The Game Awards เชื่อมั่นได้แค่ไหนกับการเป็นงานประกาศรางวัลของวงการเกมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายการประกาศผลเกมยอดเยี่ยมแห่งปีอย่าง The Game Awards ของ Geoff Keighley ได้กลายเป็นรายการประกาศรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปีไปแล้ว และมันยังเป็นที่จับตามองของเหล่านักเล่นเกมส่วนใหญ่อีกด้วยในการที่จะได้มานั่งลุ้นกันว่าเกมที่ชื่นชอบนั้นจะได้รางวัลอะไรติดไม้ติดมือกันบ้าง แต่อย่างไรก็ดีในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา The Game Awards ก็ยังคงถูกตั้งแง่จากเหล่านักเล่นเกมจำนวนหนึ่งว่างาน The Game Awards นั้นแทบจะหาความน่าเชื่อถือไม่ได้เลย

ที่มาของ The Game Awards

geoff keighley
คุณ Geoff Keighley

งาน The Game Awards นั้นแรกเริ่มเดิมทีมันใช้ชื่อว่า Spike Video Game Awards หรือเรียกสั้นๆ ว่า VGA โดยได้เริ่มมีการจัดตั้งตัวงานประกาศนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2003 โดยที่คุณ Geoff Keighley ได้มาทำหน้าที่ในการเป็นโปรดิวเซอร์ผู้ควบคุมรายการในช่วงเวลานั้น และได้มีการจัดติดต่อกันจนถึงปี 2013 ก่อนที่ทาง Spike TV ที่เป็นช่องทางการถ่ายทอดหลักของรายการจะทำการเปลี่ยนชื่อรายการไปเป็น VGX แทนที่เพื่อต้อนรับการมาถึงของเจเนอเรชันที่ 8 ของวงการเกมนั่นเอง

และในปีดังกล่าวมันก็ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงโทนของงานไปอย่างสิ้นเชิงด้วยการที่มันมีการนำเอาดาราและคนดังเข้ามาร่วมงานมากมาย และยังได้นำเอานักแสดงตลกอย่าง Joel McHale มาเป็นพิธีกรร่วมกับ Geoff Keighley อีกด้วย ซึ่งมันก็ทำให้เหล่าผู้ชมต่างผิดหวังในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของทาง Spike TV เป็นอย่างมาก ที่มันเปลี่ยนแปลงจากการประกาศเกียรติคุณให้กับเหล่านักพัฒนาเกมในอุตสาหกรรมมาเป็นงานในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัว

เช่นเดียวกับผู้ชม คุณ Geoff Keighley เองก็ไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก นั่นทำให้เขาได้ตัดสินในที่จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับงาน VGX อีกต่อไปแล้ว โดยที่สิทธิ์ของตัวงานนั้นก็ยังคงเป็นของทาง Spike TV อยู่เช่นเดิมจนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2014 ทาง Spike TV จึงได้ทำการตัดสินใจในการยุติรายการประกาศผลรางวัล VGX ลงอย่างถาวร

ในช่วงเวลาหลังจากนั้นคุณ Geoff Keighley ได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตคอนโซลหลายรายทั้ง Sony, Microsoft, Nintendo และผู้ประกอบการเจ้าอื่นๆ รวมไปถึงเหล่าผู้ผลิตเกมหลายราย ในการที่จะทำให้เขาได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนอีกครั้งในการนำมาสร้างงานประกาศรางวัลที่เขาใฝ่ฝันภายใต้ชื่อใหม่ซึ่งก็คือ The Game Awards นั่นเอง

ที่มาของความน่ากังขา

โดยเป้าหมายของงาน The Game Awards นั้นทางคุณ Geoff Keighley ต้องการที่จะให้มันสามารถดึงดูดเหล่านักเล่นเกมและผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ได้อีกครั้ง แต่ก็ยังคงเปิดพื้นที่ให้กับเหล่าคนดังที่สนใจในวงการเกมให้เข้ามาร่วมงานด้วย แต่อย่างไรก็ดีมันก็เป็นการยากที่จะทำให้ผู้คนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามวงการเกมอย่างใกล้ชิดมาสนใจการประกาศผลรางวัลเกมเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมามันก็มีงานประกาศผลรางวัล Game Developers Choice Award อยู่แล้ว ที่เป็นการให้เหล่านักพัฒนาเกมมาร่วมโหวตและลงคะแนนให้กับยอดเยี่ยมในแต่ละปี

ครั้งหนึ่ง Geoff Keighley เคยถูกเกมเมอร์นำมาล้อเลียนกันอย่างเผ็ดมันถึงการที่เขาได้มีการสอดแทรกโฆษณาสินต้าต่างๆ ในรายการของเขามากมายอย่างที่ได้เห็นกันในภาพ

จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณ Geoff Keighley ได้ขอความร่วมมือกับเหล่าบรรดาผู้ผลิตเกมและนักพัฒนาด้วยการเปิดพื้นที่สำหรับการจัดแสดงตัวอย่างใหม่ๆ หรือการเปิดตัวเกมใหม่ภายในงาน The Game Awards อย่างที่เราได้ชมกันเป็นประจำกันทุกปีนั่นเอง

