ตลอดหลายสิบปี สื่อประสมที่ถูกเรียกว่า “วิดีโอเกม” ได้ถูกเข้ารวบรวมเข้ากับวัฒนธรรม Pop Culture และถูกหลอมละลายเข้ากับชีวิตประจำวันของมนุษย์ในยุคปัจจุบันอย่างแนบเนียน ไม่ว่าคุณจะหันไปทางไหน ใน 10 คนอย่างน้อยต้องมีประมาณ 5 คนที่กำลังนั่งเล่นเกม ไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มอะไรก็ตาม ตั้งแต่มือถือรุ่นล่างยัน PC ระดับ Rig ขุดเหมือง Bitcoin
นับตั้งแต่วิดีโอเกมถือกำเนิดขึ้นมา เราก็ได้เห็นเกมหลากหลายแนว หลากหลายเรื่องราว ต่อยอดเป็นทอดๆ กันไป เมื่อเกมเกมหนึ่งมีกระแสตอบรับที่ดี เริ่มมี Fan Base และทีมพัฒนายังเตะปี๊บกระเด็นได้ ก็ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่า “ภาคต่อ” ถือกำเนิดขึ้นมา
แต่กระนั้น การจะทำอะไรให้ซ้ำเดิมก็ใช่ที่ เพราะงั้นผู้พัฒนาจึงต้องเพิ่มความน่าสนใจให้กับเกมภาคต่อ ไม่ว่าจะกับฐานแฟนดั้งเดิมก็ดี หรือคนหน้าใหม่ที่ยังไม่รู้จักเกมภาคที่แล้วของตัวเองก็ดี ด้วยการปรับเติมเสริมแต่งรายละเอียดของเกมภาคต่อให้ดึงดูดความสนใจจากคนภายนอกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพ การเล่าเรื่อง ระบบเกม ฯลฯ บ้างก็เปลี่ยนให้กลายเป็นคนละเกมไปเลยก็มี
มันจึงเกิดเป็น “การทดลอง”
มันจึงเกิดเป็น “การทดลอง” ของผู้พัฒนา ว่าในเกมภาคต่อของพวกเขาควรจะใส่อะไร ควรจะตัดอะไร และควรจะเปลี่ยนอะไรให้แฟรนไชส์ของตัวเองดูน่าสนใจมากขึ้น และดึงดูดคนได้มากขึ้นนั่นเอง
ผมจะยกตัวอย่าง Case Study มาอันนึง นั่นคือแฟรนไชส์ Final Fantasy
Final Fantasy นั้นมีคอนเซปต์เรียบง่ายคือ “การเปลี่ยนแปลง” ที่แต่ละภาคต้องไม่ซ้ำกับภาคก่อนหน้า ตัวเกมทุกภาคจะมีเนื้อเรื่องเป็นเอกเทศจากกัน แต่จะมีกิมมิกเชื่อมโยงให้รู้ว่า นี่คือเกมในซีรีส์ Final Fantasy อย่างเช่นนกสีเหลืองตัวเขื่องที่ชื่อ “Chocobo” ที่ไม่ว่าธีมของเกมจะเปลี่ยนไปในแนวทางไหนก็ตาม นก Chocobo จะต้องมีบทบาทเป็นสัตว์พาหนะตลอด
เนื่องจากในแต่ละปีจะต้องมีภาคใหม่ออกมาอย่างน้อย 1 ภาค ดังนั้นโจทย์ที่ยากที่สุดที Sqaure Enix ต้องตีให้แตกคือ ทำยังไงให้คนเล่นรู้สึกแปลกใหม่กับมัน
อย่างที่เราได้เห็นกันในภาค 15 ที่ตัวเกมถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นแนว Action / Open World จากเดิมที่เป็นแนว Turn-based ซึ่งทำให้เราพอจะเข้าใจหลายๆ อย่างว่า เกมแฟรนไชส์นึงย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสอดรับกับฐานลูกค้าหน้าใหม่ๆ ในอนาคตให้มากขึ้น เพราะเกมเมอร์รุ่นใหม่ๆ มักจะมองเกมที่ย่อยง่ายๆ แบบหยิบขึ้นมาแล้วเล่นได้เลยไม่ต้องศึกษาอะไรมากมาย แทนที่จะมานั่งคิดว่าเราควรเอาตัวจ๊อบไหนลง ควรให้ตัวไหนถืออาวุธอะไร ใช้เวทย์อะไร สู้กับบอสตัวนี้ต้องมี Strategy ยังไงมากกว่า
หรือถ้ามองให้กว้างขึ้นก็คงเป็นเกม Spin-Offs แต่ละภาคที่มีแนวทางการเล่นแทบจะไม่ซ้ำกันเลย อย่างระบบสุ่มการ์ดใน Crisis Core : FF7 หรือกลายเป็นเกมวางแผน Turn-Based แบบ Final Fantasy Tactics ก็มี หรือถ้าให้สุดโต่งไปเลยก็เป็นเกมแนวกดตามจังหวะเพลงอย่าง Theathrythm Final Fantasy เขาก็เอา ซึ่งจากการลองผิดลองถูกมาหลายครั้งหลายครา ดูเหมือนว่า Square Enix จะมีไอเดียใหม่ๆ ยัดใส่เข้าไปในแฟรนไชส์ลูกรักของตัวเองได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และทิศทางของแฟรนไชส์จะไปในทางไหนก็สามารถควบคุมได้อย่างไม่มีปัญหาเลย
