DLSS – สำรวจอนาคตเทคโนโลยีไพ่ตายใบที่สองของ NVIDIA

นับตั้งแต่วีดีโอเกมถือกำเนิดขึ้น กราฟฟิคก็ถือเป็นหนึ่งในจุดขายหลักมาโดยตลอด และนับวันเวลาที่ผ่านไป เทคโนโลยีจากทั้งฝั่งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์กับผู้พัฒนาเกมก็ได้ร่วมกันวิ่งสามขาเพื่อไล่ตามกราฟฟิคที่สมจริงมาโดยตลอด แต่ยิ่งพวกเขาเข้าใกล้เส้นชัยนั้นมากขึ้นเท่าไหร่ ค่าในการพัฒนาสิ่งเหล่านั้นก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น และผู้ที่ต้องมาแบกรับภาระนั้นก็ไม่ใช่ใครนอกจากลูกค้าตาดำ ๆ ที่รอเล่นเกมใหม่ล่าสุดที่พวกเขาหมายมั่นมานานด้วยภาพที่คาดหวังจากในวีดีโอตัวอย่างและสกรีนช็อตมากมายที่เห็นในอินเทอร์เน็ต

หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงในยุคนี้ก็คงหนีไม่พ้น Real-time Ray Tracing หรือที่รู้จักกันอีกชื่อคือ RTX จากผู้พัฒนากราฟฟิคการ์ดแนวหน้า NVIDIA แต่หารู้ไม่ว่าอนาคตจริง ๆ ของวงการกราฟฟิคนั้นยังไม่ใช่ RTX เสียทีเดียว แต่เป็นอีกเทคโนโลยีที่ NVIDIA บรรจุเข้ามาในการ์ดรุ่น RTX โดยที่ไม่มีกระแสฮือฮามากนัก

เทคโนโลยีนั้นคือ DLSS ที่ผมจะแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกัน

DLSS หรือชื่อเต็ม Deep Learning Super Sampling คือเทคโนโลยีการขยายความละเอียดภาพที่มีเฉพาะของการ์ดรุ่น RTX จาก NVIDIA เท่านั้นในตอนนี้ โดย DLSS จะใช้ AI ในการเข้ามาช่วยวิเคราะห์ภาพของเกมที่ผู้เล่นเห็นและนำมาเพิ่มความคมชัดขึ้นเพื่อลดการใช้ทรัพยากรวีดีโอการ์ดลงโดยที่ให้ความคมชัดของภาพนั้นลดน้อยลงที่สุด โดยเหตุผลที่สามารถใช้ระบบนี้ได้แค่ใน RTX นั้นมาจากการใช้ Tensor Core เพื่อประมวลผล AI ที่ขยายภาพโดยที่ไม่แตะต้องกับการประมวลผลหลักของวีดีโอการ์ดหรือ RT Core ที่ใช้ประมวลผลแสง RTX แต่อย่างใด

Nvidia clarifies DLSS and how it works | KitGuru

DLSS มีประโยชน์อย่างไร?

ปัจจุบัน ปัญหาของเกมที่มีกราฟฟิคสวยงามต่าง ๆ คือวีดีโอการ์ดไม่สามารถที่จะประมวลผลกราฟฟิคระดับสูงโดยที่มีเฟรมเรทที่สูงได้เท่ากับความละเอียดหรือระดับเฟรมเรทของจอเล่นเกมระดับสูงในปัจจุบันที่ขึ้นไปสูงเกินกว่า 4K 144hz ไปแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ยังคงได้ความคมชัดระดับจอที่มีโดยที่ให้มีเฟรมเรทที่สูงก็จะมาจากการปรับค่าต่าง ๆ หรืออาจจะต้องยอมลดความคมชัดในเกมลง (Internal resolution) เพื่อแลกกับเฟรมเรท เกมหลายอย่างในปัจจุบันมีระบบให้ผู้เล่นสามารถลดความคมชัดของภาพในเกมโดยที่ยังคงให้ความคมชัดของ HUD หรือ UI ยังเท่าเดิม แต่นั่นก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ครบถ้วนเสียทีเดียว เพราะสุดท้ายภาพ 3D ในจอก็ยังคงเบลอ ชัดเพียงแต่ส่วนที่เป็นตัวหนังสือแสดงค่าต่าง ๆ ของผู้เล่นเท่านั้น

แต่ไม่ใช่กับ DLSS

ความแตกต่างระหว่าง DLSS และเทคโนโลยีขยายความละเอียดหรือลดรอยหยักทั่วไปคือการที่ระบบ DLSS จะประมวลผลภาพจากความละเอียดแค่ครึ่งหนึ่งจากความละเอียดที่กำหนดไว้โดยประมาณ (เช่นใน Control ถ้าตั้งความละเอียดไว้ที่ 1920×1080 เกมจะประมวลผลภาพแค่ 1280×720) การทำแบบนี้คล้ายกับการลด Internal resolution ซึ่งภาพควรจะออกมาเบลอ แต่เนื่องจากการประมวลผลจาก AI Deep Learning ที่มาจาก NVIDIA และจากวีดีโอการ์ดของผู้เล่น ภาพที่ออกมาจริงนั้นจะใกล้เคียงกับตอนที่เกมประมวลผลเท่าความละเอียดจอหลักแต่ใช้พลังของวีดีโอการ์ดเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