แต่อย่างไรเสีย ตลอดระยะเวลาที่งาน The Game Awards ได้มีการจัดมา มันก็ยังคงมีนักเล่นเกมอีกหลายคนที่ยังกังขากับมาตรฐานของตัวงานและการแบ่งสัดส่วนระหว่างการประกาศผลในแต่ละรางวัลและการจัดแสดงที่ไม่สมเหตุสมผลโดยยังมีความคาดหวังว่ามันจะเป็นประกาศเช่นเดียวกับ Academy Awards ของวงการภาพยนตร์ รวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตว่าในระยะหลัง ตัวงานก็เริ่มมีสปอนเซอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่อาจจะมายุ่งเกี่ยวกับการเสนอชื่อเกมที่จะเข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆ จนทำให้เกมที่หลายคนต่างคาดหวังว่ามันจะได้เข้าชิงในสาขานั้นๆ ไม่ถูกเอ่ยถึงภายในงานแม้แต่น้อยนั่นเอง

กระบวนการคัดเลือก

คุณ Geoff Keighley มีความสนิทสนมกับคุณ Hideo Kojima เป็นอย่างมากและให้การสนับสนุนมาโดยตลอดหลังจากที่คุณ Kojima ออกมาจาก Konami ซึ่งคุณ Kojima ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ The Game Awards อีกด้วย

แต่แท้จริงแล้วทาง The Game Awards ก็มีขั้นตอนและกระบวนการในการคัดเลือกเกมที่เป็นการเปิดเผยสู่สาธารณะ โดยการคัดเลือกเกมที่จะได้เข้าชิงในสาขาต่างๆ นั้นจะผ่านคณะกรรมการผู้ให้คำปรึกษาซึ่งเป็นตัวแทนจากทางฝั่งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Sony, Nintendo และ AMD รวมไปถึงผู้ผลิตเกมรายใหญ่ทั้ง Electronic Arts, Activision, Rockstar Games, Ubisoft, Valve, และ Warner Bros. Interactive Entertainment

คณะกรรมการที่ปรึกษาในปี 2019 ประกอบไปด้วย:

  • Rob Kotish,ประธานจาก Activision
  • Lisa Su, CEO จาก AMD
  • Laura Miele, Chief Studios Officer จาก EA
  • Phil Harrison, VP และ GM จาก Google Stadia
  • Hideo Kojima, ผู้ก่อตั้ง Kojima Productions
  • Phil Spencer, EVP จาก Microsoft
  • Doug Bowser, ประธานจาก Nintendo
  • Steven MA, SVP จาก Tencent
  • ตัวแทนจาก Rockstar Games
  • ตัวแทนจาก Sony Interactive Entertainment
  • Yves Guillemot, CEO จาก Ubisoft

ซึ่งกลุ่มคณะกรรมการชุดนี้จะทำการคัดสรรโดยการโหวต องค์กรสื่อที่มีความน่าเชื่อถือและมีอิทธิพลในวงการจำนวนหนึ่งเพื่อให้องค์กรเหล่านี้เข้ามาทำหน้าที่ในการโหวตเลือกเกมที่จะได้เข้าชิงในสาขาต่างๆ นั่นเอง ซึ่งคณะกรรมการผู้ให้คำปรึกษาจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นในกระบวนการคัดเลือกเกมหลังที่จะได้เข้าชิงแต่อย่างใด ซึ่งสื่อในแต่ละเจ้าก็จะมีได้รับสิทธิ์ในการเสนอชื่อตามความถนัดที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นรางวัลในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ esports ก็จะได้รับการเลือกสรรโดยเหล่าสื่อที่คร่ำหวอดจากวงการ esports นั่นเอง ซึ่งในปี 2019 นี้มีสื่อต่างๆ จากทั่วโลกกว่า 80 เจ้าที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว

การตัดสิน

คะแนนจากเหล่าคณะกรรมการสื่อ 90 เปอร์เซ็นต์และคณะผลโหวตจากบุคคลทั่วไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการตัดสินว่าเกมใดจะได้เป็นผู้ชนะในรายการต่างๆ นั้นจะมีการตัดสินโดยแบ่งเป็นคะแนนจากเหล่าคณะกรรมการสื่อ 90 เปอร์เซ็นต์และคณะผลโหวตจากบุคคลทั่วไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถทำการโหวตได้ทุก 24 ชั่วโมงผ่านทางหน้าเว็บไซต์ TheGameAwards.com หรือผ่านทาง Google Search Voting รวมไปถึงผ่านทาง Twitter DM และ Discord Server ก็ได้ด้วย ซึ่งข้อสงสัยในส่วนอื่นๆ นั้นทางเว็บไซต์ทางการของ The Game Awards ก็ได้ทำการลงรายละเอียดไว้ใน FAQ ได้ค่อนข้างครบถ้วนเลยทีเดียว

ก็จะเห็นได้ว่าแม้งาน The Game Awards จะมียังคงห่างไกลจากการเป็น Academy Awards ของวงการเกมอย่างที่หลายคนปรามาสไว้ แต่แท้จริงแล้วมันก็มีเหตุผลในการที่ตัวงานนั้นจำเป็นที่จะต้องเลือกเดินในทางที่แตกต่างออกไป แต่อย่างไรก็ดีขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ในการเสนอชื่อและประกาศรางวัลนั้นมันก็เป็นสภาพสะท้อนของอุตสาหกรรมเกมได้เป็นอย่างดีว่าทิศทางในอนาคตของมันหลังจากนี้จะดำเนินไปอย่างไรต่อ และสำหรับแฟนเกมที่ไม่พอใจที่เกมอันเป็นที่รักไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง ก็อาจเป็นไปได้ว่าเกมเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่ทิศทางที่วงการกำลังเดินไปนั่นเอง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

Share this article
0
Share
0 Share
0 Tweet
0 Share
0 Share
Shareable URL
0
Share