El Dorado ขุมสมบัติจาก Uncharted: Drake’s Fortune ที่มีอยู่จริง

มนุษยชาติเราลุ่มหลงในความงดงามของทองคำมาเป็นเวลานานตั้งแต่ในครั้งแรกที่เราได้พบเจอ มันคือสสารที่ดึงดูดให้คนเราสามารถทำบางสิ่งบางอย่างไม่ว่าจะทั้งในทางดีและทางร้ายได้อย่างเหลือเชื่อ และความลุ่มหลงของเราก็ได้นำไปสู่ตำนานที่ได้ชักนำผู้คนมากมายให้ออกตามหามัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของ “นครแห่งทองคำที่สาบสูญ” หรือ “El Dorado” ที่ได้กลายมาเป็นเรื่องราวที่ปรากฏในสื่อบันเทิงต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็คือวิดีโอเกมที่ชื่อว่า Uncharted: Drake’s Fortune

Uncharted: Drake’s Fortune คือผลงานเกมแอ็กชันผจญภัยของทีมงาน Naughty Dog ที่ออกวางจำหน่ายในปี 2007 มันเล่าเรื่องราวการผจญภัยของนักล่าสมบัติ Nathan Drake ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ชุด Indina Jones ในการออกตามล่าค้นหานครแห่งทองคำ “El Dorado” จากร่องรอยที่ Sir Francis Drake นักสำรวจและบรรพบุรุษของตระกูล Drake ได้หลงเหลือเอาไว้ว่านครแห่งทองคำที่ว่านี้มันไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องราวในตำนานเท่านั้น และในความเป็นจริงของวิดีโอเกมแล้ว มันก็มีอยู่จริงในโลกของพวกเราอีกด้วย

ต้นกำเนิด El Dorado

ตำนานของ El Dorado เป็นเรื่องราวที่ได้ชักนำผู้คนมากมายให้ออกตามล่าหามันมาตั้งแต่ในศตวรรษที่ 16 ไปจนถึงศตวรรษที่ 17 มันเป็นเรื่องที่ชาวยุโรปในยุคสมัยนั้นต่างเริ่มมีความเชื่อว่ามันเป็นสถานที่อันเต็มไปด้วยความมั่งคั่งที่มากเกินจะบรรยายที่มีอยู่จริง และมันก็ได้แอบซ่อนตัวอยู่ในโลกสมัยใหม่ ความเชื่อเหล่านี้ได้นำพาให้เหล่านักสำรวจมากมายต้องจบชีวิตลงโดยไม่ได้พบเจอมัน ผลักดันให้หนึ่งในนั้นฆ่าตัวตาย และอีกหนึ่งในนั้นก็ได้ถูกโทษประหารด้วยการตัดหัว

“El Dorado ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ทางภูมิศาสตร์ของมัน จนกระทั่งในที่สุดมันก็เริ่มมีการระบุแบบง่ายๆ ว่าแหล่งที่มาของตำนานความมั่งคั่งที่ไม่สามารถบอกกล่าวได้นี้มันอยู่ในที่ใดสักแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกา” คุณ Jim Griffith หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเรื่องราวตำนานพื้นบ้านได้กล่าวเอาไว้การให้สัมภาษณ์กับทาง National Geographic

ต้นกำเนิดของ El Dorado อยู่ลึกลงไปในทวีปอเมริกาใต้ และเช่นเดียวกับตำนานเรื่องอื่น เรื่องราวของ El Dorado เองก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากเศษเสี้ยวของความเป็นจริง เริ่มต้นจากการที่กลุ่มนักสำรวจชาวสเปนได้มายังที่อเมริกาใต้ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 16 พวกเขาเริ่มได้ยินเรื่องราวที่เกี่ยวกับ Muisca ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในที่ราบสูงของเทือกเขาแอนดีสซึ่งในปัจจุบันนี้คือประเทศโคลัมเบียว่า ในการขึ้นครองอำนาจของหัวหน้าเผ่าคนใหม่มันจะมีพิธีกรรมแห่งการเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นที่ทะเลสาบ Guatavita ซึ่งเรื่องเล่าของพิธีกรรมนี้ต่างก็มีความหลากหลายที่ถูกเล่าต่อกันมา แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกเรื่องเล่าเชื่อมโยงกันก็คือ มันได้เล่าถึงหัวหน้าเผ่าที่เคลือบร่างกายของเขาด้วยทองคำในพิธี และทองคำทรัพย์สินมากมายก็ได้ถูกโยนลงไปยังทะเลสาบแห่งนั้นเพื่อบูชาแก่เทพเจ้าที่อาศัยอยู่ลึกลงไปใต้บาดาล

