Highway of Death จาก Modern Warfare สู่โศกนาฏกรรมในความเป็นจริง

Call of Duty: Modern Warfare ได้ออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนตุลาคมของปี 2019 มันคือการกลับสู่รากเหง้าของความเป็น Call of Duty อีกครั้งและยังมาพร้อมกับเนื้อหาที่หนักแน่นที่ทาง Infinity Ward ทีมงานผู้สร้างต้องการที่จะสะท้อนภาพของสงครามในความเป็นจริงออกมา แต่ด้วยความบิดเบี้ยวในประวัติศาสตร์ฉบับสร้างใหม่ของตัวเกม มันกลับกลายเป็นการสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับนักเล่นเกมชาวรัสเซียกับที่มาของ “ทางหลวงสายมรณะ” หรือ “Highway of Death” ที่เป็นโศกนาฏกรรมจากฝีมือของกองกำลังสหรัฐฯ ในโลกแห่งความเป็นจริง

Highway of Death ในโลกวิดีโอเกม

ในเกม Call of Duty: Modern Warfare ช่วงกลางเกมจะมีหนึ่งภารกิจของเกมที่ชื่อว่า” Highway of Death” มันคือชื่อที่ตั้งขึ้นจากชื่อของ “ทางหลวงสายมรณะ” ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ตั้งอยู่ที่บริเวณรอบนอกของเมืองคูเวตซิตีในประเทศคูเวต มันคือถนนที่ทอดยาวออกจากตัวเมืองและมันก็คือสถานที่อันเป็นเศษซากจากการกระทำอาชญากรรมสงครามที่เชื่อกันว่ามันเป็นฝีมือของกองกำลังทหารของสหรัฐอเมริกา

ท่ามกลางภารกิจและเรื่องราวมากมายใน Modern Warfare เกมให้ผู้เล่นได้รับบทเป็นเจ้าหน้าที่ CIA ที่ต้องต่อสู้ร่วมกับกลุ่มกองกำลังเพื่ออิสรภาพในประเทศสมมติในตะวันออกกลางที่พวกเขาตั้งชื่อมันว่า “เออซิคสถาน” ซึ่งผู้เล่นก็จะได้รับมอบหมายจากหัวหน้ากลุ่มกบฏ ในการลอบโจมตีเป้าหมายที่หลบหนีมายังเส้นทางในพื้นที่แถบ Highway of Death นี้นั่นเอง

“หากพวกมันต้องการจะหนีไปยังภูเขา มันก็มีเพียงถนนเส้นเดียวเท่านั้น นั่นคือทางหลวงสายมรณะ พวกรัสเซียได้ทิ้งระเบิดลงในตอนที่พวกมันกำลังรุกรานเข้ามาและฆ่าทุกคนที่พยายามจะหลบหนี” นั่นคือประโยคที่หัวหน้ากองกำลังกบฎได้เล่าเรื่องราวของ Highway of Death ให้กับผู้เล่นได้ฟัง

แม้มันจะเป็นเพียงแค่วิดีโอเกมแต่สิ่งที่ Modern Warfare ฉายภาพออกมาอย่างชัดเจนนั่นคือเรื่องราวการต่อสู้ในสงครามตัวแทน (Proxy war) ที่ทางสหรัฐฯ เข้าไปยุ่งเกี่ยวในฐานะวีรบุรุษสงครามเพื่อจัดการรัสเซียผู้ชั่วร้ายอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งในเกมได้สร้างวายร้ายอย่างนายพล Roman Barkov ขึ้นมาเป็นตัวแทนของความต่ำช้าทั้งหมดทั้งปวง ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โสมมในวิดีโอเกมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่, การให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย และการโจมตีโดยการใช้อาวุธชีวภาพ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงล่ะใครกันแน่ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมของทางหลวงสายมรณะแห่งนี้

