ปัจจุบันนี้คงไม่มีใครรู้จักคำว่า Let’s Play (หรือแคสเกมในบ้านเรา) กับ Streaming แน่นอนล่ะ แต่ถ้าใครที่ไม่เข้าใจศัพท์เหล่านี้ ผมก็จะอธิบายคร่าว ๆ ให้อ่านก่อน
เล็ทส์เพลย์ (Let’s Play) เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกการที่ผู้เล่นเกมอัดวิดีโอตอนที่เล่นอยู่ อาจมีการบรรยายเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมหรือไม่มีก็ได้ แล้วนำวิดีโอนั้นมาอัปโหลดลงเว็บไซต์เช่น YouTube หรือ Facebook ก็ดี ตัววิดีโออาจจะเป็นวิดีโอจากการเล่นเกมเปล่า ๆ หรือมีกล้องให้เห็นหน้าคนเล่น หรือจะเป็นการตัดฉากที่ไม่สำคัญออกบ้างก็ได้ เช่นฉากการเดินที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ โดยใจความของ Let’s Play คือการที่ให้คนดูรู้สึกว่าดูคนอื่นกำลังเล่นเกมอยู่ ฉะนั้นการคงไว้ซึ่งบริบทของเกมก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงทำตัดฉับเยอะไม่ได้ เพราะถ้าตัดเอาแค่จุดเด็ดมาทำวิดีโอ แบบนั้นจะกลายเป็น Montage แทน
สตรีมมิ่ง (Streaming) เองก็ไม่ต่างจาก Let’s Play มากนัก มีคอนเซปต์คล้ายกันคือการอัดวิดีโอเล่นเกมให้ผู้อื่นได้รับชม แต่ที่แตกต่างก็คือการสตรีมนั้นคือการเล่นแล้วถ่ายทอดสด ไม่มีการตัดต่อหรือใส่เอฟเฟกต์แบบ Let’s Play คนดูสามารถที่จะพิมพ์ข้อความลงช่องแชตเพื่อพูดคุยกับผู้ถ่ายทอดสด (สตรีมเมอร์, Streamer) ฉะนั้นตัววิดีโอจะมีความยาวที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ให้ความรู้สึกเหมือนเรานั่งดูเพื่อนเล่นข้าง ๆ เพื่อนที่เราสามารถจะพูดคุยและโต้ตอบได้ เพิ่มอรรถรสไปอีกแบบ และสร้างความรู้สึกว่าผู้ชมใกล้ชิดกับผู้ถ่ายทอดได้ดีกว่า แต่การสตรีมก็อาจจะมีที่เป็นเกมเพลย์เปล่า ๆ ได้เช่นกัน อันนี้ก็อยู่ที่ความชอบของผู้ถ่ายทอดสดเอง
ในปัจจุบันทั้งสองสื่อนี้ก็เป็นที่นิยมมาก มากจนถึงขั้นว่าหลายคนออกมาบอกว่าทั้งสองสื่อนี้กำลังฆ่าวิดีโอเกม
แล้วมันเป็นแบบนั้นหรือเปล่านะ?
Let’s Play ฆ่าวงการวิดีโอเกม?