The lost city of gold: Unlikely to be up that tree, FABIO PIVA/RED BULL CONTENT POOL

พิธีกรรมทองคำ

หนึ่งในบันทึกที่บอกเล่าเรื่องราวพิธีกรรมของชนเผ่า Muisca ได้เป็นอย่างดีคือบันทึกของนักสำรวจชาวสเปนที่ชื่อ Juan Rodriguez Freyle บันทึกของเขาได้ถูกนำมาเผยแพร่ในปี 1636 ในหนังสือที่เขาเป็นผู้เขียนในชื่อ The Conquest and Discovery of the New Kingdom of Granada ซึ่งเขาได้เล่าเรื่องราวพิธีกรรมของชาว Muisca เอาไว้ว่าในตอนที่ผู้นำของเผ่าสิ้นชีวิตลง มันก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกผู้สืบทอดคนต่อไป การคัดเลือกหัวหน้าเผ่าใหม่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวงศาคณาญาติจากหัวหน้าเผ่าคนก่อนที่อาจมีกระบวนการในการเริ่มต้นมาอย่างยาวนานที่ได้นำไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการขึ้นตำแหน่ง ในการล่องแพไปยังใจกลางของทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็คือทะเลสาบ Guatavita ที่อยู่ในใจกลางของประเทศโคลัมเบีย

ในพิธีกรรมนี้ผู้นำคนใหม่จะประกอบพิธีโดยห้อมล้อมไปด้วยนักบวชระดับสูงของชนเผ่าสี่คนที่แต่งเครื่องแต่งกายประดับประดาไปด้วยขนนกพร้อมสวมมงกุฎทองคำและเครื่องประดับมากมาย ในขณะที่ผู้นำคนใหม่จะอยู่ในสภาพเปลือยเปล่าโดยที่ผิวหนังของเขาจะถูกห่อหุ้มด้วยผงทองคำ และจะเริ่มพิธีกรรมในการบูชาเทพเจ้าแห่งทะเลสาบด้วยการโยนทองคำ, อัญมณี และสิ่งของมีค่าอื่นๆ ไปยังทะเลสาบ

ในระหว่างการทำพิธีกรรม บนชายฝั่งจะเต็มไปด้วยเหล่าผู้สังเกตการณ์ที่แต่งกายด้วยเครื่องประดับมากมายที่ออกมาร้องรำทำเพลงเล่นเครื่องดนตรีต่างๆ และเริ่มก่อกองไฟจนม่านควันบดบังแสงอาทิตย์ราวกับทะเลสาบเป็นเบ้าหลอมโลหะ เช่นเดียวกันในแพของหัวหน้าเผ่าคนใหม่ก็จะมีกองไฟที่ถูกจุดเอาไว้โดยมีควันสีขาวที่พวยพุ่งไปยังท้องฟ้า และเมื่อแพเริ่มเข้าถึงใจกลางของทะเลสาบ หนึ่งในนักบวชจะชูธงขึ้นมาเป็นสัญญาณให้ทุกคนเงียบ และช่วงเวลานั้นก็คือช่วงเวลาแก่การยอมรับหัวหน้าเผ่าคนใหม่ด้วยการตะโกนให้การสนับสนุนจากชายฝั่งนั่นเอง

กลุ่มชาวสเปนต่างเริ่มเรียกหัวหน้าเผ่าทองคำนี้ว่า El Dorado ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “the gilded one” หรือผู้เคลือบทองหนึ่งเดียว แต่พิธีกรรมที่ว่านี้ก็ได้สิ้นสุดลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 เมื่อ El Dorado และลูกเผ่าได้ถูกพิชิตปกครองโดยเผ่าอีกเผ่าหนึ่งในเวลาต่อมาที่ทำให้พิธีกรรมที่ว่านี้จบสิ้นลง แต่ถึงแม้เรื่องราวของ El Dorado จะจบลง แต่กลุ่มนักสำรวจชาวสเปนและยุโรปต่างก็พบทองคำเป็นจำนวนมากจากชนพื้นเมืองที่อยู่ในทางตอนเหนือของทวีป และนั่นก็นำไปสู่ความเชื่อที่ว่ามันจะต้องมีสถานที่อันแสนมั่งคั่งแอบซ่อนตัวอยู่ลึกลงไปอย่างแน่นอน แต่สุดท้ายตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มนักสำรวจชาวสเปนก็ไม่สามารถหา El Dorado อย่างที่พวกเขาคาดหวังได้ แต่จากการสูบน้ำในทะเลสาบ Guatavita จนลดไปถึงระดับหนึ่งในปี 1545 พวกเขาก็พบเจอชิ้นส่วนของทองคำนับร้อยที่อยู่สุดขอบทะเลสาบ แต่พวกเขาก็คิดว่ามันยังมีขุมสมบัติที่ล้ำค่ายิ่งกว่านั้นที่ยังอยู่ลึกลงไปเกินกว่าจะที่พวกเขาจะอาจเอื้อมได้