เป้าหมายของระบบนี้คือการเพิ่มจำนวนเฟรมเรทให้ผู้เล่นที่ใช้วีดีโอการ์ด RTX โดยที่ยังเหลือที่ให้ทำการเปิด RTX หรือตั้งค่ากราฟฟิคให้สูงขึ้นได้ ซึ่งหลังจากที่ผมได้ทดลองกับบางเกมแล้ว ผลออกมาค่อนข้างน่าประทับใจเลยทีเดียว แต่ผมว่าแค่ผมพูดอย่างเดียวคงไม่มีน้ำหนักมากนัก ขอเชิญให้ทุกท่านดูภาพที่ผมถ่ายมาจากแต่ละเกมเพื่อเปรียบเทียบเลยดีกว่าครับ


(บันทึกจากเครื่อง Ryzen 5 3600, RTX 2070 Super, ความละเอียด 1920×1080)

เกมแรก: Final Fantasy XV Windows Edition Benchmark (ปรับกราฟฟิคสูงสุด)

เทียบแบบภาพใหญ่: https://screenshotcomparison.com/comparison/1224

ไม่เปิด DLSS

แบบไม่เปิด DLSS จะสังเกตได้ว่าวีดีโอการ์ดนั้นมีการใช้ถึง 98% โดยที่ได้เฟรมเรทอยู่ที่ 31 เฟรมต่อวินาทีด้วยความคมชัดแบบ 4K

เปิด DLSS

แบบเปิด DLSS เฟรมเรทขึ้นมา 9 – 10 เฟรมต่อวินาทีด้วยความคมชัดระดับ 4K และยังใช้ VRAM น้อยลงด้วย

จากการทดสอบแรก ถ้าสังเกตจากตัวเลขด้านบนซ้าย เฟรมเรทของเกมขึ้นมาประมาณ 30% จาก 31 เฟรมเป็น 40 เฟรมต่อวินาทีโดยที่ยังมีการใช้วีดีโอการ์ดเท่าเดิม แต่มีการใช้ VRAM ที่น้อยลง จริงที่การเพิ่มเท่านี้อาจไม่เห็นผลมากนัก แต่ผมได้ทำการเทสเกมนี้ด้วยการตั้งค่าสูงสุดทุกอย่างและความละเอียด 4K ฉะนั้นถ้าปรับการตั้งค่าลงก็สามารถแตะ 60 เฟรมต่อวินาทีได้ไม่ยาก


เกมที่สอง: Bright Memory (ปรับกราฟฟิคสูงสุด)

เทียบแบบภาพใหญ่: https://screenshotcomparison.com/comparison/1227

เปิด RTX/ปิด DLSS

เมื่อไม่เปิด DLSS เฟรมเรทในหน้าเมนูอยู่ที่ 59-60 เฟรมต่อวินาที และตกลงมากกว่านี้เมื่อเข้าเล่นตัวเกม

เปิด RTX และ DLSS

เฟรมเรทขึ้นมาเป็น 88 เฟรม จุดที่แตกต่างกับภาพที่ไม่เปิด DLSS ที่สุดคือเส้นผมที่เสียความละเอียดบางส่วนไป
แต่ชุดและรายละเอียดบนหน้ามีความคมชัดมากขึ้น

ในเกมที่มีเกมเพลย์เร็วอย่าง Bright Memory นั้นเฟรมเรทถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าผู้เล่นต้องการที่จะเปิด RTX ในการเล่น DLSS ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับวีดีโอการ์ดที่ไม่ถึงระดับ 2080 ขึ้นไปเลยก็ว่าได้ เนื่องจาก 28 เฟรมที่ได้มา (เพิ่มจากแบบไม่เปิด DLSS ถึง 49%) นั้นจะส่งผลให้ตอนเล่นนั้นมีช่วงเวลาที่เฟรมตกต่ำกว่า 60 น้อยกว่าแบบที่ไม่เปิด DLSS มาก และถ้าผู้เล่นต้องการเฟรมเรทที่มากขึ้นก็สามารถปรับลดกราฟฟิคต่าง ๆ เพิ่มเติมได้อีกด้วย


เกมที่สาม: Control (ปรับกราฟฟิคและ RTX สูงสุด)

เทียบแบบภาพใหญ่: https://screenshotcomparison.com/comparison/1228

ทุกภาพใช้การตั้งค่า Ray Tracing ตามนี้

ปิด DLSS

เฟรมเรทเมื่อยกสิ่งรอบข้างขึ้นมาและจ้องที่กระจกอยู่ที่ 56-60 เฟรมต่อวินาที และมีตกลงต่ำกว่านี้เมื่อสู้กับศัตรู

