เป็นเรื่องที่มีการโต้เถียงกันอย่างไม่จบไม่สิ้นว่าวิดีโอส่งผลดีหรือผลร้ายแก่คนเรากันแน่ ซึ่งในหลายงานวิจัยมันก็มักจะมาพร้อมกับข้อสรุปที่เอนเอียงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมักถูกหยิบนำมาใช้ในหลายวาระเพื่อกล่าวอ้างโทษหรือไม่ก็เพื่อปัดความรับผิดชอบทั้งจากทางฝั่งของสังคมโดยทั่วไป คนที่เล่นเกม หรือแม้แต่ผู้คนจากแวดวงอุตสาหกรรมเกมเองก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่าหากเราเข้าใจด้านดีด้านร้ายและมุมมองทางศิลปะของเกมดีพอ มันจะทำให้เราไม่ต้องมาโต้เถียงกันอีกต่อไปได้อย่างแน่นอน
ในบทความ This is your brain on video games บนเว็บไซต์ QZ ได้กล่าวถึงการทำงานของสมองยามเมื่อเราเล่นเกมได้อย่างน่าสนใจว่าเกมสามารถสร้างความมึนงงที่ฝังลึกลงไปในส่วนประสาทของการรับรู้ของเราได้หรือไม่? และสมองของเราว่ามันมีการทำงานอย่างไรกันแน่ในตอนที่เราเล่นเกมเป็นเวลานาน
หากเราอ้างอิงจากรายงานของ Entertainment Software Association ในปัจจุบันนี้มันก็มีประชากรชาวอเมริกันจำนวนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ที่เล่นเกมเป็นชีวิตประจำวัน โดยยังมีแนวโน้มที่จะมีเปอร์เซ็นต์สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับงานวิจัยที่เป็นการศึกษาผลกระทบจากการเล่นเกมที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกันที่ส่วนใหญ่ มันมักจะเป็นผลงานวิจัยที่มองเกมในเชิงบวก แต่ก็มีผลงานวิจัยบางชิ้นที่มองเกมในทางลบ แต่หากสรุปโดยรวม สิ่งที่งานวิจัยเหล่านี้ศึกษาก็คือผลกระทบทางสมองเสียเป็นส่วนมาก ทั้งด้านประสาทการรับรู้ ความทรงจำ ขอบเขตการมองเห็น และระยะเวลาในการตอบสนอง
แต่แทนที่เราจะมองไปยังกลไกเบื้องลึกในส่วนของการทำงานของสมองที่เต็มไปด้วยรายละเอียดอันซับซ้อน มันก็น่าจะเป็นการดีกว่าที่เราจะหยิบยกเอาภาพกว้างของผลกระทบมาทำการพูดคุย โดยเฉพาะในเรื่องของวิธีการคิด การสื่อสาร การที่มันสร้างนิสัยและการที่มันทำให้เรื่องบางเรื่องกลายเป็นเรื่องปกติ รวมไปถึงวิธีการที่เรามองโลกเสมือนและยังรวมไปถึงการที่เรานำมันมาเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวแปรที่ฝังลึกอยู่ในสังคมมากกว่าที่เราจะมานั่งนึกทบทวนว่าวิดีโอเกมเปลี่ยนแปลงสมองของเราไปอย่างไร เพราะสิ่งที่ว่าเหล่านี้มันส่งผลกระทบทั้งหมดกับสังคมโดยรวมของเราไปแล้วอย่างแยกออกเสียมิได้
วิธีการมองเกมในแง่ดี
หากเราเริ่มโดนเกมในแง่บวกเราจะมองได้ว่าเกมสามารถทำให้เราฉลาดขึ้น มีความปิติยินดีที่มากขึ้น มันพัฒนาอารมณ์ของเราไปในทางที่ดีและยังยกระดับพลังงานภายในตัวเราและยังป้องการการกระทบการเทือนทางจิตใจได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยให้เราฟื้นฟูความผิดปกติทางสมอง ส่งเสริมการทำงานร่วมกันทางสังคม และยังผนวกรวมเข้ากับจินตนาการของเราทั้งในด้านอารมณ์และการคิดวิเคราะห์อีกด้วย
“ถ้าหากเราเริ่มต้นใช้ชีวิตจริงกันแบบเกมเมอร์ เราบริหารจัดการธุรกิจของเราและสื่อการกันภายในทีมงานแบบเดียวกับนักออกแบบเกม และคิดเรื่องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงได้แบบคอมพิวเตอร์ หรือตามแบบอย่างของนักทฤษฎีด้านวิดีโอเกมได้มันจะเป็นอย่างไรกันล่ะ?” คุณ Jane McGonigal นักออกแบบเกมและนักอนาคตชื่อดังวิทยาตั้งคำถามนี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่าหากเราสามารถนำเอาวิธีการที่เรามองเกมมาประยุกต์เข้ากับโลกแห่งความจริงได้มันจะส่งผลที่ดีออกมาได้ขนาดไหน