รูปหล่อทองคำที่มีการค้นพบที่แสดงให้เห็นถึงภาพพิธีกรรมของชนเผ่า Muisca

Uncharted ในโลกแห่งความจริง

หนึ่งในการสำรวจค้นหา El Dorado คือการสำรวจของกลุ่มนักสำรวจชาวอังกฤษ Sir Walter Raleigh เขาได้เดินทางไปยัง Guina ถึงสองครั้งในการตามหานครแห่งทองคำที่อยู่ในตำนาน โดยในการเดินทางครั้งที่สองในปี 1617 เขาได้มอบหมายให้ Watt Raleigh ลูกชายของเขาออกสำรวจไปจนถึงสุดขอบของแม่น้ำ Orinoco ในขณะที่ตัวของ Walter ในวัยชราอยู่ที่ฐานปฏิบัติการที่หมู่เกาะตรินิแดด แต่สุดท้ายการออกสำรวจในครั้งนี้ต่างจบลงด้วยหายนะเมื่อ Watt Raleigh ถูกฆ่าตายในการต่อสู้กับชาวสเปน

Eric Klingelhofer นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Mercer จากเมืองแมคอนในรัฐจอร์เจียได้พยายามที่จะออกค้นหาร่องรอยการสำรวจของครอบครัว Raleigh และฐานที่ปฏิบัติการใน Trinidad และเขาก็ได้พบว่า Walter Reliegh หัวเสียจากการที่ผู้รอดชีวิตจากการต่อสู้กับชาวสเปนกลับมายังฐานโดยปล่อยให้ลูกชายของเขาตาย และผู้รอดชีวิตที่ได้นำเอาเรื่องราวการตายของ Watt Raleigh มาบอกเล่าก็ได้จบชีวิตของเขาลงด้วยการยิงตัวตายในห้องของเขาบนเรือในระหว่างการเดินทางกลับนั่นเอง

หลังจาก Walter Raleigh เดินทางกลับมาถึงประเทศอังกฤษ เขาก็ได้ถูกทางพระเจ้าเจมส์สั่งตัดหัวเป็นการประหารชีวิตจากเหตุการณ์หลายๆ อย่างโดยหนึ่งในนั้นคือการขัดขืนคำสั่งในการหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งกับชาวสเปนนั่นเอง

สำหรับชนเผ่า Muisca เองแล้วทองคำไม่ใช่เครื่องหมายของความมั่งคั่งเฉกเช่นเดียวกับพวกเรา หนึ่งในลูกหลานของชนเผ่า Muisca ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันในประเทศโคลัมเบียได้ออกมาเล่าให้ทาง BBC ฟังว่า “สำหรับ Muisca ในทุกวันนี้ ความเชื่อของเราก็ยังเป็นเช่นเดียวกับบรรพบุรุษของเราครับ ทองคำมันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสิ่งของที่นำไปบูชา สำหรับพวกทองคำไม่ใช่เครื่องหมายของความมั่งคั่งเลย”

จากงานวิจัยล่าสุดของ Maria Alicia Uribe-Villegas จาก Museo Del Oro in Bogota and Marcos Martinon-Torres จากทาง UCL Institute of Archaeology เธอได้บอกว่าในสังคมของชนเผ่า Muisca นั้น “ทองคำ” ก็คือวัตถุที่ใช้ในการบูชาเทพเจ้าเพื่อให้นำพามาซึ่งสมดุลของที่เท่าเทียมกันของพลังแห่งจักรวาล และเพื่อเป็นการรักษาสถานภาพความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ชีวิตของพวกเขาและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ และนี่ก็คือเรื่องราวของ El Dorado ในโลกแห่งความเป็นจริงนั่นเอง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share