เหตุผลที่มีผู้คนชี้หน้าว่า Let’s Play และ Streaming เป็นสื่อที่ฆ่าวีดีโอเกมนั้นมักมาจากการที่สื่อเหล่านี้สปอยล์เนื้อเรื่องของเกมดังกล่าวแบบเต็ม ๆ (เพื่อการคงบริบทตามที่กล่าวไปด้านบนนั่นเอง) การที่ทำแบบนี้ส่งผลให้เกมที่เน้นเนื้อเรื่องขายได้ยากขึ้นเพราะว่าคนดูนั้นสามารถจะที่รู้เนื้อเรื่องเทียบเท่ากับคนที่ซื้อเกมนั้นมาเล่นได้เลย ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องเสียเงินในการรับรู้เรื่องนั้นเลยแม้แต่บาทเดียว
ไม่ใช่แค่เพียงแต่ผู้เล่นที่คิดแบบนั้น มีนักพัฒนาเกมจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่คิดแบบนั้น ตัวอย่างที่เด่นสุดก็คงเป็น Phil Fish ผู้พัฒนาเกม Fez เขาได้กล่าวไว้ในหลายต่อหลายทวีตที่ผมยกตัวอย่างมาในด้านล่าง
“ ถ้าคุณหาเงินจากการเอาคอนเทนต์ของผมไปอัปบนช่องของคุณ คุณก็ติดเงินผม มันง่ายแค่นั้นเลย ”
“ เงินจากค่าโฆษณาควรจะต้องมีการแบ่งปันกับผู้พัฒนา ระบบนี้ควรมีในยูทูป อะไรก็ตามที่นอกเหนือจากนี้ก็คือการเล่นเกมเถื่อน ”
เอาจริงผมเองก็เข้าใจความคิดของ Phil Fish อยู่นะ เขาเองเป็นนักพัฒนาเกมอินดี้ ความเป็นความตายของเขาอยู่กับยอดขายของ Fez ถ้าใครได้ดูภาพยนตร์สารคดี Indie Game: The Movie ก็คงได้รู้ว่าเขาทุ่มเทกับเกมนี้มากจนถึงขั้นที่บอกว่าถ้าทำเกมนี้ไม่เสร็จ เขาจะฆ่าตัวตายกันเลย
แต่ผมก็ยังรู้สึกว่ามีข้อโต้แย้งที่สำคัญกับเหตุผลแบบนี้อยู่เหมือนกันนะ
Let’s Play ช่วยวงการวิดีโอเกม?
พวกเราอยู่ในยุคข้อมูลล้นเกินพิกัด (Information Overload) ยุคที่โซเชียลมีเดียให้รางวัลคนที่มีทรัพยากรเยอะมากกว่าคนที่ทรัพยากรน้อย ยุคที่ผู้คนต่างมองสิ่งรอบข้างเพียงแค่ภายนอก ถ้าคุณไม่มีงบ ไม่มีช่องทางการโปรโมตที่ใหญ่พอ สิ่งใดก็ตามที่คุณต้องการจะขายล้วนมีโอกาสที่จะอันตรธานหายไปจากความสนใจของลูกค้าเพียงแค่ช่วงเวลาเพียงอึดใจเท่านั้น
Let’s Play และ Streaming สามารถช่วยคุณจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างดี
ถ้าเรามองมุมกลับของเรื่อง Phil Fish และเกม Fez ที่ยกตัวอย่างไปด้านบน ผมคาดว่าคนส่วนใหญ่คงไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าเกม Fez มันคือเกมอะไร ถ้าไม่ได้เห็นผ่าน Let’s Play หรือ Streaming ตามเว็ปไซต์ชื่อดังอย่าง YouTube และ twitch เพราะในยุคสมัยแบบนี้ ปากต่อปากมันอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปสำหรับคนหลายคน สิ่งที่สื่อเหล่านี้ช่วยในการตัดสินใจของลูกค้าคือเขาได้เห็นวีดีโอเกมดังกล่าวในรูปแบบที่เคลื่อนไหวได้ มีเสียง มีภาพครบถ้วน อาจมีคำบรรยายที่เป็นคำชื่นชมเกมหรือคำวิจารณ์จากผู้ทำ Let’s Play หรือ Stream ให้ได้ฟังด้วย แต่มีสิ่งเดียวที่พวกเขาไม่สามารถสัมผัสได้และนำพาไปสู่การซื้อเกมนั้นก็คือ “การโต้ตอบ” (Interaction)