ซึ่งหากเราอ้างอิงจากวิธีคิดของคุณ McGonigal ผลลัพธ์ด้านดีของการเล่นเกมก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเลือกเล่นเกมที่ถูกต้องที่จะให้ผลลัพธ์ในด้านดีกับเราได้ ซึ่งมันจะต้องเป็นเกมที่นำพามาซึ่งการคิดวิเคราะห์ เกมที่จะต้องมีการค้นหาวิธีร่วมกันในการแก้ปัญหา และเกมที่สร้างความสนุกสานในแง่บวกได้ เกมเหล่านี้จะช่วยฝึกฝนสมองของเราให้มองโลกเป็นความท้าทายที่ต้องก้าวผ่านด้วยการทำงานร่วมกันกับผู้คนอื่นๆ ในสังคม
การมองเกมในเชิงลบ
แต่แน่ล่ะว่ามันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองเกมในแง่บวกได้อย่างไร้ข้อกังขาหนึ่งในนั้นคือคุณ Philip Zimbardo นักจิตวิทยาชื่อดังเจ้าของผลการทดลอง Stanford Prison Experiment โดยในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาได้มีการกล่าวถึงมุมมองต่อวิดีโอเกมที่เขามองร่วมกันกับหนังผู้ใหญ่ที่กำลังได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจก่อวิกฤตให้กับวัยรุ่นอเมริกันไปแล้วในตอนนี้
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือทั้งคุณ Philip Zimbardo และคุณ Jane McGonigal ต่างวิเคราะห์ผลแสกนสมอง fMRI ออกมาด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน แต่มันก็มีจุดร่วมตรงที่ทั้งสองต่างเห็นว่าการเล่นเกมได้ส่งผลกับสมองที่เป็นการกระตุ้นให้เราเกิดแรงจูงใจบางอย่างได้ทั้งในเชิงของการคาดหวังต่อรางวัลและเป้าหมายที่เราต้องการ
โดยคุณ Jane McGonigal มองในแง่บวกว่าแรงกระตุ้นเหล่านี้เป็นตัวที่ช่วยลดการซึมเศร้า, ทำให้เราสร้างความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับความสามารถในการอดทนอดกลั้นที่ดีขึ้นด้วย แต่ทางคุณ Philip Zimbardo กลับมองว่าแรงกระตุ้นเหล่านี้มันยังขาดซึ่งบริบทในโลกแห่งความเป็นจริงที่เราต้องพบเจอ “ผลลัพธ์รวมของการเล่นเกมมักจะให้รางวัลที่เหมาะสมกับเด็กเมื่อบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงทั้งสิ้นเลย” คุณ Philip Zimbardo ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ดีคุณ Philip Zimbardoก เองก็ยอมรับว่ามันมีข้อมูลบางอย่างที่สามารถระบุได้ว่าเกมสามารถสร้างเสริม fluid intelligence หรือความฉลาดในการเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาได้ ซึ่งช่วยให้เราสามารถรับรู้ข้อมูลใหม่ๆ ได้ดียิ่งขึ้นและยังช่วยในด้านการแก้ปัญหาที่ไม่คาดคิดได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดีเขาก็มองว่าโดยรวมเกมเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นบ่อเกิดของความเป็นมลพิษ การสร้างสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ที่เกิดจากผู้เล่นเพศชายเป็นส่วนมากที่ตัดขาดจากสังคม มีอารมณ์แปรปรวนไม่ปกติจากความคุ้นเคย และการทำบางสิ่งบางอย่างซ้ำไปมาจนนำไปสู่แรงกระตุ้นอย่างรุนแรงในการกระทำบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องบริบทมารองรับเหตุผล
แต่เกมเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง
แต่หากเราไม่ได้มองทั้งในด้านดีและด้านเสียเลยล่ะ? และนั่นก็เป็นที่มาของการมองเกมเป็นการศิลปะจากมุมมองของคุณ Eric Zimmerman นักเขียนและนักออกแบบเกมที่ได้เสนอว่า การมองเกมว่าส่งผลดีหรือร้ายต่อสมองมันเป็นอะไรที่ดูไม่เข้าท่าเป็นอย่างมาก
