายทางที่เราตั้งใจไว้ด้วยราคาที่ค่อนข้างเหมาะสม ถึงเกมจะเอาระบบทั้งหมดมาใช้ในการเล่าเรื่องได้อย่างกลมกล่อม จนมีจุดนึงที่ผมถึงขั้นสะอึกเลย ไม่นึกว่าเกมจะเอาระบบเกมมาตีตลบใส่คนเล่นแบบนี้ ซึ่งมันดีมาก ๆ แต่ผมรู้สึกว่าเกมยังสั้นเกินไป

ระบบที่พักกับการชาร์จไฟที่แพงเหมือนพยายามเร่งให้คนเล่นรีบจบ เกมมันเลยดูว่าอาจจะแพงไปสักหน่อยถ้าเทียบกับการที่ผมเล่นจบภายใน 3 ชม. นิด ๆ ผมเลยมองว่าเกมนี้มันต้องเล่นซ้ำ โดยวางแผนไปเลยว่ารอบนี้จะเล่นคุยกับใคร แล้วก็ลุยตามนั้น แต่ถ้าให้ผมเสนออะไรสักอย่าง ก็คงเป็นว่าให้มีโหมดให้คนเล่นเข้าไปคุยกับตัวละครอื่นโดยที่ไม่ต้องสนใจเนื้อเรื่องหรือระบบเงิน แบบนี้ผมว่าน่าจะทำให้เกมเล่นได้สนุกยิ่งขึ้น ทีมงาน Fellow Travelers นั้นมีเป้าหมายที่จะทำเกมแนวคุยเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์และอารมณ์ของคนในโลก Cyberpunk Dystopia แล้วสุดท้ายเขาก็ไปถึงจุดปลายทางที่เขาต้องการได้อย่างไม่เคอะเขิน เพียงแต่ว่าน่าเสียดายการเดินทางนั้นยังมีอุปสรรคที่ทำให้ขัดใจอยู่บ้างเท่านั้นเองครับ

Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share