อย่างที่เรารู้กันดี วิดีโอเกมเป็นสื่อโต้ตอบ (Interactive Media) จุดเด่นของสื่อนี้ที่ไม่เหมือนสื่ออื่นใดที่เห็นได้ทั่วไปคือการที่ผู้ใช้สื่อสามารถที่จะโต้ตอบไปมากับสื่อนั้นได้โดยตรง ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่การดู Let’s Play กับ Streaming ไม่สามารถให้กับคนดูได้ ถ้าไม่นับพวก twitch Plays Pokemon อะไรพวกนี้ล่ะนะ
ในมุมมองของการโปรโมต ผมรู้สึกว่าสื่อ Let’s Play กับ Streaming เป็นเหมือนการโปรโมตแบบฟรี การที่ให้ผู้ผลิตสื่อแบบนั้นเล่นให้แฟน ๆ ของเขาดู เป็นการนำพาเกมดังกล่าวไปหาลูกค้าใหม่มากมาย ถึงแม้คนเหล่านั้นอาจจะมาดูเพราะว่าชื่นชอบคนเล่น แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้เห็นเกมแล้ว ถ้าพวกเขาสนใจ พวกเขาก็อาจจะไปซื้อมาเล่นเองได้ แต่ถ้าเขาไม่สนใจ เขาก็คงแค่ดูต่ออย่างเดียว หรืออาจจะมีคนบางกลุ่มที่ยังไงก็ไม่เล่น มาดูอย่างเดียวได้เช่นกัน
มันก็เหมือนการโปรโมตทั่วไปไม่ใช่หรือ?
การที่คุณเอาสินค้าออกไปให้ผู้อื่นได้เห็น คุณก็ต้องมีการเสียทรัพยากรอะไรสักอย่างเพื่อแลกกับการที่ลูกค้าได้เห็น ซึ่งลูกค้าเหล่านั้นก็ไม่ได้การันตีว่าจะซื้อทุกคน การให้ผู้ผลิตสื่อ Let’s Play กับ Streaming นำเกมของคุณไปเล่นก็เช่นกัน ถึงแม้คนดูร้อยคนจะไม่ได้ซื้อทั้งร้อยคน แต่ถ้ามีคนซื้อสัก 25 คนหรือมากกว่านั้นผมก็รู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จนะ เพราะคน 25 คนนั้นอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเกมของคุณมาก่อนเลยก็เป็นไปได้ หรือไม่ก็เขาอาจจะสนใจแต่มาหาดูเพื่อรับข้อมูลเกมของคุณที่มากกว่าแค่ตัวอย่างที่ปล่อยออกมา ได้เห็นคนเล่นจริง ๆ มันก็ช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
แต่ผมก็เข้าใจในมุมมองของเกมที่มีเนื้อเรื่องเส้นตรงนะ ผมเองก็ชอบเล่นเกมแบบนี้มาก การดู Let’s Play กับ Streaming มันก็ทำให้ไม่อยากซื้อเล่นได้เหมือนกัน เพราะก็ได้เนื้อเรื่องครบแบบฟรี ๆ ไปแล้ว จะซื้อทำไมล่ะ?
สุดท้ายมันก็อยู่ที่เราที่เป็นผู้ชมและผู้เล่น ว่าเราจะสนับสนุนผู้พัฒนาที่สร้างวิดีโอเกมเหล่านี้มาให้พวกเราได้ชมหรือได้เล่นหรือเปล่า เพราะมันก็คือตัวเลือกของเราเอง ผมว่ามันไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก ยังไงเสียเกมมันก็ไม่ได้มีแค่เนื้อเรื่องเท่านั้น แบบนั้นก็เหมือนคุณดูหนังแค่เรื่องหนึ่ง แต่การเล่นเกม การได้โต้ตอบกับเกม มันทำให้เรื่องราวนั้นเป็นของเรา ไม่ใช่เรื่องราวที่มาจากคนอื่นจาก YouTube หรือ twitch แบบนั้นมันก็เหมือนการที่เราได้ฟังสปอยล์มาจากคนอื่นเสียมากกว่า เพราะสุดท้ายแล้ว วิดีโอเกมเป็นสื่อที่ผู้ที่จับคอนโทรลเลอร์หรือเมาส์และคีย์บอร์ดเท่านั้นที่จะได้รับประสบการณ์ที่สมบูรณ์