หากเราพิจารณาถึงนวนิยายหรือภาพวาด ความเข้าใจพื้นฐานของเราคือมันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องวัดค่าความดีร้ายที่ส่งผลกระทบต่อสมอง เพราะพวกมันมีคุณค่าที่จับต้องได้ในตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องลดคุณค่าของมันลงไปด้วยประโยชน์ทั่วไปที่กลายเป็นผลพลอยได้ ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเราไม่จำเป็นที่จะต้องนำหลักการทาง “ประสาทวิทยาศาสตร์” มาเป็นตัวตัดสินความสัมพันธ์ว่าศิลปะสามารถส่งเสริมทักษะที่เกี่ยวกับการรับรู้ของเราได้ เพราะความงดงามของศิลปะและความหมายคงอยู่ในตัวของมันเอง และมันก็ไม้จำเป็นที่จะต้องมีเป้าหมายอื่นๆ มาเป็นตัวรองรับอีกด้วย
คุณ Zimmerman บอกไว้ว่าเราควรจะมองเกมว่ามันทำให้เราเข้าใจโลกได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งในบทความ Manifesto for a Ludic Century เขาได้กล่าวเอาไว้ว่า “การคิดแบบเกมสามาสามารถทำให้เราเข้าใจปัญหาปัญหา และปัญหาที่เรากำลังเผชิญในโลกทุกวันนี้ก็จำเป็นที่เราต้องมีการคิดแบบเกมอีกด้วยตัวอย่างเช่นกว่า ราคาน้ำมันในแคลิฟอร์เนียมีผลต่อการเมืองในตะวันออกกลางอย่างไร และมันส่งผลอย่างไรต่อระบบนิเวศในแอมะซอน”
ความสัมพันธ์ของสมองและงานศิลป์
แต่ถึงแม้เราจะเห็นด้วยกับแนวคิดของคุณ Zimmerman ว่าเกมมันเป็นสิ่งที่เหมือนกับภาพวาด ดนตรี และวรรณกรรม ที่มีคุณค่าในตัวมันเองโดยไม่จำเป็นที่จุดประสงค์อื่นมารองรับ แต่มันก็ยังทิ้งไว้ซึ่งคำถามเช่นเดียวกับงานศิลปะในแขนงอื่นๆ ว่าเกมส่งผลต่อวิธีการที่เรามองโลกอย่างไร ทั้งวิธีที่เรากำลังปฎิบัติกับมันและวิธีการในการทำความเข้าใจในตัวของมันด้วย
สิ่งแรกที่ต้องกล่าวถึงคือเกมมาพร้อมกับจุดประสงค์ที่ชัดเจน ในตอนที่เราเล่นเกมสภาวะในจิตใจของเราจะเป็นตัวกระตุ้นให้เราพยายามทำบางอย่างให้ได้ผลลัพธ์ออกมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งหากเรามองในมุมนี้เกมก็เหมือนกับการเรียนรู้เพื่อเล่นเครื่องคนตรีจากการที่เราชื่นชอบฟังเพลงซึ่งมันเป็นผลพลอยได้ให้เราสามารถเล่นดนตรีง่ายขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว
อย่างที่สอง เกมเต็มไปด้วยโครงข่าวของเหตุและผลที่โยงใยกันอย่างซับซ้อน ซึ่งมันช่วยให้เรามองเห็นตรรกะที่ซ่อนอยู่ที่สามารถนำมาพิจารณาให้เราเห็นสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในโลกได้ ด้วยเรื่องราวต่างๆ สมองของเรามักจะมีการฉายภาพออกมาเป็นเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่มีเส้นใยเส้นเดียวโยงเข้าไปถึงตัวมัน แต่ในเกมสมองของเราจะสืบสาวเส้นใยนั้นและเริ่มถักทอมันก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ มันมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร
ท้ายที่สุด เกมมันถูกออกแบบมาให้เราพบกับสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิดและปัญหาที่มีวิธีการแก้ที่มักไม่ชัดเจน ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันเป็นสิ่งที่เราต้องพบเผชิญตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เรายากจะได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ผลกระทบที่ตามมาอย่างไม่ตั้งใจ รวมไปถึงผลลัพธ์ต่างๆ ที่ไม่คาดคิด เกมจึงเปลียนเสมือนสนามเด็กเล่นแบบย่อส่วนให้เราได้ค้นหาความซับซ้อนในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างปลอดภัย
ด้วยการที่เกมมีทั้งมุมในด้านดีด้านลบและมุมมองทางด้านศิลปะที่อยู่ภายในตัวของมัน ซึ่งหากเราเข้าใจและยอมรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างถ่องแท้ มันก็ไม่มีความจำเป็นอีกแล้วที่เราจะต้องมาโต้เถียงกันอีกต่อไปในอนาคตหลังจากนี้