Highway of Death, Polygon

Highway of Death ในโลกแห่งความเป็นจริง

ในช่วงฤดูหนาวของปี 1990-91 กองกำลังตะวันตก (Western force) ที่อยู่ภายใต้การควบคุมและจัดสรรของสหรัฐอเมริกาได้อย่างกรายเข้าไปยังชายแดนทางทิศเหนือของประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อการรุกรานครั้งใหญ่ เป้าหมายของการเคลื่อนกำลังในครั้งนี้คือการขับไล่กองกำลังทหารอิรักของทางประธานาธิบดี “ซัดดัม ฮุสเซน” ให้ออกไปจากประเทศเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยนน้ำมันอย่างคูเวตเพื่อทำการปลดปล่อยประเทศคูเวตให้เป็นอิสระ ความขัดแย้งในครั้งนี้ได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่หลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีกับเหตุการณ์ “สงครามอ่าวเปอร์เซีย” (Gulf War) นั่นเอง และมันก็เป็นสัญญาณแรกเริ่มของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุคใหม่ ที่ได้เปลี่ยนแปลงแนวทางของการทำสงครามของกองกำลังตะวันตกกับประเทศในพื้นที่ละแวกตะวันออกกลางไปตลอดกาล

การรุกรานในครั้งนี้ของกองกำลังสหรัฐฯ อยู่ภายใต้การดูและของนายพล Norman Schwarzkopf เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังยุทธการอันเด็ดขาดนั่นคือการจู่โจมภาคพื้นดิน 100 ชั่วโมง และหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้กลยุทธ์การโจมตีในครั้งนี้ประสบความสำเร็จนั่นก็คือความเหนือกว่าของกองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ ที่คุมน่านฟ้าไว้ทั้งหมด มันคือกลยุทธ์แบบเบ็ดเสร็จที่เขาได้ใช้มันในการจู่โจมกองกำลังยานเกราะของอิรัก แม้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการโจมตีครั้งนี้มันจะเสี่ยงต่อการที่จะถูกฝ่ายอิรักโจมตีกลับได้โดยง่ายก็ตาม

หนึ่งในพื้นที่การสู้รบที่อันตรายที่สุดของสงครามอ่าวเปอร์เซีย มันคือสถานที่ที่ถอดยาวออกมาจากตัวเมืองคูเวตซิตี มันคือถนนสายหนักที่มุ่งตรงไปยังทางเหนือของชายแดนประเทศอิรัก ที่ทางกองกำลังนาวิกโยธินของสหรัฐได้พบกับกลุ่มคอนวอยขนาดใหญ่กำลังเคลื่อนที่อยู่บนถนนแห่งนี้อยู่ในที่แจ้ง และมีรถยานเกราะทางการทหารติดตามอยู่ในขบวนด้วย เพียงเท่านี้มันก็เป็นสาเหตุที่เพียงพอสำหรับกองกำลังสหรัฐฯ ในการโจมีตีล้อมหน้าล้อมหลังขบวนคอนวอยจนทำให้ ยานพาหนะกว่า 2,000 คันติดอยู่ในทางหลวงขนาดหกเลน ก่อนที่จะตามมาด้วยการทิ้งระเบิดและยิงโจมตีแบบปูพรมโดยเครื่องบิน A-10 Warthogs และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธจนไม่เหลือผู้รอดชีวิตแม้แต่คนเดียว โดยที่เหล่านักบินเรียกการจู่โจมในครั้งนี้ว่า “การยิงไก่งวง” (turkey shoot) หรือการยิงเป้านิ่งตามงานเทศกาลต่างๆ นั่นเอง

The Highway of Death on April 18, 1991, Photo: Tech. Sgt. Joe Coleman/U.S. Air Force

การโจมตีด้วยอาวุธอันโหดเหี้ยมของกองกำลังสหรัฐฯ ในครั้งนี้ได้นำมาสู่คำถามจากสังคมมากมาย หลังจากที่ภาพหลังจากเหตุการณ์ในการโจมตีครั้งนี้ได้ปรากฏออกมาตามหน้าข่าวของสื่อมวลชนที่ประจำการอยู่ในละแวกพื้นที่ มันเต็มไปด้วยภาพความโหดร้ายที่น่าตกใจและน่าเวทนา สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงแค่เศษซากของสิ่งมีชีวิตที่อดีตเคยเป็นมนุษย์ และซากปรักหักพัง ผู้คนที่อยู่ในขบวนคอนวอยต่างถูกแรงระเบิดไหม้กลายเป็นเถ้าถ่าน จนทำให้สื่อหลายสำนักไม่อาจเผยแพร่ภาพออกมาได้ จนเมื่อปี 2005 ชาวอเมริกันก็ได้ประจักษ์กับภาพของความอำมหิตของเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้เป็นครั้งแรกในภาพยนตร์ Jarhead ของผู้กำกับ Sam Mendes ที่ Jake Gyllenhaal นำแสดงนั่นเอง