ว่าแล้ว ก็มาลองมองเกมใหม่ๆ ที่กำลังจะเปิดตัว อย่าง Battlefield V หรือ Call of Duty : Black Ops IIII ดู
สองแฟรนไชส์นี้นับเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด ตั้งแต่แนวทางของเกมยัน Fanbase ที่มักจะเกทับบลัฟกันสีข้างแหกทุกครั้งที่อีกฝั่งออกภาคใหม่มา แต่ถ้าลองมองลงไปลึกๆ แล้วนั้น
ผมกลับมองว่ามันกำลังปรับตัวเข้าหากันคนละครึ่งทางมากกว่า
Battlefield นับตั้งแต่ภาค Bad Company มา ตัวเกมถูก Simplified ให้เล่นง่ายขึ้นมากกว่าภาค 2 / 2142 จนถึงภาค 1 ที่กลายเป็นเกมสำหรับ Casual Gamer จริงๆ คือต่อให้คุณเล่น Call of Duty มาตลอดชีวิตแล้วมาลองจับก็เล่นได้ไม่ลำบาก สิ่งที่ตัด Battlefield ขาดจาก Call of Duty ตอนนี้เท่าที่เห็นก็คงจะเป็นขนาดของฉาก ยานพาหนะ และไม่มีระบบ Killstreaks เท่านั้น
ในขณะเดียวกัน Call of Duty เองก็มีการปรับเปลี่ยนตัวเองจากเกมที่เน้นเนื้อเรื่องระดับ Hollywood ระเบิดภูเขาเผากระท่อม อัด Cinematic Moments ยาวๆ กลายมาเป็นเกมที่อิงธุรกิจโมเดล Game as a Service โดยมุ่งเน้นไปที่โหมด Multiplayer และโหมดซอมบี้เป็นหลัก และตัดโหมดเนื้อเรื่องอันเป็นจุดขายหลักของแฟรนไชส์มาตลอดทิ้ง อันเป็นการประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า หลังจากนี้ Call of Duty จะเข้าสู่เส้นทางใหม่ และอยากให้แฟนๆ ลืมตัวตนเดิมที่เน้นหากินกับชื่อแฟรนไชส์แล้วยัดเกมแบบปีละภาคๆ ไปเสีย
ซึ่งการลองผิดลองถูกกับเกมภาคต่อของตัวเองนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่มันก็มีความเสี่ยงอยู่ว่าเสียงตอบรับที่ได้อาจจะไม่ไปในทางที่หวังไว้นัก เพราะมนุษย์เรามักจะเคยชินกับอะไรซ้ำเดิมครับ คือถ้าของเดิมที่ออกมามันดี มันถูกต้องอยู่แล้ว การไปเปลี่ยนมันอาจจะไปทริกเกอร์หรือกระตุ้นต่อมติ่งใครสักคนที่ยังคงชื่นชอบกับสิ่งเดิมๆ อยู่ก็เป็นได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นการเปิดประตูไปสู่สิ่งใหม่ๆ แฟนคลับคนใหม่ ฐานลูกค้าใหม่ๆ ได้เช่นกัน คือถ้าพิจารณาแล้วผลลัพธ์ที่ได้มันคุ้มที่จะเสียง ก็ควรจะทำนะครับ
แต่ไม่ว่าผลที่ออกมาของการทดลองสิ่งใหม่ๆ กับเกมภาคต่อในแฟรนไชส์ตัวเองนั้นจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นตัวบ่งชี้ชั้นดี ว่าไม่ว่าแฟรนไชส์คุณจะอยู่มานานแค่ไหนก็ตาม การหากินกับสูตรสำเร็จเดิมๆ จากในอดีตมักไม่ใช่เรื่องดี
เปรียบได้กับร้านข้าวหมูแดง ที่ขายแต่ข้าวหมูแดงสูตรเดิมๆ มาตลอด ในอดีตมันอาจจะขายดี แต่สูตรในตอนนั้นอาจจะไม่ถูกปากคนรุ่นใหม่ๆ ก็ได้ครับ เพราะแน่นอนว่าเวลาผ่านไป มันก็มีร้านข้าวหมูแดงเจ้าใหม่ๆ ผุดขึ้นมา แล้วรสชาติที่ร้านเขาทำก็อาจจะอร่อยกว่า ดังนั้นการปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับยุคสมัยย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่า อย่างเช่นการเพิ่มหมูกรอบ หรือใส่ส่วนผสมใหม่ๆ ลงไปในน้ำราดก็เป็นตัวเลือกที่ดี
ว่าแล้วก็หิว ขอตัวออกไปหาอะไรกินแก้หิวก่อนดีกว่า สวัสดีครับ