เปิด DLSS

เฟรมเรทเพิ่มขึ้นมาเป็น 92 เฟรมต่อวินาที โดยจุดสังเกตคือรายละเอียดที่อยู่บนผมของตัวละครและรูปภาพที่เสียความละเอียดไปแต่รายละเอียดที่ชุดกับสิ่งของด้านหน้าตัวละครนั้นมากขึ้นเช่นเดียวกับ Bright Memory

ลดความคมชัดของภาพลงเหลือ 1280×720 แบบไม่เปิด DLSS

ได้เฟรมเรทที่ใกล้เคียงกับแบบเปิด DLSS แต่ภาพเบลอขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ใน Control ได้เฟรมเรทเพิ่มมาถึง 64% โดยมีความแตกต่างของภาพคือถ้าเปิด DLSS จะมีความหยักเกิดขึ้นที่โมเดลคล้ายกับที่เกิดขึ้นกับเส้นผมในเกม Bright Memory แต่เมื่อเทียบกับภาพที่เบลอของการปรับความคมชัดเหลือ 720p แล้วจะสังเกตได้ว่าแบบ DLSS คมชัดกว่ามากทั้งที่ภาพต้นฉบับมีความคมชัดเท่ากัน

จากทั้งสามเกมจะเห็นเหมือนกันว่าภาพที่ออกมามีความคมชัดใกล้เคียงกับความละเอียดจอ 1080p โดยมีบางส่วนที่เสียลายละเอียด แต่ก็มีบางอย่างที่มีลายละเอียดเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และข้อดีอีกอย่างของ DLSS ก็คือการที่ NVIDIA นั้นป้อนข้อมูลให้กับศูนย์ประมวลผลกลางของ DLSS อยู่ตลอด เพื่อให้ได้ระบบ DLSS ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ

แล้วข้อเสียของ DLSS ล่ะ?

ข้อเสียแรกที่ชัดเจนที่สุดอย่างแรกคือจำนวนเกมที่สนับสนุนระบบ DLSS เนื่องจาก NVIDIA ต้องใช้ AI ของทางส่วนกลางเพื่อประมวลผลแต่ละเกม ทำให้ยังมีเกมจำนวนน้อยที่รองรับระบบ DLSS ข้อที่สองก็คือเทคโนโลยีนี้เป็นของ NVIDIA เท่านั้น และถึงแม้ผู้เล่นจะใช้ NVIDIA ก็ต้องมีรุ่น RTX ถึงจะใช้งานระบบนี้ได้ ซึ่งทำให้เทคโนโลยีนี้มีราคาที่ค่อนข้างแพงและอาจไม่ได้รับการใช้แพร่หลายในสตูดิโอเกมเนื่องจากเอามาใช้กับเกมคอนโซลไม่ได้ และคนที่มีการ์ดรุ่น RTX ณ ตอนนี้ก็ยังไม่ถือเป็นตลาดใหญ่เท่าที่ควร ข้อสุดท้ายคือการที่ NVIDIA จะทำการส่งเวอร์ชัน DLSS เข้ามาในไดร์ฟเวอร์เท่านั้น ฉะนั้นการอัปเดท DLSS จะมาเป็น NVIDIA เพียงอย่างเดียวเนื่องจากการคำนวนระบบหลักนั้นอยู่ที่ทาง NVIDIA ผู้เล่นจะได้ไฟล์ตั้งค่าที่ทาง NVIDIA ได้มาจากการประมวลผลกับ AI หลักแล้วเท่านั้น ทำให้ ณ ขณะนี้ผู้เล่นไม่สามารถควบคุม DLSS ได้ และการรองรับระบบนี้ไม่สามารถมาจากผู้พัฒนาได้โดยตรงเช่นกัน

เนื่องด้วยด้วยสาเหตุเหล่านี้เองผมจึงได้เรียกเทคโนโลยี DLSS นี้ว่าเป็น ‘อนาคต’ ของวงการกราฟฟิคเกม เนื่องจากตอนนี้ฮาร์ดแวร์ที่ใช้ได้ยังไม่แพร่หลายและยังมีเกมสนับสนุนไม่มาก ทำให้การลงทุนซื้อ RTX ในตอนนี้เพื่อมาใช้ DLSS นั้นยังไม่คุ้มค่าเสียทีเดียว หนำซ้ำยังเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของ NVIDIA ที่อาจจะมีการหยุดพัฒนาไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ทว่าถ้า NVIDIA และสตูดิโอเกมสนับสนุนระบบขนานไปกับ Ray Tracing และทำให้สองระบบนี้เป็นมาตรฐานของวงการกราฟฟิคจะเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม เพราะสองระบบนี้ช่วยเติมเต็มกันและกันได้อย่างดี และอาจส่งผลดีในระยะยาวถ้าเกมในยุคต่อไปใช้ทรัพยากรวีดีโอการ์ดที่มากขึ้นนั้นรองรับ DLSS เนื่องจากผู้ที่มีการ์ดเก่าที่รองรับ DLSS ก็ยังสามารถจะเล่นเกมใหม่ในคุณภาพที่ดี โดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อการ์ดใหม่บ่อย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้เล่นไปในตัวอีกด้วยครับ

Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

0
Share