การโจมตีบนทางหลวงสายมรณะได้ถูกสังคมตั้งคำถามต่อมาตรการทางการทหารของสหรัฐฯ ที่เรื่องราวเริ่มซับซ้อนมากขึ้นเมื่อมีรายงานออกมาว่าขบวนคอนวอยดังกล่าวนั้นคือขบวนที่กำลังอยู่ในระหว่างการถอนกำลังจากคำสั่งของกองกำลังสหประชาชาติ นั่นหมายความว่าถึงแม้มันจะมีจำนวนของรถยานเกราะทางการทหารที่มีจำนวนอย่างมีนัยสำคัญ แต่มันก็ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการโจมตีได้ไม่ว่าจะใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้ในรายงานยังได้ระบุอีกด้วยว่าในคอนวอยยังประกอบไปด้วยตัวประกันและประชาชนผู้ลี้ภัย ซึ่งสามารถระบุได้จากภาพถ่ายของกองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ เอง

ผู้สื่อข่าวหลายรายที่ตามติดกองกำลังตะวันตกเองต่างก็ตกใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นอย่างมากเมื่อตอนที่พวกเขาได้เข้ามายังพื้นที่ในเขต Highway of Death หนึ่งในนั้นคือ John Pilger นักข่าวและผู้กำกับเจ้าของรางวัล BAFTA ที่เขาได้นิยามเหตุการณ์การโจมตีในครั้งนี้ว่า “การสังหารหมู่

อย่างไรก็ดีในช่วงเวลานั้นทางทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ก็ได้ตีตราเหล่าผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น “นักทรมาน, พวกโจร หรือไม่ก็พวกวิตถาร” แต่จากหลักฐานจากหลายๆ ที่ก็พบกว่าท่ามกลางเศษซากของรถลำเลียงทางการทหาร ยังมียานพาหนะพลเรือนอีกด้วยเช่นรถตู้ และมอเตอร์ไซค์ อีกมากมาย โดยที่ผู้โดยสารส่วนหนึ่งคือแรงงานจากต่างประเทศที่ติดอยู่ในคูเวตที่มาจากปาเลสไตน์ บังกลาเทศ ซูดาน อียิปต์และประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ทาง Observer สื่อจากทางฝั่งอังกฤษเองก็ยังได้มีการเผยแพร่ภาพที่ชวนน่าตกใจโดยมันเป็นภาพของศพที่ไหม้เป็นตอตะโกที่ติดอยู่กับรถบรรทุก จนริมฝีปากเปิดเผยจนถึงซี่ฟันจนน่าสยดสยอง ในขณะที่หน้าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในเวลานั้นต่างนำเสนอภาพของเหล่าทหารสหรัฐฯ ที่เข้าไปรักษาทหารอีรักที่บาดเจ็บ

ซึ่งทาง Kate Adie นักข่าวจากทาง BBC เองยังได้เคยเผยแพร่ภาพของ Highway of Death ออกอากาศอีกด้วย ที่แสดงให้เราได้เห็นว่าท่ามกลางเหล่ายานพาหนะที่ไหม้ดำนั่นมันมีเครื่องอุปโภคบริโภคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ตุ๊กตา เครื่องเป่าผม โดยเธอได้กล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ “คือหลักฐานชิ้นสำคัญของความสับสนอันเลวร้าย” และสิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือความพยายามในการบิดเบือนประวัติศาสตร์ แม้เพียงแค่ชื่อก็ตามในเกม Call of Duty: Modern Warfare ซึ่งแสดงให้เห็นภาพชัดว่าทางสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่ยี่หระกับโศกนาฏกรรมที่พวกเขาสร้างมาจนถึงทุกวันนี้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share